ฉลามแท้จริงแล้ว มีคุณยิ่งต่อทั้งโลกธรรมชาติและมนุษย์ ทั้งช่วยรักษาสมดุลให้ระบบนิเวศในทะเล และยังเป็นต้นแบบให้มนุษย์ออกแบบต่อยอดนวัตกรรม ทำให้เทคโนโลยีก้าวหน้า
ฉลามในสายตาของคนทั่วไป อาจมองกันว่าเป็นสัตว์อันตราย ดุร้าย และเป็นมัจจุราจกินคนที่อาศัยอยู่ในท้องทะเล อย่างที่ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์หลายๆ เรื่องได้วาดภาพไว้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ฉลามไม่ได้เป็นภัยร้ายต่อมนุษย์ขนาดนั้น มิหนำซ้ำการที่ทะเลยังมีฉลาม ยังเป็นผลดีต่อทั้งระบบนิเวศทะเลและต่อมนุษย์
ดังนั้น เรามาดูกันดีกว่าว่าฉลามมีประโยชน์ต่อทั้งโลกและมนุษย์เราอย่างไรบ้าง
1. ฉลามช่วยรักษาระบบนิเวศในทะเลให้มีความสมดุล
ฉลามนั้นมีวิวัฒนาการให้อาศัยอยู่คู่กับทะเลมามากกว่า 400 ล้านปี ดังนั้น ฉลามจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อระบบนิเวศในทะเล โดยในธรรมชาติ ฉลามจะมีบทบาทเป็นผู้ล่าอันดับสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร (apex predator) ซึ่งมีหน้าที่คอยควบคุมประชากรสัตว์อื่นๆ ในระบบนิเวศไม่ให้มีจำนวนมากเกินไป จนกระทบกับความสมดุลของระบบนิเวศ
หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของบทบาทฉลาม ในฐานะผู้รักษาสมดุลของท้องทะเล เกิดขึ้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออกของสหรัฐอเมริกา เมื่อการจับปลามากเกินไปทำให้ประชากรฉลามท้องถิ่นลดลงกว่า 99% การหายไปของฉลามทำให้เหยื่อของมันอย่าง ปลากระเบน cow-nosed rays มีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน จนส่งผลกระทบสืบเนื่อง ทำให้อุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงหอยเชลล์ในพื้นที่ถึงกับแทบล่มสลาย
2. ฉลามเป็นผู้ปกป้องระบบนิเวศแนวปะการังและดงหญ้าทะเล
บทบาทผู้รักษาสมดุลแห่งท้องทะเลของฉลาม ยังมีส่วนในการปกป้องระบบนิเวศแนวปะการังและดงหญ้าทะเลให้มีความสมบูรณ์ โดยตัวอย่างจากออสเตรเลีย ชี้ให้เห็นว่า การหายไปของฉลามจากแนวปะการัง ทำให้ผู้ล่าอันดับสองอย่าง ปลากะพง เพิ่มจำนวน จนทำให้ปริมาณปลากินพืชที่เป็นเหยื่อของปลากะพงลดจำนวนลง
ปริมาณปลากินพืชที่ลดลงทำให้ระบบนิเวศแนวปะการังขาดผู้ที่คอยมากินตะไคร่น้ำ จนทำให้เกิดตะไคร่น้ำปกคลุมแนวปะการังจนเสื่อมโทรมในที่สุด
ฉลามยังช่วยรักษาสมดุลให้กับระบบนิเวศหญ้าทะเล โดยพบว่าการมีอยู่ของฉลาม ทำให้ทุ่งหญ้าทะเลแถบชายฝั่งทางตะวันตกของออสเตรเลียสามารถฟื้นตัวได้ดีขึ้นจากผลกระทบคลื่นความร้อนในทะเล เพราะฉลามจะช่วยไล่ไม่ให้สัตว์กินหญ้าทะเลอย่างเต่า หรือพะยูน มากินหญ้าทะเลมากจนเกินไป
