“ฟุตบอล” กีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก กำลังเผชิญการตรวจสอบอย่างละเอียดเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้น หลังจากรายงานฉบับใหม่ระบุว่า อุตสาหกรรมลูกหนังมีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่ากับประชากรของออสเตรียทั้งประเทศ
สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟา (FIFA) ระบุว่า ผู้คนราว 5,000 ล้านคนทั่วโลกเรียกตัวเองว่าเป็นแฟนฟุตบอล และฟุตบอลโลกรอบชิงชนะเลิศ ปี 2022 ที่กาตาร์เป็นเจ้าภาพ มีผู้ชม 1,500 ล้านคน และมีแฟนบอล 220 ล้านคนเดินทางไปชมการแข่งขันถึงสนามแห่งต่าง ๆ ในแต่ละปี นอกจากจะเป็นที่พูดถึงกันในทุกมุมโลกแล้ว ในฐานะอุตสาหกรรม ฟุตบอลมีมูลค่าถึง 35,300 ล้านยูโร เฉพาะในยุโรปเพียงภูมิภาคเดียว
แต่นอกจากนั้น ฟุตบอลยังซ่อนความลับอันสกปรกเอาไว้ และได้รับการเน้นย้ำในรายงานฉบับใหม่ที่มีชื่อว่า Dirty Tackle ซึ่งจัดทำโดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ของ Scientists for Global Responsibility และสถาบัน New Weather Institute
รายงานประเมินว่า อุตสาหกรรมฟุตบอลทั่วโลกมีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่าง 64 ล้านตันถึง 66 ล้านตันมในแต่ละปี นั่นเทียบเท่ากับประชากรทั้งประเทศออสเตรีย
อย่างไรก็ตาม นักฟุตบอลและทีมที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและกำลังสร้างความตระหนักรูให้กับฐานแฟนในรูปแบบที่สร้างสรรค์
รายงาน Dirty Tackle เป็นรายงานแรกที่มีการตรวจสอบการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของวงการฟุตบอลอย่างใกล้ชิดและแสดงเห็นถึงแนวโน้มที่น่ากังวลต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงขึ้นจากอุตสาหกรรม
ดร.สจวร์ต พาร์กินสัน (Dr Stuart Parkinson) ระบุว่า งานวิจัยนี้บันทึกหลักฐานที่น่าสนใจว่าฟุตบอลเป็นตัวก่อมลพิษที่สำคัญและการมีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็กำลังเพิ่มขึ้น
พร้อมเสริมว่า รายงานนี้ยังแสดงให้เห็นว่า มีข้อบ่งชี้เพียงเล็กน้อยว่าผู้มีอำนาจตัดสินใจพร้อมที่จะประเมินปัญหามลภาวะของเกมอย่างเพียงพอ ไม่ต้องพูดถึงการดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อลดปัญหาดังกล่าว
รายงานฉบับดังกล่าว ระบุว่า ปัจจัยหลัก ๆ ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมฟุตบอลมีอยู่ 3 ประการด้วยกัน
ประการแรก คือ การขนส่ง ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญและเข้าใจได้ง่าย และงานวิจัยคาดการณ์ว่าโดยเฉลี่ยแล้ว เกมการแข่งขันระหว่างสโมสรฟุตบอลชายของลีกในประเทศ จะก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณ 1,700 ตัน ในจำนวนนี้ ครึ่งหนึ่งมาจากการเดินทางของแฟน ๆ ที่ส่วนใหญ่ใช้รถยนต์
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเกมการแข่งขันระดับนานาชาติเข้าไปด้วย ก็จะทำให้การผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นราว 50% เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมการแข่งขันเดินทางมาร่วมรับชมโดยใช้เที่ยวบินพาณิชย์มากขึ้น
