SHORT CUT
ภูเขาน้ำแข็ง A23a ภูเขาน้ำแข็งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เกยตื้นนอกเกาะเซาท์ จอร์เจีย ดินแดนโพ้นทะเลของอังกฤษแล้ว เพนกวิน-แมวน้ำหลายล้านตัวรอดแล้ว
British Antarctic Survey (BAS) รายงานว่า ภูเขาน้ำแข็ง A23a ภูเขาน้ำแข็งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เคลื่อนเข้าไปติดอยู่ในเขตน้ำตื้น ห่างออกไปประมาณ 80 กิโลเมตร จากชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะเซาท์ จอร์เจีย ดินแดนโพ้นทะเลของอังกฤษ ซึ่งเป็นบ้านของเพนกวินและแมวน้ำหลายล้านตัว
ภูเขาน้ำแข็งยักษ์ลูกนี้ที่มีขนาดใหญ่เป็นสองเท่าของมหานครลอนดอน และมีน้ำหนักเกือบล้านล้านตัน เกยตื้นบนไหล่ทวีปของเกาะแห่งนี้ เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางคาดการณ์ว่า ภูเขาน้ำแข็งจะเริ่มแตกออกในอีกไม่ช้า สร้างความกังวลให้กับชาวประมงที่กลัวว่า จะส่งผลกระทบกับเรือหาปลา และอาจส่งผลกระทบกับแหล่งอาหารของเพนกวิน สายพันธุ์มะกะโรนี (Macaroni Penguin) ในน่านน้ำบริเวณนั้น
อย่างไรก็ตาม “ลอรา เทย์เลอร์” (Laura Taylor) นักวิทยาศาสตร์ของ BAS ระบุว่า การเกยตื้นของภูเขาน้ำแข็งจะไม่ส่งผลกระทบกับสัตว์ในพื้นที่อีกต่อไป เนื่องจากฤดูผสมพันธุ์ของแมวน้ำและเพนกวินกำลังจะสิ้นสุดลงแล้ว สอดคล้องกับศาสตราจารย์นาดีน จอห์นสัน (Prof Nadine Johnston) นักวิทยาศาสตร์อีกคนของ BAS ที่ระบุว่า การละลายของภูเขาน้ำแข็งลูกนี้จะทำให้สารอาหารปริมาณมหาศาลที่สะสมอยู่จะถูกปล่อยออกมา ซึ่งจะช่วยเพิ่มสิ่งมีชีวิตและความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในมหาสมุทรได้
นอกจากนี้ ยังมีความกังวลว่า บริเวณที่ภูเขาน้ำแข็งเข้ามาเกยตื้นเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ทะเลนับพันชนิด อาทิ ปะการัง ฟองน้ำและทากทะเล จนอาจเรียกได้ว่าจักรวาลทั้งหมดของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ถูกภูเขาน้ำแข็ง A23a ทำลายจนราบเป็นหน้ากลอง แต่นักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าเป็นความเสียหายในระยะสั้น และเป็นส่วนหนึ่งของวงจรชีวิตตามธรรมชาติในมหาสมุทรใกล้ทวีปแอนตาร์กติกา
การเกยตื้นของภูเขาน้ำแข็ง A23a ความสูง 300 เมตร นอกชายฝั่งเกาะเซาท์ จอร์เจีย ถือเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดของภูเขาน้ำแข็งลูกนี้ที่ใช้เวลาในการเดินทางนานถึงเกือบ 40 ปี หลังแตกตัวออกจากหิ้งน้ำแข็งฟิลช์เนอร์-รอนน์ (Filchner-Ronne Ice Shelf) บริเวณแนวชายฝั่งของทวีปแอนตาร์กติก ตั้งแต่เมื่อปี 1986 แต่กลับติดอยู่กับพื้นมหาสมุทรมาเป็นเวลานาน 30 ปี ก่อนจะหลุดออกและเคลื่อนตัวขึ้นมาทางทิศเหนือ นับตั้งแต่ช่วงปี 2020 เป็นต้นมา
ภูเขาน้ำแข็งลูกนี้ยังเข้าไปติดอยู่ในวังน้ำวนของมหาสมุทรเป็นเวลานาน 8 เดือนในปี 2024 และหลุดออกมา ก่อนเคลื่อนตัวขึ้นเหนือผ่านน่านน้ำที่อุ่นกว่าในเส้นทางที่เรียกกันว่า “ตรอกภูเขาน้ำแข็ง” (Iceberg alley) แต่กลับไม่ละลายเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ และเร่งความเร็วขึ้นจนสามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยความเร็วประมาณ 30 กิโลเมตรต่อวันในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
นักวิทยาศาสตร์ของ BAS คาดการณ์ว่า ภูเขาน้ำแข็งยักษ์ A23a ความสูงถึง 300 เมตร ดูเหมือนจะติดอยู่กับไหล่ทวีปในเขตน้ำตื้นนอกชายฝั่งของเกาะเซาท์ จอร์เจียอีกสักระยะ จนกว่าจะมีก้อนน้ำแข็งบางส่วนแตกตัวออกมา ซึ่งในตอนนี้ภูเขาน้ำแข็งได้เริ่มส่งสัญญาณการสลายตัวแล้ว จากครั้งหนึ่งซึ่งเคยมีพื้นที่ 3,900 ตารางกิโลเมตร แต่ได้หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้น้ำปริมาณมหาศาลไหลลงสู่ทะเล จนปัจจุบันมีพื้นที่ประมาณ 3,234 ตารางกิโลเมตร
ภูเขาน้ำแข็งเป็นแหล่งกักเก็บอนุภาคและสารอาหารจากทั่วโลก ก่อนที่การละลายตัวของภูเขาน้ำแข็งจะปล่อยแร่ธาตุเหล่านั้นลงสู่มหาสมุทร โดยสัญญาณที่บ่งชี้ว่าสารอาหารปริมาณมากได้ถูกปล่อยออกจาก A23a นั้นคือการเกิดปรากฎการณ์แพลงก์ตอนพืชหรือ “ไฟโตแพลงก์ตอนบลูม” (Phytoplankton bloom) เพิ่มจำนวนขึ้นรอบภูเขาน้ำแข็ง จนปรากฎเป็นแถบสีเขียวทั่วบริเวณ ซึ่งจะสามารถสังเกตได้ด้วยภาพถ่ายดาวเทียมในช่วงหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนหลังจากนี้
แม้วงจรชีวิตของภูเขาน้ำแข็งจะเป็นกระบวนการตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่คาดการณ์ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะทำให้มีภูเขาน้ำแข็งแตกตัวออกมาเพิ่มขึ้นจากทวีปแอนตาร์กติกาที่มีอุณภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังอาจทำให้ภูเขาน้ำแข็งที่แยกออกมาจากหิ้งน้ำแข็งของทวีปละลายเร็วขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าและการประมงในพื้นที่
ที่มา: Reuters, BBC
https://www.bbc.com/news/articles/c20d1xp6046o
CREDIT ภาพ: Reuters, AFP
ข่าวที่เกี่ยวข้อง