อ.ธรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมทะเลไทย เผยข้อมูลสำรวจไมโครพลาสติกในแม่น้ำและทะเล พบข้อมูลยืนยัน ไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่ทุกที่ ย้ำตัวการคือขยะถุงพลาสติกและกล่องใส่อาหาร วอนลดการใช้หวังช่วยสิ่งแวดล้อมทะเล
มลพิษไมโครพลาสติกเป็นที่รับรู้กันในวงกว้างว่าเป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สาหัสที่สุด โดยงานวิจัยที่ผ่านมาหลายชิ้นทั่วโลก เผยว่าไมโครพลาสติกได้ปนเปื้อนไปในสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่บนชั้นบรรยากาศไปจนถึงใต้ทะเลลึก ตลอดจนแทรกซึมเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารไปในทุกระดับ อย่างไรก็ตามงานวิจัยสำรวจไมโครพลาสติกล่าสุดโดย คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เผยให้เห็นสถานการณ์ล่าสุดของปัญหาไมโครพลาสติกปนเปื้อนในทะเลไทย ณ ขณะนี้
สถานการณ์ไมโครพลาสติกทะเลไทย
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้นำทีมวิจัย เปิดเผยว่า ไมโครพลาสติกได้ปนเปื้อนตลอดทั้งทะเลไทย ตั้งแต่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ไปจนจรดกลางทะเลอ่าวไทย
โดยจากผลการศึกษา อ.ธรณ์ เผยว่า อัตราส่วนการปนเปื้อนไมโครพลาสติกพบในแม่น้ำมากที่สุด โดยมีสัดส่วนไมโครพลาสติกสูงถึง 9 ชิ้น ต่อน้ำปริมาตร 1 ลูกบาศ์กเมตร คิดเป็น 20 เท่า ของปริมาณไมโครพลาสติกที่พบปนเปื้อนในกลางทะเลอ่าวไทย และสามารถสรุปผลการศึกษาได้เป็นข้อๆ ดังนี้
ผลกระทบและแนวทางแก้ไขปัญหามลพิษไมโครพลาสติก
จากสถานการณ์การปนเปื้อนไมโครพลาสติกที่เข้าขั้นน่ากังวลในทะเลไทย อ.ธรณ์ เปิดเผยว่า การปนเปื้อนไมโครพลาสติกอาจนำไปสู่ผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพของทั้งระบบนิเวศทางทะเล และสุขภาพของผู้บริโภคอาหารทะเล
“ไมโครพลาสติกเหล่านี้เป็นสิ่งแปลกปลอมในธรรมชาติ และในตัวมันเองยังสะสมไปด้วยสารพิษจากปิโตรเคมี และสารโลหะหนักหลายประเภท ดังนั้นเมื่อไมโครพลาสติกเหล่านี้ปนเปื้อนเข้าสู่สัตว์น้ำ ไม่เพียงแต่เศษพลาสติกจะพบคาอยู่ในกระเพาะ แต่สารพิษในไมโครพลาสติกยังสามารถแทรกซึมเข้าสู่เนื้อเยื่อ และสะสมอยู่ในร่างกาย” อ.ธรณ์ กล่าว
“ด้วยเหตุนี้ เมื่อเราทานสัตว์น้ำที่มีการปนเปื้อนสารพิษจากไมโครพลาสติกเข้าไป เราก็ย่อมได้รับสารพิษเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายด้วย”
อ.ธรณ์ กล่าวเสริมว่า จากการสำรวจไมโครพลาสติก เห็นได้ชัดว่าขยะประเภทถุงพลาสติกและกล่องใส่อาหาร เป็นแหล่งที่มาที่ใหญ่ที่สุดของบรรดาไมโครพลาสติกในทะเล ดังนั้นเราจึงควรลดและเลี่ยงการก่อขยะเหล่านี้ โดยการใช้ซ้ำถุงพลาสติกให้มากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการทิ้งภุงพลาสติกซึ่งไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ และทำให้เกิดไมโครพลาสติกประเภท PE ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม
“PP เป็นอีกพลาสติกที่พบทุกที่ในทะเลไทย ตัวอย่างที่รีไซเคิลไม่ได้ เช่น กล่องใส่อาหาร ซึ่งช่วงหลังเพิ่มขึ้นมากๆ จากเหตุการณ์เดลิเวอรี่ในช่วงโควิด ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน การใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนคือคำตอบชัดสุด เพราะจะให้ถือปิ่นโตไปทุกที่ก็คงทำได้บางคน ขณะที่สั่งข้าวมันไก่จากร้านดัง เขาคงไม่ใส่ปิ่นโตมาส่งให้ทางออกต้องไปที่ต้นตอ จึงขอสรรเสริญร้านอาหารต่างๆ ที่พยายามใช้กล่องกระดาษแทนกล่องพลาสติก” อ.ธรณ์ กล่าว
“ความไม่สะดวกนิดหน่อยในวันนี้ แลกกับการลดความเสี่ยงของสุขภาพเราและลูกหลานในวันหน้า นับว่าสุดคุ้ม”