นอกจากนี้ เมื่อถึงบิ๊กแมตช์ อย่าง ฟุตบอลโลก ชุดทีมชาติชาย รอบชิงชนะเลิศ การปล่อยมลพิษเหล่านี้อาจสูงกว่าเกมในประเทศถึง 42 เท่า เนื่องจากมีแฟนบอลบินมาจากทั่วทุกมุมโลก
ขณะที่ทีมฟุตบอลเองก็จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเหล่านี้ด้วยเช่นกัน โดยในปี 2023 ทาง BBC Sport พบหลักฐานเที่ยวบินระยะสั้นภายในประเทศ จำนวน 81 เที่ยวบินของทีมพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ในเวลา 2 เดือน ซึ่งบางเที่ยวบินใช้เวลาในการเดินทางเพียง 27 นาที
นักวิจัยชี้ให้เห็นว่าการขยายโปรแกรมการแข่งขันระดับนานาชาติ อย่าง “ยูฟ่า เนชันส์ ลีก” (UEFA Nations League) ส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเดินทางไปแข่งขันฟุตบอลเพิ่มสูงขึ้น และเรียกร้องให้อุตสาหกรรมฟุตบอลเข้าเกียร์ถอยหลังและและมุ่งเน้นไปที่การแข่งขันทัวร์นาเมนท์ระดับภูมิภาคที่มีขนาดเล็กลงแทน
ประการที่สอง คือ การก่อสร้างสนามกีฬามีความเกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนจำนวนมาก โดยฟุตบอลโลกในปี 2022 นั้น มีการสร้างสนามกีฬาถาวรขึ้นใหม่ 7 แห่ง ซึ่งมีการประมาณการกันว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างมีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์รวม 1.6 ล้านตัน
ขณะที่ฟุตบอลโลก ปี 2034 ที่ซาอุดีอาระเบียได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพ จะมีการก่อสร้างสนามกีฬาใหม่อีก 11 แห่ง ซึ่ง Carbon Market Watch ระบุว่า ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการก่อสร้างครั้งใหม่นี้จะสูงเกินกว่าที่จะประมาณการได้
แหล่งที่มาสุดท้าย และเป็นหนึ่งในแหล่งที่ประเมินได้ยากในอดีต คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากข้อตกลงการเป็นผู้สนับสนุน
ในเดือนเมษายน ปี 2024 ฟีฟาลงนามในข้อตกลงกับ Aramco บริษัทน้ำมันรายใหญ่สุดของโลกจากซาอุดีอาระเบีย หรือการที่สหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรปหรือยูฟ่า (UEFA) ทำข้อตกลงการสนับสนุนระยะยาวกับสายการบินกาตาร์ แอร์เวย์ส และสโมสรฟุตบอลหลายแห่งที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระดับสูง รวมถึง บริษัทน้ำมันและก๊าซ สายการบิน ผู้ผลิตรถยนต์และเครือร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด
เม็ดเงินจากอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงซึ่งหลั่งไหลเข้าสู่กีฬาชนิดนี้ กำลังปรับมุมมองของแฟน ๆ ต่อพฤติกรรมที่เป็นอันตรายกับสภาพภูมิอากาศว่า เป็นเรื่องปกติ เช่น การขับรถ SUV ขนาดใหญ่และการเดินทางทางอากาศ
ขณะที่การคำนวณว่า 75% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสากกรรมฟุตบอล ขับเคลื่อนโดยข้อตกลงการเป็นสปอนเซอร์เหล่านี้
“หมู่เกาะมาร์แชล” ตั้งอยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิก และมีประชากรเพียง 42,000 คน เป็นประเทศเดียวในชาติสมาชิกขององค์กรสหประชาชาติ (UN) จากทั้งหมด 193 ประเทศที่ไม่มีทีมฟุตบอลประจำชาติที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ
