SHORT CUT
หรือนี่อาจจะเป็นสัญญาณดี? นักวิทย์รายงาน ภูเขาน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดในโลก A23a มีขนาดใหญ่กว่ากรุงเทพฯ 2 เท่า ได้เคลื่อนตัวอย่างอิสระอีกครั้ง การเคลื่อนตัวอาจให้ประโยชน์มากกว่าโทษ?
A23a คือชื่อของภูเขาน้ำแข็งที่มีขนาดใหญ่กว่ากรุงเทพมหานคร 2 เท่า เป็นภูเขาน้ำแข็งที่นักวิทยาศาสตร์ติดตามมานานหลายสิบปี เพราะนอกจากจะมีขนาดใหญ่มาก ๆ แล้ว A23a ยังสร้างความกังวลว่าการเคลื่อนที่ของมันอาจจะกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและระดับน้ำทะเล
ในอดีต ภูเขาน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดในโลก A23a เคยเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นน้ำแข็งแม่อย่างทวีปแอนตาร์กติก เป็นส่วนหนึ่งของหิ้งน้ำแข็ง Filchner-Ronne ทางฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของทวีป และในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของสถานีวิจัยสหภาพโซเวียต
ในปี 1986 A23a ได้หลุดและแยกตัวออกมาจากทวีป เคลื่อนตัวหมุนไปมา บริเวณทะเลแวดเดลล์ (Weddell) และในเดือนสิงหาคม 2024 มันก็ลอยไปติดอีกครั้งใน “แนวเสาเทย์เลอร์” (Taylor Column) หรือกระแสน้ำวนซึ่งเกิดจากกระแสน้ำในมหาสมุทรที่พัดเข้าสู่ภูเขาใต้น้ำ
แต่ด้วยขนาดของมันที่หลุดออกมานั้นใหญ่มาก กินพื้นที่ราว ๆ 4,000 ตารางกิโลเมตร สูง 400 เมตร เทียบเท่ากับขนาดของกรุงเทพมหานครใหญ่ขึ้น 2 เท่า มันเลยกลายเป็นภูเขาน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดในโลก แล้วนักวิทย์ก็พยายามเฝ้าติดตามว่าการเคลื่อนตัวอย่างอิสระของมันจะส่งผลต่อระบบนิเวศโดยรอบอย่างไร และจะส่งกระทบต่อระดับน้ำทะเลด้วยหรือไม่
ล่าสุด เมื่อวันศุกร์ที่ 13 ธ.ค. 2024 นักวิทยาศาสตร์จากสำนักงานสำรวจแอนตาร์กติกของอังกฤษ (BAS) ระบุว่า มันได้หลุดออกมาแล้ว และกำลังเคลื่อนตัวอย่างอิสระ กำลังลอยไปตามกระแสน้ำมหาสมุทรไปยังแหล่งน้ำเขตอบอุ่น บริเวณเซาท์จอร์เจีย ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะสลายตัวในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ข้อกังวลก่อนหน้านี้ที่ว่า การเคลื่อนตัวของ A23a และการละลายของมันอาจทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น แต่จากการวิเคราะห์ล่าสุด นักวิทย์เผยว่า การแตกสลายของภูเขาน้ำแข็งนี้เป็นส่วนหนึ่งของวงจรการเจริญเติบโตทางธรรมชาติของหิ้งน้ำแข็ง และจะไม่ส่งผลต่อระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น
ตลอดการเดินทางของมัน การกัดเซาะตลอดจนการเคลื่อนตัวของ A23a อาจมีอิทธิพลต่อวัฏจักรคาร์บอนและสารอาหารให้มหาสมุทร เมื่อภูเขาน้ำแข็งเคลื่อนผ่านและให้สารอาหารแก่พื้นที่ที่มันไหลผ่าน ก็อาจทำให้ระบบนิเวศบริเวณนั้นเจริญรุ่งเรืองขึ้น
แต่ก็มีความกังวลในเชิงที่ว่า วิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง โดยเฉพาะกับทวีปแอนตาร์กติก เพราะหากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้เกิดแผ่นน้ำแข็งหลุดออกมาแบบนี้บ่อยขึ้น ก็อาจส่งผลต่อระดับน้ำทะเลทั่วโลกได้ และก็ไม่รู้ว่าแผ่นน้ำแข็งมหึมานี้จะกระทบต่อปริมาณคาร์บอนในมหาสมุทรและความสมดุลของชั้นบรรยากาศอีกหรือไม่ อย่างไร ก็คงต้องศึกษากันต่อไป
ที่มาข้อมูล