3. ฉลามช่วยให้โลกเย็นลง
เนื่องด้วยหน้าที่สำคัญทางนิเวศของฉลามที่ทำให้ระบบนิเวศในทะเลสมบูรณ์ขึ้น เมื่อระบบนิเวศในทะเลเหล่านี้ เช่น แนวปะการัง และดงหญ้าทะเล มีความสมบูรณ์ ก็ยิ่งมีส่วนช่วยให้ระบบนิเวศเหล่านี้สามารถดูดซับคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศได้มากขึ้น
ผลการศึกษาหลายชิ้น เผยตรงกันว่า แม้ระบบนิเวศหญ้าทะเลจะครอบคลุมพื้นที่เพียง 0.2% ของระบบนิเวศในมหาสมุทร แต่กลับสามารถดูดซับคาร์บอนได้ถึง 83,000 ตันคาร์บอนเทียบเท่า/ตารางเมตร ถือเป็นระบบนิเวศที่มีส่วนสำคัญในการช่วยโลกดูดซับคาร์บอน ช่วยทุเลาความรุนแรงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
4. ฉลามเป็นต้นแบบช่วยให้เราออกแบบนวัตกรรมใหม่ๆ
ฉลามถือว่าธรรมชาติออกแบบมาจนมีรูปร่างและโครงสร้างสุดล้ำ จนนักวิจัยและนักออกแบบนวัตกรรมใหม่ๆ สามารถถอดแบบโครงสร้างที่เป็นเอกลักษณ์ของฉลามที่มีรูปทรงลู่น้ำ และมีเกล็ดลำตัวที่มีลักษณะเป็นรูปตัว V ที่เสริมให้การเคลื่อนที่ของฉลามมีประสิทธิภาพอย่างมากตามหลักอากาศพลศาสตร์ (aerodynamic) กลายเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น กังหันลมที่สามารถหมุนใบพัดได้ดีขึ้น
5. ฉลามอาจเป็นทางออกในการสู้กับเชื้อโรคดื้อยา
เกล็ดลำตัวของฉลามนอกจากจะเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบนวัตกรรมด้านอากาศพลศาสตร์แล้ว นักวิจัยยังพบว่าผิวหนังของฉลามที่ปกคลุมด้วยเกล็ดแบบพิเศษรูปทรงตัว V ยังช่วยให้มันสะอาด ปราศจากตะไคร่และเพรียงเกาะตามผิวหนังด้วย ซึ่งนักวิจัยจากสหรัฐได้ค้นพบว่า ผิวหนังของมันยังสามารถช่วยต้านทานแบคทีเรียและเชื้อโรคต่างๆ ได้ด้วย ดังนั้นจึงได้มีการศึกษาวิจัยโดยเอาเกล็ดลำตัวของฉลามเป็นต้นแบบเพื่อพัฒนาพื้นผิวที่ไม่สะสมเชื้อโรค เป็นอีกหนึ่งความพยายามที่จะช่วยให้เราควบคุมการระบาดของเชื้อโรคดื้อยา (superbugs) ที่คร่าชีวิตคนไปเป็นจำนวนมากในแต่ละปี
ทั้งหมดนี้ จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่เราควรจะรักษ์ฉลามให้มากขึ้น งดทานซุปหูฉลาม และรักษาท้องทะเลให้สะอาด เพื่อช่วยให้ฉลาม ผู้มีความสำคัญยิ่งต่อระบบนิเวศทางทะเล อยู่รอดต่อไปตราบนานเท่านาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
14 ก.ค. วันรู้จักฉลาม Shark Awareness Day นักล่าที่ถูกล่าและใกล้สูญพันธุ์
รู้จัก ! "ปลานกแก้วหัวโหนก" ปลาที่ใหญ่ และหายากที่สุด ในทะเลไทย
ที่มาข้อมูล: Treehugger
ที่มาภาพ: shinalodon