กุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ชี้วิกฤตพลังงานผันผวนหนัก ส่งผลกระทบการขับเคลื่อนการพัฒนาพลังงานสะอาด รวมทั้งปัญหาค่าไฟประชาชน ที่จะเพิ่มสูงขึ้น เร่งวางมาตรการแก้ไข เพิ่มช่องทางนำเข้าพลังงาน พร้อมยืดเวลาการใช้พลังงานจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ ชะลอวิกฤต
เวทีสัมมนา NEW ENERGY แผนพลังงานชาติ สู่ความยั่งยืน ในหัวข้อ “แผนพลังงานชาติ สู่สังคมคาร์บอนต่ำ” จัดโดย ฐานเศรษฐกิจ กุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงการก้าวเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานฟอสซิสไปสู่พลังงานสะอาด ซึ่งขณะนี้ สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญ คือ วิกฤตพลังงานที่มีความผันผวนอย่างมาก
จากกลางปีถึงวันนี้ราคาน้ำมัน แม้จะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย แต่ก็ยังมีน้ำมันดิบ 91 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ปิดเมื่อวันที่ 16 กันยายน ที่ผ่านมา น้ำมันเบนซินอยู่ที่ 91.85 เหรียญสหรัฐ ห่างกันไม่มาก จากเดิมที่ห่างกันมากๆ แต่สิ่งที่ยังห่างกันอยู่ คือ ก๊าซออยล์ หรือน้ำมันดีเซลโลก ขึ้นมา 140-150 วันนี้มาอยู่ที่ 113 เหรียญสหรัฐ แต่ยังห่างอยู่ประมาณ 20 เหรียญสหรัฐ
จากระยะห่างตรงนี้ทำให้ วันนี้เป็นสัญญาณที่ดี วันนี้เริ่มเก็บเงินอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเข้ามาแล้ว 2 บาทต่อลิตร ก็เป็นสัญญาณที่ดี สถานการณ์จะดีขึ้น
บทความที่น่าสนใจ
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เตรียมลงนามผลักดันตลาดคาร์บอนเครดิต
สภาอุตสาหกรรมฯ แนะ ต้องปรับแผน PDP ให้เท่าทันสถานการณ์ มีความยืดหยุ่น
ปตท. มุ่งพัฒนา นวัตกรรมสร้างพลังงานทดแทน ที่จะกลายเป็นเทรนด์แห่งอนาคต
"แต่สิ่งที่ยังไม่ดีขึ้นคือ LNG จากช่วงโควิด อยู่ที่ 3-4 เหรียญสหรัฐ ขึ้นมาเรื่อยๆ จาก 8-10 เหรียญสหรัฐ มาเป็น 20 เหรียญสหรัฐ ขึ้นมา 80 เหรียญสหรัฐ ลงมา 50 เหรียญสหรัฐ เดือนที่แล้ว จาก 61 เหรียญสหรัฐ แล้วกลับมามาอยู่ 45 เหรียญสหรัฐ ลดลงมาวันศุกร์เหลือ 41.72 เหรียญสหรัฐต่อ MMBtu มันยังแพงอยู่ ถ้าจะให้ผลิตแล้วค่าไฟพอดีต้องอยู่ 25 เหรียญสหรัฐต่อ MMBtu นี่ยังไม่หน้าหนาว ถ้าถึงหน้าหนาว คนในยุโรปใช้พลังงานจาก๊าซเพิ่มขึ้น ราคาก็จะกลับมาสูงขึ้นอีก เพราะฉะนั้นเราต้องมีการเตรียมการ"
กุลิศกล่าวต่อไปว่า มาตรการแก้ไข เราต้องใช้น้ำมันดีเซลเข้ามาในการผลิต เพราะตอนนี้ยังไงๆ น้ำมันดีเซลวันนี้ก็ยังถูกกว่าการใช้ LNG และเราต้องเพิ่มโรงไฟฟ้าที่ใช้ดีเซลในการผลิตได้ โรงไฟฟ้าถ่านหินที่คิดว่าจะปลดระวางแม่เมาะโรงที่ 8 ที่จะต้องปลดระวาง ธันวาคม 2564 วันนี้ก็ยังต้องขอใช้อยู่และยังต้องขยับเพิ่มมาที่โรง 4 ที่แม่เมาะ อีก 150 เมกะวัตต์ พวกนี้ต้องเอาเข้ามา
