Climate Tech ในสหรัฐฯ เจอสัญญาณไม่ดี ยกเลิกเงินสนับสนุนพลังงานสะอาด ทำให้ 16 โครงการมูลค่า 2.6 แสนล้านบาทถูกยกเลิก นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น หวั่นทิศทางนโยบายในอนาคต
นิตยสาร MIT Technology Review เปิดเผยว่า หลังผ่านช่วงไตรมาสแรกของปี 2025 บริษัท Climate Tech ในสหรัฐอเมริกา ยกเลิกโปรเจกต์สำคัญ ๆ ไปแล้ว 16 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.6 แสนล้านบาท
นี่เป็นผลต่อเนื่องจากนโยบายของรัฐบาลกลางที่ลดระดับความสำคัญของพลังงานสะอาด และหันไปสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงยกเลิกเงินสนับสนุนที่เป็นผลจากกฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อ ที่มีมาตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดี โจ ไบเดน
เจย์ เทอร์เนอร์ (Jay Turner) ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาสิ่งแวดล้อมจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซต (MIT) เผยว่า “ความไม่แน่นอนในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด ทำให้โครงการจำนวนมากถูกยกเลิก หรือถูกระงับไว้”
หากใครจำกันได้ ปี 2022 สหรัฐฯ ประกาศใช้กฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อ (The Inflation Reduction Act) มูลค่า 4.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีเป้าหมายเพื่อต่อสู้กับวิกฤตโลกรวนด้วยการสร้างแรงจูงใจทางการเงิน
โดยรัฐบาลผลักดันให้ผู้ประกอบการสหรัฐฯ นั้น ลด ละ เลิก ใช้พลังงานฟอสซิล แล้วจูงใจภาคธุรกิจกับประชาชนด้วยการมอบเครดิตภาษีให้แทน อาทิ มอบเครดิตภาษี 7,500 ดอลลาร์สหรัฐ ให้ชาวอเมริกันที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ผู้ที่ต้องการติดตั้งโซลาร์เซลล์จะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐถึง 30% เป็นต้น
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยของอดีตประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” ซึ่งถือเป็นยุคเฟื่องฟูของพลังงานสะอาด เกิดการลงทุนระดับเมกะโปรเจกต์หลายโครงการ แต่ในยุคสมัยของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ซึ่งต้องการจูงใจอเมริกาให้กลับไปใช้พลังงานฟอสซิล โปรเจกต์พลังงานสะอาดจึงเกิดความเสี่ยงทันที
บริษัทต่าง ๆ ประเมินความเสี่ยงแล้ว จึงตัดสินใจล้มเลิก หรือชะลอโครงการด้าน Climate Tech เอาไว้ก่อน และในไตรมาสแรกของปี 2025 มีการล้มเลิกไปแล้ว 16 โปรเจกต์ คิดเป็นมูลค่ากว่า 7.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.6 แสนล้านบาท
มีหลายเคสที่ได้รับสัญญาเงินกู้จากกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ แล้วถูกยกเลิกแล้ว อาทิ โรงงานผลิตวัสดุป้องกันไฟไหม้ในแบตเตอรี่ในรัฐจอร์เจียของบริษัท Aspen Aerogels มูลค่า 670 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โรงงานผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนของบริษัท Bosch มูลค่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือโรงงานผลิตแบตเตอรี่ของบริษัท Freyr Battery มูลค่า 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น
และถ้าย้อนไปตั้งแต่มีการประกาศใช้กฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อ ในปี 2022 E2 กลุ่มนักลงทุน นักธุรกิจ ที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด รายงานว่า มีโครงการด้าน Climate Tech ถูกยกเลิกไปแล้ว 34 โครงการ (ระดับเมกะโปรเจกต์) มีคนตกงานทันที 15,000 ตำแหน่ง คิดเป็นมูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
ตั้งแต่วันแรกที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มแผนโจมตีกฎหมาย แผนงาน หรือมาตรการด้านสภาพอากาศ และพลังงานสะอาดทันที โดย Sabin Center For Climate Change Law แห่งมหาวิทยาลัยโคลอมเบีย เผยว่า ฝ่ายบริหารยกเลิกไปแล้วกว่า 50 โครงการ
โดยมีเป้าหมายใหญ่ที่สุดคือ กฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อ หรือ The Inflation Reduction Act ซึ่งเห็นชัดแล้วว่าฝ่ายบริหารของทรัมป์ระงับการให้เงินทุนทันที ทิศทาง ทัศนคติ หรือนโยบายของทรัมป์ จึงสร้างความไม่แน่นอนต่ออุตสาหกรรมพลังงานสะอาดอย่างใหญ่หลวง
สุดท้ายนี้ ผู้เชี่ยวชาญในสหรัฐอเมริกาชวนจับตาว่า รัฐบาลสมัยที่สองของโดนัลด์ ทรัมป์จะถอนเงินกองนี้ไปมากแค่ไหน แต่โจทย์ยากพอสมควรเนื่องจากเงินก้อนนี้ได้รับการอนุมัติผ่านกลไกรัฐสภา ดังนั้น อาจมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่ที่เสียหายกว่านั้นคือ นักลงทุนเกิดความลังเล และมีผลกระทบต่อตลาดอย่างชัดเจน
ที่มา: MIT Techmology Review, E2
ข่าวที่เกี่ยวข้อง