ทีมนักวิจัย ได้ตีพิมพ์การศึกษาชิ้นใหม่ ระบุว่า นกท้องถิ่นในออสเตรเลีย อาทิ นกปรอดก้นแดง นกชายเลนกระหม่อมแดง มีขนาดตัวเล็กลง แถมพวกมันยังปรับจะงอยปากของตัวเองให้ใหญ่ขึ้น สิ่งนี้ทำให้พวกมันอยู่รอดได้อย่างไร?
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทำให้สัตว์ป่า ไม่ว่าสัตว์เล็ก หรือสัตว์ใหญ่ ต้องเริ่มปรับวิถีการใช้ชีวิต และถือเป็นเรื่องปรกติ ที่สัตว์จะมีการปรับร่างกายสามารถอยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อมนั้น ๆ
สิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นอีกครั้งกับนกในออสเตรเลีย แต่เป็นการปรับตัวให้อยู่รอดได้ในภาวะโลกร้อน...
งานวิจัยล่าสุด พบว่านกในออสเตรเลียมากกว่า 100 สายพันธุ์ เริ่มปรับเปลี่ยนร่างกายตัวเองให้เล็กลง และมีจะงอยปากที่ใหญ่ขึ้น คำถามคือร่างกายที่เล็กลง กับจะงอยปากที่ใหญ่ขึ้น มันช่วยให้นกในออสเตรเลียอยู่รอดภายใต้สภาพอากาศร้อนจัดได้อย่างไร?
อเล็กซานดรา แม็คควีน ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมวิทยาจากมหาวิทยาลัยโมนาช เปิดเผยว่า ภายใต้ร่างกายที่เล็กลง สัตว์สามารถระบายความร้อนได้ดีขึ้น ทั้งยังถ่ายเทความร้อนในร่างกายออกทางปาก
นักวิจัยล่วงรู้ได้อย่างไร?
นักวิจัยทำการเฝ้าติดตาม และวัดความยาวของปาก ความยาวปีก และมวลร่างกายของนกมากกว่า 10,000 ตัว ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า นกลุยน้ำมีร่างกายเล็กลง และมีจะงอยปากใหญ่ขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยชิ้นก่อน ๆ ที่ระบุไว้ว่า บรรดานกอพยพที่ชื่อคุ้นหูอย่าง นกปรอดก้นแดง นกชายเลนกระหม่อมแดง ต่างก็มีจะงอยปากที่ขยายใหญ่ขึ้นในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา
สิ่งที่นักวิจัยกังวลก็คือ เมื่อจะงอยปากใหญ่ขึ้น นั่นแปลว่าอากาศภายนอกสามารถถ่ายเทเข้าไปในร่างกาย จนนกอาจรับอากาศร้อนมากเกินไป
ต้องบอกว่าประชาชนในออสเตรเลียได้รับแจ้งเตือนเรื่องอากาศร้อนจัดอยู่เป็นประจำ หนล่าสุดคือเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 67 ที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งหลายพื้นที่เจอคลื่นความร้อนปกคลุม และเมื่อช่วงกุมภาพันธ์ เมืองคาร์นาร์วอน อากาศพุ่งแตะ 49.9 องศา ติดต่อกันนาน 6 วัน
ที่มา: The conversation
ข่าวที่เกี่ยวข้อง