ประเทศที่ตั้งอยู่บนเกาะปะการังแห่งนี้มีนักกีฬาฟุตบอล มีสนามฟุตบอล และแม้แต่สหพันธ์ที่ดูแลกีฬานี้ แต่การยอมรับจากหน่วยงาน อย่าง ฟีฟา ต้องใช้เวลา และเวลาเป็นสิ่งที่หมู่เกาะมาร์แชลไม่มี เนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นเป็นภัยคุกคามที่พร้อมจะทำลายล้างหมู่เกาะแห่งนี้ ก่อนที่ทีมชาติจะมีโอกาสได้ลงสู้ศึกในการแข่งขันระดับนานาชาติสักนัดหนึ่ง
เนื่องด้วยทั้งประเทศมีระดับความสูงเฉลี่ยไม่ถึง 1.8 เมตร หมู่เกาะมาร์แชลจึงมีความเสี่ยงอย่างมากจากระดับน้ำทะเลที่หากสูงขึ้นเพียง 1 เมตร ก็จะทำให้ “มาจูโร” ที่อยู่ของประชากรราวครึ่งหนึ่งของประเทศ สูญเสียพื้นที่ราว 80% และข้อมูลจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติหรือนาซา (NASA) ระบุว่า ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นแล้ว 30 เซนติเมตรในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้คนเกี่ยวกับความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นนั้น สหพันธ์ฟุตบอลหมู่เกาะมาร์แชล (MISF) ได้จับมือกับแบรนด์กีฬา อย่าง PlayerLayer เพื่อเปิดตัวชุดแข่งใหม่ แต่นี่ไม่ใช่ชุดแข่งทั่วไป แต่ชุดดังกล่าวที่ได้รับการตั้งชื่อว่า “2030 No Home” มีความพิเศษตรงที่ชิ้นส่วนต่าง ๆ ของเสื้อจะค่อย ๆ หายไปในระหว่างแคมเปญโฆษณา
CREDIT: Marshall Islands Soccer Federation
ในตอนแรก แฟน ๆ จะแทบไม่สังเกตเห็นว่าชิ้นส่วนอะไรที่หายไป แต่ในอีกหลายวันต่อมา ชิ้นส่วนต่าง ๆ จะหายไปเพิ่มขึ้น สะท้อนถึงการสูญเสียที่ค่อยเป็นค่อยไป ทว่าสร้างความเสียหายให้กับหมู่เกาะต่าง ๆ ที่ต้องเผชิญจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ชุดแข่งนี้ยังเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็น ภาพเรือแคนู ฉลามขาว พืชและสัตว์ชนิดต่าง ๆ ในหมู่เกาะมาร์แชลกระจายอยู่บนพื้นเสื้อ ในขณะที่ตัวเลข 1.5 แสดงถึงความมุ่งมั่นในการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่ทำขึ้นภายใต้ข้อตกลงปารีส
หากไม่มีมาตรการปรับตัว หมู่เกาะมาร์แชลจะเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ที่ต้องเผชิญกับภัยพิบัติจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ยังไม่รวมถึง ประเทศหมู่เกาะอื่น ๆ อย่าง ไมโครนีเซีย, มัลดีฟส์, ตูวาลู และ คิริบาส ประเทศหมู่เกาะที่ราบต่ำในมหาสมุทรแปซิฟิกเหล่านี้ซึ่งล้วนตกอยู่ในความเสี่ยง
ทีมต่าง ๆ ทั่วโลกเริ่มคุ้นเคยกับการที่เกมการแข่งขันถูกยกเลิกหรือหยุดชะงัก เนื่องจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ เช่น ฝนตก พื้นสนามที่เย็นจัดจนเป็นน้ำแข็งและลมแรง โดยสมาคมฟุตบอลของอังกฤษ (FA) ระบุว่า การแข่งขันฟุตบอลในระดับเริ่มต้นราว 100,000 นัด ถูกยกเลิกทุกปี เนื่องจากสภาพสนามไม่ดี อยู่ในสภาพโคลน มีน้ำขัง หรืออื่น ๆ ที่ไม่สามารถให้นักเตะลงเล่นได้
