"ตู้แช่เย็นพลังงานแสงอาทิตย์" นี้ ผลิตโดย กฟผ. และกรมพัฒนาพลังงานทดแทน โดยใช้สารความเย็นธรรมชาติ สำหรับใช้เก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงยาบางชนิด
เพื่อลดปัญหาการสูญเสียผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ห่างไกลที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง และช่วยลดต้นทุนการเก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตร
"ตู้แช่เย็นพลังงานแสงอาทิตย์" เป็นความร่วมมือกันของ กฟผ. ร่วมกับ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) พัฒนาระบบทำความเย็นด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ใช้สารความเย็นธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดต้นทุนพลังงานไฟฟ้าและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นายธวัชชัย สำราญวานิช ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมทำความเย็น (EGAT Cooling Innovation Fund: CIF) เป็นผู้แทน กฟผ. ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ “โครงการสาธิตตู้แช่เย็นพลังงานแสงอาทิตย์ ภายใต้กองทุน CIF” กับ นายเรืองเดช ปั่นด้วง รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)
เนื้อหาที่น่าสนใจ :
แบตเตอรี่โซเดียมไอออน จากแร่เกลือหิน ครั้งแรกในไทย รองรับพลังงานทดแทน
ประชากรโลกครบ 8 พันล้านคนแล้ว UN ชี้เสี่ยงวิกฤตทรัพยากรขาดแคลน
"หุ่นยนต์กินขยะ" ในแม่น้ำ ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ไม่สร้างมลพิษ
โครงการสาธิตตู้แช่เย็นพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นความร่วมมือเพื่อศึกษา ออกแบบ และจัดทำระบบทำความเย็นด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติประเภท Hydrocarbon (Acetone) สำหรับใช้เก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตร เช่น ผัก ผลไม้ น้ำนมวัวดิบ รวมถึงยารักษาโรคบางชนิด โดยมีเป้าหมายลดปัญหาการสูญเสียผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ห่างไกลที่กระแสไฟฟ้าเข้าไม่ถึง และช่วยลดต้นทุนการเก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตร ตู้แช่เย็นหนึ่งตู้สามารถลดค่าใช้จ่ายพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 11,000 บาท/ปี และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 1,600 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์/ปี
ตู้แช่เย็นพลังงานแสงอาทิตย์จะถูกนำไปใช้ ทั้งภายในศูนย์เรียนรู้ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ฟาร์มโคนมขององค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศ (อ.ส.ค.) อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี รวมถึงวิสาหกิจชุมชนที่อยู่ภายใต้การดูแลของ อ.ส.ค. นอกจากนี้ ระบบทำความเย็นด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ที่พัฒนาขึ้นนี้ยังนำไปประยุกต์ให้เข้ากับระบบปรับอากาศเพื่อพัฒนาเป็นเครื่องปรับอากาศพลังงานแสงอาทิตย์ในอนาคต