SHORT CUT
พามาส่องเทรนด์ลงทุน “พลังงานหมุนเวียน” ในไทยบูมไม่หยุด ต่างชาติตบเท้าลงทุน ล่าสุดเอสพี กรุ๊ป เข้าซื้อกิจการพลังงานหมุนเวียนครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมตอบสนองแผนพัฒนาพลังงานทางเลือกของรัฐ
นาทีนี้ต้องยอมรับว่าอีกหนึ่งธุรกิจที่กำลังมาแรงมากในไทยก็คือ “พลังงานหมุนเวียน” เพราะทั่วโลกกำลังเบนเข็มมุ่งสู่พลังงานสะอาดกันหมด จึงไม่แปลกที่จะมีการลงทุนใหม่ๆเกิดขึ้นในไทย และเชื่อว่าในอนาคตจะขยายตัวต่อเนื่อง หากโฟกัสเฉพาะสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศในภูมิภาคอาเซียนถือว่าช่วงหลังมานี้สนใจลงทุนในไทยมากขึ้น ข้อมูลจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 เปิดเผยว่า ช่วง 10 เดือนของปี 2567 (มกราคม-ตุลาคม) ระบุว่า สิงคโปร์ เข้ามาลงทุนในไทยเป็นอันดับที่2 รองจากญี่ปุ่น
ทั้งนี้มีการลงทุนใหม่ 110 ราย คิดเป็นร้อยละ 14 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 14,779 ล้านบาท หนึ่งในธุรกิจที่สิงคโปร์สนใจลงทุนสูงสุด คือ ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ อย่างเช่นล่าสุด เอสพี กรุ๊ป (เอสพี) กลุ่มสาธารณูปโภคชั้นนำและผู้ให้บริการโซลูชันพลังงานที่ยั่งยืนในสิงคโปร์และเอเชียแปซิฟิก ประกาศเข้าซื้อกิจการพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยที่มีกำลังการผลิตรวม 13 เมกะวัตต์พีค (MWp) ซึ่งถือเป็นการควบรวมกิจการในประเทศไทยครั้งแรก การควบรวมครั้งนี้นับเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียนของบริษัทฯ และตอกย้ำความมุ่งมั่นในการสนับสนุนเป้าหมายด้านพลังงานหมุนเวียนและความยั่งยืนของประเทศไทย
โครงการพลังงานแสงอาทิตย์นี้คาดว่าจะสามารถผลิตพลังงานสะอาดได้ประมาณ 17,600 เมกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ราว 8,625 ตันต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับการนำรถยนต์ออกจากท้องถนนถึง 1,875 คัน1 สำหรับการเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ประกอบด้วยโซลาร์ฟาร์มภาคพื้นดินรวม 3 แห่ง กำลังการผลิตรวม 9 เมกะวัตต์พีค จากบริษัทโซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีประสบการณ์ในการผลิตอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์กว่า 35 ปี นอกจากนี้ เอสพี กรุ๊ป ยังได้เข้าซื้อโครงการโซลาร์รูฟท็อปอีก 2 แห่ง กำลังการผลิตรวม 4 เมกะวัตต์พีค จากบริษัท เดอะ เมกะวัตต์ จำกัด
โซลาร์ฟาร์มภาคพื้นดินทั้ง 3 แห่งตั้งอยู่ในจังหวัดอ่างทองและประจวบคีรีขันธ์ โดยจะจ่ายพลังงานสะอาดเข้าสู่ระบบไฟฟ้าโดยตรงภายใต้มาตรการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของประเทศไทย ซึ่งเป็นมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานชีวภาพในระดับอุตสาหกรรม โครงการดังกล่าวคาดว่าจะสามารถผลิตพลังงานสะอาดได้ 12,500 เมกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึง 6,075 ตันต่อปี
ในขณะที่โครงการโซลาร์รูฟท็อปทั้ง 2 แห่งในจังหวัดระยอง จะผลิตพลังงานสะอาดให้กับโรงงานผลิตเหล็ก 2 แห่ง ได้แก่ โรงงาน Kobelco Millcon Steel โดยคาดว่าจะผลิตพลังงานสะอาดได้ 5,100 เมกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึง 2,550 ตันต่อปี สำหรับการลงทุนครั้งนี้ช่วยให้เอสพี กรุ๊ป สามารถสนับสนุนแผนพัฒนาพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561-2580 (AEDP 2018) ของประเทศไทย ที่ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนของประเทศเป็น 30% ของสัดส่วนพลังงานทั้งหมดภายในปี 2580 โดยแผน AEDP 2018 มีเป้าหมายขยายกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนของประเทศให้ถึง 29,411 เมกะวัตต์ ภายในปีเดียวกัน
ด้าย นาย Brandon Chia กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียของเอสพี กรุ๊ป กล่าวว่า "การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้เป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นในระยะยาวของเอสพี กรุ๊ป ที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของประเทศไทย พร้อมทั้งช่วยเสริมศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียนของบริษัท นอกจากนี้ เรายังมีเป้าหมายที่จะผลักดันการลดการปล่อยคาร์บอนและการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับโรงงานอุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ โดยจะร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ และลงทุนในเทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียนและพลังงานยั่งยืนให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น"
อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ปี 2565 เอสพี กรุ๊ป มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียวของประเทศไทย โดยได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับผู้นำในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ เบทาโกร มาลีกรุ๊ป และมหาวิทยาลัยรังสิต ปัจจุบันบริษัทมีโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยรวมกว่า 200 เมกะวัตต์พีค
นอกจากนี้ เอสพี กรุ๊ป ได้ร่วมมือกับบ้านปู เน็กซ์ ในการออกแบบ พัฒนา และบริหารจัดการระบบผลิตความเย็นแบบรวมศูนย์ (District Cooling System) โครงการแรกในประเทศไทย ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ โซน C การขยายการลงทุนครั้งนี้ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาพลังงานยั่งยืนในประเทศไทย แต่ยังตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาดในภูมิภาค
ข่าวที่เกี่ยวข้อง