หากไม่มีการดำเนินการใด ๆ ผลการวิจัยคาดการณ์ว่า 25% ของสนามฟุตบอลในสหราชอาณาจักรอาจถูกน้ำท่วมบางส่วนหรือทั้งหมดภายในปี 2050 โดยสนามกีฬาที่ตั้งอยู่ใกล้ชายฝั่ง เช่น สนามคาร์ดิฟฟ์ ซิตี สเตเดียม และสนามกีฬาเอ็มเคเอ็ม สเตเดียมของสโมสรฟุตบอลฮัลล์ซิตี อาจจมอยู่ใต้น้ำทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม นักฟุตบอลบางคนใช้แพลตฟอร์มของตัวเองในการส่งข้อความเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่าง “เฮกตอร์ เบเยริน” (Héctor Bellerín) ผู้เล่นชาวสเปนที่สัญญาว่าจะปลูกต้นไม้ให้ได้ 3,000 ต้นสำหรับทุกเกมที่ทีมปืนใหญ่อาร์เซนอลสามารถเก็บชัยชนะได้
ขณะที่ “แพทริค แบมฟอร์ด” (Patrick Bamford) นักเตะของทีมลีดส์ ทำมือเป็นรูป “สายฟ้า” ในท่าฉลองชัยชนะ โดยให้เหตุผลที่ทำท่านี้ว่าเป็นการแสดงออกถึงการยืนหยัดเพื่อโลกของตัวเอง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามต่อกีฬา และหากไม่ดำเนินการใดๆ จะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง
นอกจากนี้ยังมีบางทีมที่ลงนามในกรอบการทำงาน UN Sports for Climate Action Framework ซึ่งตั้งเป้าหมายให้แก่สโมสรต่าง ๆ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 และมุ่งมั่นที่จะทำให้การปลดปล่อยมลภาวะเป็นศูนย์ภายในปี 2040
สโมสรฟอเรสต์ กรีน โรเวอร์ส (Forest Green Rovers) ซึ่งตั้งอยู่ในเทศมณฑลกลอเซสเตอร์เชียร์ เป็นผู้นำในด้านสนามกีฬาที่มีความยั่งยืน เนื่องจากขับเคลื่อนด้วยพลังงานทดแทน 100% ใช้หญ้าสนามออร์แกนิก และตัดหญ้าด้วยหุ่นยนต์พลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึง ใช้น้ำฝนรีไซเคิล เพื่อลดการใช้น้ำ
ในปี 2018 สโมสรแห่งนี้กลายเป็นสโมสรฟุตบอลที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนแห่งแรกของโลกและได้รับการรับรองจากสหประชาชาติ อย่างไรก็ตาม “ฟอเรสต์ กรีน โรเวอร์ส” ไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านี้
โดยสโมสรที่มี “เดล วินซ์” เจ้าพ่ออุตสาหกรรมพลังงานสีเขียวเป็นเจ้าของ กำลังสร้างสนามแห่งใหม่โดยใช้ไม้เป็นองค์ประกอบหลัก ยังไม่รวมถึง พื้นที่สีเขียวจากพุ่มไม้และพื้นที่ชุ่มน้ำรายรอบ เพื่อปรับปรุงความหลากหลายชีวภาพ ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเป็นสนามที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำที่สุดในบรรดาสนามกีฬาใด ๆ ในโลก
รายงาน Dirty Tackle ทิ้งท้ายว่า นอกเหนือจากมาตรการบรรเทาผลกระทบอื่น ๆ แล้ว ชัยชนะครั้งใหญ่ คือ การที่กีฬาจากแยกตัวออกจากข้อตกลงการเป็นผู้สนับสนุนกับบริษัทที่สร้างมลพิษในระดับสูง
ในตอนนี้ กลุ่มสโมสรฟุตบอลหญิงชั้นนำมากกว่า 100 แห่ง เรียกร้องให้ยุติข้อตกลงการเป็นสปอนเซอร์ระหว่าง Aramco กับฟีฟ่า รวมถึงทีมฟุตบอลบาเยิร์น มิวนิค (Bayern Munich) สโมสรในเยอรมนีที่ถอดสายการบินกาตาร์ แอร์เวย์ส ออกจากการเป็นสปอนเซอร์บนเสื้อทีมแล้ว
หลังเผชิญการประท้วงของแฟนบอล อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมโยงของฟุตบอลกับผู้ก่อมลพิษยังคงทำให้หลักฐานหรือข้อมูลรับรองความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green credentials) ทั่วโลกเสื่อมเสีย
ที่มา: Euro News
ข่าวที่เกี่ยวข้อง