เปิดปัญหาที่แก้ไม่ตกของ เขตบางซื่อ ชุมชนริมคลอง และการประปานครหลวง เมื่อการต้นไม้ริมคลองประปาที่ถูกปลูกผิดประเภทมานานจนส่งผลต่อระบบสูบน้ำประปา
คลองประปา ช่วงแยกประชาชื่น(โลตัส เตาปูน) ถึงสถานีสูบน้ำดิบบางซื่อ การประปานครหลวง(ชาวบ้านเรียกติดปากว่า โรงกรองน้ำ) กลายเป็นปัญหาเมื่อชาวบ้านร้องเรียนกับผู้สื่อข่าวว่า การประปานครหลวง ต้ดต้นไม้ริมคลองโดยที่ไม่มีความรู้ นอกจากจะส่งผลให้ร้อนไม่เกิดร่มเงาแล้ว ยังมีโอกาสที่ทำให้ต้นไม้ตายอีกด้วย
SPRiNG News ลงพื้นที่ ถนนริมคลองประปาฝั่งซ้าย พบเจ้าหน้าที่กำลังตัดต้นไม้พร้อมเก็บกิ่งก้านที่ถูกตัด โดยใช้รถกระบะที่ติดตราสัญญาลักษณ์ของ การประปานครหลวง และพบป้ายประกาศแจ้งตัดแต่งกิ่งไม้ ของการประปาฯ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน ที่ผ่านมา
จากการสอบถามชาวบ้านบริเวณดังกล่าว ระบุว่า การที่การประปาฯ ตัดต้นไม่ช่วงเวลานี้ ทำให้ผู้คนที่สัญจรไปมา ไม่มีร่มเงา รวมถึงข้อสงสัยถึงการตัดแต่งกิ่งที่ตัดจนไม่เหลือใบ ว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องหรือไม่ ?
อ่านเรื่องราวที่เกี่ขวข้อง
ต้นไม้ตัดมั่ว ๆ ไม่ได้ แต่ต้องมีความรู้
ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยัง รุกขกร บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่ง รุกขกร คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตัดแต่งต้นไม้ หรือภาษาชาวบ้านเรียก หมอต้นไม้ ระบุว่า ปกติแล้วการตัดแต่งต้นไม่จะต้องดูทั้งสายพันธุ์ ตาไม้ และส่วนอื่น ๆ ดังนั้น การลดความสูงต้องตัดอย่างไร การลิดกิ่งที่ขึ้นคู่กัน ต้องตัดกิ่งไหนออก ซึ่งต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการดูประกอบด้วย
"บางทีปัญหาการตัดต้นไม้ริมทางจนโกร๋น อาจเปิดจากหลายส่วนประกอบกัน ทั้งผู้สั่งงานที่ไม่เข้าใจหน้างาน สั่งให้ตัดต้นไม้ริมถนนทั้งเส้นภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง หรือ ความไม่เข้าใจของผู้ปฎิบัติงานหน้างานว่าต้นไม้แบบไหนควรตัดอย่างไร" รุกขกร เอกชนแห่งหนึ่ง ระบุ
สำหรับการปลูกต้นไม้ริมทางสาธารณะ ก็จะเป็นจะต้องดูสายพันธุ์ของต้นไม้เป็นหลักด้วย เพื่อไม่ให้รากชอนไชไปทำลายระบบสาธารณูปโภคอื่น ๆ ทั้งระบบประปาและไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานหลาย ๆ หน่วยเริ่มส่งเจ้าหน้าที่มาอบรมกับบริษัทรุกขกรที่เชี่ยวชาญเรื่องต้นไม้มากขึ้นแล้ว
ต้นตอปัญหาของการตัดต้นไม้ริมคลองประปา