การเจรจาซื้อก๊าซจากแหล่ง MTJA หรือ องค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ที่อาจจะต้องให้ราคาเขาสูงขึ้นแต่ก็ยังถูกกว่าที่จะต้องไปจ่าย 41 เหรียญสหรัฐ นี่คือมาตรการที่กระทรวงพลังงานจะต้องนำเสนอ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เร็วๆ นี้ เพื่อที่จะอนุมัติเตรียมการไว้ในไตรมาสสุดท้าย ตุลาคม-ธันวาคม เพื่อรองรับราคา LNG ที่จะส่งผลไปที่ค่าไฟต่างๆ เพิ่มขึ้น
"เราต้องคิดว่าอีก 3 เดือนจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าราคาพลังงานยังผันผวนอยู่แบบนี้ เราไม่ได้นิ่งนอนใจ เราจะมีมาตรการอะไรในการรองรับ ไม่ให้ค่าไฟเพิ่มขึ้น อันนี้คือการดำเนินการควบคู่กับการพัฒนาพลังงานสะอาด"
กุลิศกล่าวต่อไปว่า ประเด็นเรื่องค่าไฟ ประเด็นคือ ไม่สามารถคาดการณ์วิกฤตการณ์ต่างๆ ได้ ทั้งวิกฤตการณ์ในยุโรป ทั้งค่าก๊าซ ค่าพลังงานยังไม่จบ ในเรื่องการหาแหล่งพลังงานราคาถูกเช่นใน MTJA ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาร่วม ก็เจรจาในการขอซื้อก๊าซเพิ่มเติม เพื่อนำเข้ามาในประเทศ ไฟฟ้าพลังน้ำ กฟผ. ก็ต้องเจรจากับทาง สปป.ลาวว่า ในช่วง 3 เดือนน้ำเยอะ ตุลาคม-ธันวาคม ขายไฟให้เราเพิ่มได้ไหม
การตอบโจทย์ เน้นเรื่องคาร์บอนต่ำ จะกระทบกับอะไร ตอนนี้พลังงานหลักอีก 10 ปีจากนี้ ไปน้ำมันและก๊าซ ยังเป็นพลังงานหลัก แต่ต้นทุนของพลังงานหมุนเวียนตรงนี้มันเริ่มที่จะต่ำลง โดยไฟฟ้าที่เป็นไบโอแมส ไบโอก๊าซ ที่มาจากของเหลือใช้ทางการเกษตร กระทรวงพลังงาน ได้ลงนาม MOU กับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หาพลังงานชีวมวลมาป้อนไฟฟ้าชุมชน ตรงนี้ต้นทุนจะไม่แพงมาก
การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาด ผู้บริโภค หรือผู้ผลิตตามโรงงานต่างๆ เป็น RE-100 (RE100 เป็นความคิดริเริ่มระดับโลกและการทำงานร่วมกันของธุรกิจที่มีอิทธิพลซึ่งมุ่งมั่นที่จะใช้พลังงานทดแทน 100%) และต้องตรวจสอบย้อนกลับได้ การผ่อนคลายกฎระเบียบ ระหว่างผู้ผลิต ผู้ซื้อ ภาครัฐสนับสนุนเรื่องราคา การเข้าระบบกริด และต้องรู้ว่าที่ไหนมีการซื้อขายพลังงานสะอาดกันเท่าไร ไม่ให้กระทบความมั่นคง
กุลิศ กล่าวอีกว่า อีวี เรื่องรถยนต์เราทำแล้ว แต่จะต่อมาที่การผลิตแบตเตอรี่ ทำโรงงานผลิต และส่งเสริมการผลิตชิ้นส่วน พร้อมทั้งแผนการทำลายให้ครบวงจร ควบคู่กับ ชาร์จจิ้งสเตชั่น ที่ประชาชน 90% อยากชาร์จไฟรถที่บ้าน ก็ต้องมีการปรับระบบไฟบ้านเพื่อรองรับการใช้งานต่อไป
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