svasdssvasds

น้ำท่วมภาคใต้ 2567 วิกฤตหนักเพราะโลกร้อน ฝนเท่าไต้ฝุ่นแต่เป็นเพียงมรสุม

น้ำท่วมภาคใต้ 2567 วิกฤตหนักเพราะโลกร้อน ฝนเท่าไต้ฝุ่นแต่เป็นเพียงมรสุม

น้ำท่วมภาคใต้ วิกฤตหนักในรอบกว่า 50 ปี ปริมาณฝนเท่าไต้ฝุ่นแต่ความจริงเป็นเพียงมรสุม หลายพื้นที่ยังต้องการความช่วยเหลือด่วน "ปลอดประสพ" แนะเร่งเจาะสันทรายปากอ่าวเพื่อให้น้ำลงทะเลไวขึ้น

SHORT CUT

  • น้ำท่วมภาคใต้ 2567 ตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย.มีปริมาณน้ำฝนสะสมมากเท่าพายุไต้ฝุ่น ทั้งที่เป็นเพียงร่องมรสุม
  • ฝนตกหนักและแช่ เป็นผลจากโลกร้อนทำให้อากาศแปรปรวน มวลความเย็นลงมาปกคลุมได้ต่ำกว่าปกติ ขณะที่ความชื้นในทะเลมีมากขึ้น
  • ปลอดประสพ แนะให้จับตาสันทรายที่จะเกิดบริเวณปากอ่าว ต้องเร่งเจาะสลายเพื่อให้น้ำจากแม่น้ำระบายได้เร็ว

น้ำท่วมภาคใต้ วิกฤตหนักในรอบกว่า 50 ปี ปริมาณฝนเท่าไต้ฝุ่นแต่ความจริงเป็นเพียงมรสุม หลายพื้นที่ยังต้องการความช่วยเหลือด่วน "ปลอดประสพ" แนะเร่งเจาะสันทรายปากอ่าวเพื่อให้น้ำลงทะเลไวขึ้น

ตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา เกิดฝนตกหนักและหนักมากในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จ.นราธิวาส ยะลา ปัตตานี ไปถึง จ.สงขลา สตูล นครศรีธรรมราชและพัทลุง โดยฝนตกต่อเนื่องทั้งกลางวันและกลางคืน ปริมาณฝนตกสะสม 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 26-29 พ.ย. มีปริมาณมากกว่า 900 มิลลิเมตร ในพื้นที่ จ.ยะลา มีปริมาณสะสม 800 มิลลิเมตรในจังหวัดนราธิวาสและสงขลา (ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและเตือนภัยน้ำหลาก-ดินถล่ม กรมทรัพยากรน้ำ)

 

ผู้สื่อข่าวในพื้นที่รายงานตรงกันว่าสถานการณ์น้ำปีนี้รุนแรงมากกว่าปี 2566 ที่เกิดน้ำท่วมหนักในพื้นที่ จ.นราธิวาส และ จ.ปัตตานี แต่ในปีนี้น้ำหลากรุนแรงทุกจุด จนเจ้าหน้าที่และอาสามัครกู้ภัยที่เดินทางไปจาก กทม. ไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้เพราะติดน้ำท่วมอยู่ที่ จ.สงขลา จังหวัดชายแดนใต้จึงมีสภาพคล้ายเกาะที่คนในไม่สามารถเดินทางออก คนนอกไม่สามารถเดินทางเข้าไปได้

ล่าสุดในพื้นที่เมืองเศรษฐกิจอย่าง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ที่ไม่เกิดสถานการณ์น้ำท่วมหนักมานานหลังมีโครงการในพระราชดำริ ก็ประกาศธงแดงให้ประชาชนอพยพทั่วทุกพื้นที่แล้ว

 

ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี ที่ปรึกษาศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม เผยกับ SPRiNG ว่า เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว "ฝนตอนเหนือจะหมดแล้วฝนจะตกข้างล่าง" ปีนี้ตกแรงกว่าปกติไปตลอดอย่างน้อย 7 วันเพราะสภาวะอากาศเปลี่ยนไปเพราะภาวะโลกร้อน ทำให้ความชื้นเพิ่มขึ้นจากปกติเพราะโลกร้อนแล้วไประเหยทะเลกลายเป็นไอน้ำมากกว่าปกติ และลมตะวันออกแรงกว่าปกติ ลมตะวันตกจากมหาสมุทรอินเดียที่ควรจะหยุดนิ่งแล้วก็ยังมีมาเรื่อยๆ ฉะนั้นแนวปะทะอากาศหรือร่องฝนจึงเกิดหนักที่ภาคใต้

 

"ปีนี้ไม่หนาว เมื่อไม่หนาวก็ไม่มีลมหนาวที่หนักและแห้งไปผลักดันร่องฝนพ้นจากเขตประเทศไทยไปได้ ทำให้ฝนมาตกหนักมากที่ภาคใต้ตอนล่าง" ดร.ปลอดประสพ กล่าว

ดร.ปลอดประสพ ระบุว่า ภาคใต้ตอนล่างมีภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงจากแนวเทือกเขาตะนาวศรี แผ่นดินแคบ ทำให้ร่องน้ำหรือแม่น้ำสั้น เมื่อฝนตกหนักมากก็ไหลลงสู่ที่ราบเพื่อออกสู่ทะเล ผ่านเขตเมืองก็สร้างความเสียหาย และจะต้องจับตาสันทรายที่จะเกิดขึ้นที่ปากอ่าวมากเพราะพายุในทะเลดันขึ้นมา เมื่อเกิดสันทรายเราต้องเจาะทันทีเพื่อให้มวลน้ำจากบนบกได้ไหลลงสู่ทะเลอย่างรวดเร็ว หลังจากนี้ให้จับตาพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช และลุ่มน้ำสงขลา โดยเฉพาะช่วง จ.พัทลุง ที่น้ำจะไปตุงออกไม่ได้เพราะมีตะกอนทรายสะสมหน้าประตูน้ำ

 

ปัจจุบัน (29 พ.ค. 67) ปภ.รายงานสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้แล้ว 7 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 68 อำเภอ 452 ตำบล 2,831 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 240,007 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 4 ราย

related