ผู้สื่อข่าวสอบถามต่อไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่าง การประปานครหลวง พบว่า พื้นที่ดังกล่าวโดยเฉพาะถนนริมคลองประปา ช่วงแยกประชาชื่น(โลตัส เตาปูน) ถึงสถานีสูบน้ำดิบบางซื่อ เป็นความรับผิดชอบของการประปาฯ ซึ่งตามหลักแล้ว คลองสาธารณูปโภค น้ำดื่ม-กินของประชาชน ต้องมีระยะร่น ไม่มีอะไรอยู่ใกล้ตามที่กฎหมายกำหนด แต่เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีชุมชนอยู่ด้วย จึงมีต้นไม้ริมทางให้ร่มเงากับผู้สัญจรไปมาโดยที่ไม่มีหน่วยงานใดระบุว่าเป็นผู้ปลูกต้นไม้ที่เป็นปัญหาดังกล่าว
สำหรับปัญหาของต้นไม้ถนนริมคลองประปา ฝั่งซ้าย และขวา คือ ต้นไม้มีรากที่ชอนไชไปทำลายคันคลองจนแตก และทำให้ท่อระบายน้ำแตก ซึ่งยังไม่รวมถึงปัญหาใบไม้ที่ตกลงในคลองประปาแล้วไปค้างอยู่หน้าสถานีสูบน้ำ จนส่งผลต่อความเชื่อมันในการใช้น้ำประปาของชุมชน และกิ่งไม้ที่ตกลงมาใส่ประชาชนจนได้รับความเสียหาย
เมื่อการประปาฯ ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ ร้องขอไปยัง เขตบางซื่อ ว่าให้ช่วยเข้ามาดูแลต้นไม้ ทางเขตบางซื่อก็รับผิดชอบช่วงถนนใหญ่ถึงแค่ก่อนถึงช่วงที่เป็นปัญหาเท่านั้น ทำให้บริเวณดังกล่าวตกเป็นความรับผิดชอบของการประปาที่มีหน้าที่ผลิตน้ำให้ชุมชนมาตัดต้นไม้โดยปริยาย
จากรายงานพบว่า เมื่อ 2 ปีก่อน ต้นไม้ที่ไม่มีหน่วยงานไหนระบุว่าเป็นผู้ปลูก ตกลงมาใส่รถของประชาชนได้รับความเสียหาย แต่กลับกลายเป็นความรับผิดชอบของการประปาฯ ที่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย
พายุกำลังมา ไม่ทำอะไรก็ไม่ได้
จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ ระบุว่า อยากพัฒนาให้พื้นที่ริมคลองประปาเป็นจุดพักผ่อนหย่อนใจ มีเครื่องออกกำลังกายให้ชุมชน และต้องการนำต้นไม้ออก เพราะรากของต้นไม้ไปทำให้คันคลองประปาแตก ทำให้ท่อระบายน้ำแตก และเมื่อต้นไม้ปกคลุมหนา ก็บดบังไฟส่องสว่าง-มุมกล้องวงจรปิดของ กทม. อีกด้วย ซึ่งยังไม่รวมถึงหากพายุมาแล้วต้นไม้ที่ไม่ได้รับการดูแล อาจผุพังล้มขวางการจราจร หรือ โค้นล้มเกี่ยวสายไฟฟ้าแล้วทำให้ทั้งชุมชนมีปัญหาได้
สำหรับแผนการพัฒนาถนนริมคลองประปาฝั่งซ้ายและขวา เนื่องจากเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ ยังพบว่าในพื้นที่ยังมีเสียงคัดค้านอยู่จึงต้องชะลอการเสนอโครงการออกไป แต่สิ่งที่ชะลอไม่ได้คือการตัดแต่งต้นไม้ริมทางให้สูงไม่เกิน 5-7 เมตร และตัดกิ่งใหญ่ออกเพื่อจำกัดความเสียหายที่เกิดขึ้น หากต้นไม้ล้มเพราะลมพายุฤดูร้อนที่กำลังจะเข้ามา เนื่องจากถนนริมคลองประปาฝั่งซ้าย เป็นถนนที่มีทางเข้า-ออกหลักทางเดียว หากมีอะไรกีดขวางทางจราจรอาจส่งผลกระทบใหญ่ได้
ขณะเดียวกันการแก้ไขปัญหาต้นไม้ริมคลองประปา บางซื่อ นี้อาจต้องอาศัยกลไกทำประชามติที่นำ เขตบางซื่อ การประปานครหลวง และชุมชน มาหาทางออกร่วมกันต่อไป