svasdssvasds

เตือน ภูเขาน้ำแข็ง A23a อาจเร่งให้ชายฝั่งไทยหายไปเร็วขึ้น

เตือน ภูเขาน้ำแข็ง A23a อาจเร่งให้ชายฝั่งไทยหายไปเร็วขึ้น

อ.สนธิเตือน การเคลื่อนตัวของภูเขาน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดในโลก A23a อาจเร่งให้ชายฝั่งไทยหายไปเร็วขึ้น พร้อมเปิดลิสต์รายชื่อเขตในกรุงเทพฯ อีก 25 ปีจะเจอน้ำท่วมหนัก

กรุงเทพฯจมน้ำ ไม่ใช่เพียงวาทะประดับงานวิจัย แต่เป็นคำเตือนที่มีมานานมากแล้ว และสถานการณ์เหล่านั้นกำลังดำเนินไปเรื่อย ๆ ช้า ๆ และเงียบเชียบ โดยที่ผู้คนแทบไม่รู้สึกเลยว่าเรากำลังเดินหน้าสู่วิกฤตการสูญเสียแผ่นดินไทยครั้งใหญ่จากภาวะโลกร้อน และเหตุการ์ใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นนี้จะยิ่งกระตุ้นให้แผ่นดินไทยหายไปเร็วขึ้น

ล่าสุด อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้ออกมาย้ำเตือน ว่าความเสี่ยงน้ำท่วมพื้นที่ชายฝั่งทะเลประเทศไทยและกทม.กำลังใกล้เข้ามาแล้ว

โดยอาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว โดยให้เหตุผลว่า ในอีกซีกโลกหนึ่ง กำลังเกิดเหตุการณ์การเคลื่อนตัวของภูเขาน้ำแข็งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ชื่อว่า A23a มีความสูง 310 เมตร และหนา 400 เมตร มีความกว้าง 4,000 ตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่ากทม. 2 เท่า กำลังเคลื่อนตัวล่องลอยไปบริเวณเกาะเซาท์จอร์เจียทางขั้วโลกใต้ และกำลังแตกตัวออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เนื่องจากอุณภูมิเฉลี่ยของโลกร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสและอุณหภูมิเฉลี่ยน้ำทะเลสูงขึ้นเกือบ 3 องศาเซลเซียส

ผลที่ตามมาของการแตกสลายตัวของภูเขาน้ำแข็ง A23a 

  1. ก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่ดังกล่าว แตกตัวเป็นก้อนเล็กลง ก็อาจจะไปขัดขวางเส้นทางการเดินเรือขนาดใหญ่ที่สัญจรไปมา รวมทั้งเรือประมงก็จะจับปลาได้น้อยลง 
  2. ก้อนน้ำแข็งน้อยใหญ่จำนวนมาก ขัดขวางการหาอาหารของนกเพนกวินหลายล้านตัว นกชนิดต่าง ๆ รวมทั้งแมวน้ำ ทำให้พวกมันหากินลำบากมากขึ้น
  3. การละลายของภูเขาน้ำแข็งทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นในบริเวณชายฝั่งทั่วโลก
  4. ภูเขาน้ำแข็งซึ่งเป็นแหล่งเก็บสะสมคาร์บอนไว้ในก้อนน้ำแข็ง เมื่อละลายก็จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกมามหาศาลทำให้โลกร้อนขึ้น
  5. แต่มีข้อดีคือ หากภูเขาน้ำแข็งละลายก็จะปล่อยแร่ธาตุ สารอาหารต่าง ๆ ที่สะสมในก้อนน้ำแข็งออกมาด้วย ช่วยให้ระบบนิเวศในทะเลมีสารอาหารเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีแพลงตอนเพิ่มขึ้น

ภูเขาน้ำแข็ง A23a เคลื่อนที่ Cr.AFP

ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น กระทบกับใครบ้าง?

รายงานวิจัยในวารสาร Nature Communication ซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 รายงานว่า ในปี 2050 พบว่าระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชากรของประเทศไทยมากถึง 10% (6-7ล้านคน) โดย 70% ของผู้ได้รับผลกระทบจะอยู่ใน 7 ประเทศ คือ จีน บังคลาเทศ อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น

และจากการคาดการณ์โดยองค์การ NASA พบว่า ในปี 2030 ประชาชนประมาณครางหนึ่งของโลกที่อยู่ริมชายฝั่งทะเลและริมแหล่งน้ำจะประสบปัญหาเรื่องน้ำท่วม พายุและสึนามิอย่างรุนแรง โดยประเทศไทยจะเกิดซ้ำทุก ๆ 2-5 ปี

ตัวอย่างผลกระทบระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย

ปัจจุบันพบว่าระดับน้ำทะเลของประเทศไทยสูงขึ้นประมาณ 5.8 มม.ต่อปี โดยเฉพาะบริเวณอ่าวไทยรูปตัวก. ซึ่งพื้นที่ที่มีการกัดเซาะมากที่สุดในไทย ได้แก่

  • จุดแรกคือ ต.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ระยะทางกัดเซาะคือ 1,200 เมตรและมีแนวโน้มกัดเซาะอย่างต่อเนื่อง
  • จุดที่สองคือ บริเวณเขตท่าข้าม แขวงบางขุนเทียน ระยะกัดเซาะประมาณ 900 เมตร
  • จุดที่สามคือ ต.บางกระเจ้า อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ระยะทางกัดเซาะประมาณ 800 เมตร

วัดขุนสมุทรจีน อ.แหลมฟ้าผ่า จ.สมุทรปราการ ประสบปัญหามากสุดอย่างเห็นได้ชัด กลายเป็นวัดหนึ่งเดียวที่ยืนหยัดท่ามกลางน้ำทะเลที่รายล้อม วัดขุนสมุทรจีนมีพื้นที่ประมาณ 76 ไร่ ถูกกัดเซาะอย่างรุนแรงอัตรามากกว่า 10 เมตรต่อปี กินพื้นที่ประมาณ 56,531 ไร่ ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

เปรียบเทียบแผ่นดินบริเวณวัดขุนสมุทรจีน

ปี 2050 กรุงเทพอาจโดนน้ำทะเลรุกหนัก

รายงานจาก UNESCO คาดการณ์ว่า ในปี 2050 น้ำแข็งที่ละลายจากภาวะโลกร้อนมากขึ้น จะส่งผลให้ประเทศไทยมีระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 20-30 เซนติเมตร กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลอยู่แล้ว จะมีปัญหาแผ่นดินทรุดปีละ 100 มิลลิเมตร ขณะที่ปริมาณเฉลี่ยฝนจะตกลงมาเพิ่มขึ้น 5-20% ต่อปี 

และจากการคาดการณ์ดังกล่าวพบว่า พื้นที่เขตในกทม.ที่อาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหนักในปี 2050 มีทั้งหมด 10 เขต คือ บางคอแหลม บางรักธนบุรี บางกอกใหญ่ บางกอกน้อย บางนา บางกะปิ รวมคำแหง บางเขนและดอนเมือง

อย่างไรก็ตาม อาจารย์สนธิแนะปิดท้ายว่า รัฐบาลจะต้องเตรียมการในการป้องกันปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะจังหวัดชายฝั่งทะเล เช่น สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นนทบุรี ปทุมธานี อย่างจริงจัง ก่อนที่จะสายเกินไป

related