svasdssvasds

แกรนด์แคนยอน เตือนสายคล้องกุญแจ โยนเหรียญแสดงความรัก อันตรายต่อแร้ง

แกรนด์แคนยอน เตือนสายคล้องกุญแจ โยนเหรียญแสดงความรัก อันตรายต่อแร้ง

เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแกรนด์แคนยอน เตือนคนชอบคล้องกุญแจแสดงความรัก หรือชอบโยนเหรียญลงหุบเขา ห้ามทำ เพราะกระทบต่อสัตว์หายาก หลังพบแร้งตัวหนึ่งกลืนเหรียญเข้าไป

การแสดงความรักของมนุษย์มีหลายวิธีมาก ๆ แต่บางวิธีเราเลือกที่จะให้ธรรมชาติช่วยรองรับ เช่นที่แกรนด์แคนยอน เจ้าหน้าที่จากแกรนด์แคนยอน (Grand Canyon National Park) ในสหรัฐอเมริกา โพสต์ภาพพวงกุญแจที่ตัดออกมาจากรั้วบริเวณจุดชมวิวจุดหนึ่งในแกรนด์แคนยอน พร้อมอธิบายว่า

ภาพเจ้าหน้าที่ตัดพวงกุญแจที่ถูกคล้องแสดงความรักออกมา Cr. D. Pawlak / Grand Canyon National Park กุญแจเหล่านี้ถูกทิ้งไว้บนรั้วแห่งความรัก ผู้คนคิดว่าการล็อกกุญแจไว้ที่จุดชมวิว เป็นการแสดงความรักต่ออีกคนหนึ่ง แต่ที่จริง ไม่ใช่เลย การทิ้งกุญแจล็อกไว้แบบนี้ถือว่าเป็นการทิ้งขยะและเป็นเหมือนการเขียนกราฟฟิตี้ลงบนกำแพง

เท่านั้นไม่พอ ผู้คนมักโยนกุญแจเหล่านี้ บ้างก็โยนเหรียญลงไปในหุบเขาด้วย ซึ่งการทำแบบนี้เป็นอันตรายต่อสัตว์หายากและสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในแกรนด์แคนยอน หนึ่งในนั้นคือแร้ง

พวงกุญแจที่ถูกคล้องไว้ ณ จุดชมวิวหนึ่งในแกรนด์แคนยอน Cr. D. Pawlak / Grand Canyon National Park

แร้งเป็นสัตว์ที่อยากรู้อยากเห็น และเหมือนกับเด็กเล็ก ๆ ที่ชอบสำรวจสิ่งแปลกใหม่เสมอ แร้งชอบของแวววาว เมื่อพวกมันเห็นเหรียญ กระดาษห่อ หรือโลหะมันเงา เช่น กุญแจและแม่กุญแจที่ถูกโยนลงไปในหุบเขา มันก็จะกินเข้าไป แน่นอน กระเพาะของแร้งไม่ได้มีไว้สำหรับย่อยโลหะ

เจ้าหน้าที่ส่งแร้งตัวหนึ่งไปเอกซเรย์ ซึ่งจะเห็นได้ว่าในท้องของพวกมันมีเหรียญติดอยู่ตรงทางเดินอาหาร นกตัวนี้ต้องผ่าตัดเพื่อนำวัตถุดังกล่าวออก หากแร้งกินวัตถุเหล่านี้มากเกินไปก็ตายได้

ภาพเอกซเรย์ของแร้งที่กินเหรียญเข้าไปในแกรนด์แคนยอน Cr. D. Pawlak / Grand Canyon National Park ในแกรนด์แคนยอน มีสัตว์หลายชนิดอาศัยอยู่ และล้วนเป็นสัตว์หายากและอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อม ครั้งหนึ่งในปี 1982 สหรัฐอเมริกาเกิดวิกฤตนกแร้งขาดแคลน หลงเหลือนกแร้งเพียง 22 ตัว จนหลายปีต่อมามีการเพาะพันธุ์และกระบวนการคุ้มครองที่แน่นหนาขึ้น ทำให้นกกลับมาทำรังอีกครั้ง จนในปัจจุบันมีแร้งมากกว่า 500 ตัว บินไปมาอย่างอิสระในรัฐแอริโซนา ยูทาห์ แคลิฟอร์เนีย และบาฮาเม็กซิโก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความสำคัญของนกแร้งต่อสิ่งแวดล้อม

จากบทความเรื่อง ปฏิบัติการพาพญาแร้งที่สูญพันธุ์จากธรรมชาติกลับคืนป่าเมืองไทย โดย น.สพ.ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว หัวหน้าหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ และฝ่ายงานวิจัยนกนักล่าและอายุรศาสตร์การอนุรักษ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า

นกแร้ง เป็นเหมือนพนักงานกำจัดซากสัตว์ และเป็นสัตว์นักควบคุมโรคระบาด มีงานวิจัยที่แอฟริกาได้ทดลองเอาเชื้อแบคทีเรียก่อโรคต่าง ๆ ไปใส่ในซากวัวให้แร้งกิน แล้วนำมูลแร้งมาเพาะเชื้อ ผลปรากฏว่า ไม่เจอเชื้อก่อโรคเลย เพราะกระเพาะอาหารของแร้งมีความเป็นกรดสูงมาก ฆ่าเชื้อได้หมด

นกแร้งแคลิฟอร์เนีย Cr. Grand Canyon National Park ในทางกลับกัน หากซากสัตว์ตาย ไม่มีแร้งคอยกำจัดซาก ซากเหล่านั้นจะเป็นแหล่งเพาะเชื้อชั้นดี สามารถปนเปื้อนสู่ดิน น้ำและอากาศได้ และอาจก่อโรคในสัตว์ป่าที่เป็นพาหะได้ด้วย ท้ายที่สุดเชื้อนั้นก็อาจจะมาถึงมนุษย์ในสักวันหนึ่ง

ที่มาข้อมูล

Grand Canyon National Park 

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related