สหประชาชาติ เปิดเผย รายงานใหม่ (เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 67) โดยชี้ว่า วิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศอาจทำให้เด็กนับล้านชีวิตทั่วโลก เสี่ยงเจอกภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้น ในขณะที่ปริมาณการปล่อยมลพิษยังพุ่งสูงทุกปี
หลายครั้งหลายหนที่เราพูดกันว่าควรเตรียม “โลกที่ดี” ให้กับเด็ก ๆ อันเป็นโลกที่ปราศจากมลพิษ มีอากาศสะอาดหายใจ มีพื้นที่สีเขียว
แต่คำถามสำคัญคือ ปัจจุบันเราเตรียมโลกแบบที่ว่ามานี้ไว้มากน้อยแค่ไหน ในเมื่อตัวเลขการปล่อยมลพิษยังพุ่งกระฉูด ซึ่งส่งผลให้สภาพอากาศโลกแปรปรวน และรุนแรง จนเด็กยังมิทันโตก็ต้องหนีหัวซุกหัวซุนเอาตัวรอดจากภัยพิบัติ (จากมนุษย์) กันเสียแล้ว
เมื่อวันพุธ (20 พ.ย. 67) ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันเด็กสากล (Universal Children’s day) สหประชาชาติได้เผยแพร่รายงานใหม่ ซึ่งชี้ให้เห็นถึง 2 ประเด็นสำคัญ ที่จะส่งผลกระทบต่อเด็ก ๆ ได้แก่ วิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ และความรุดหน้าของเทคโนโลยี AI วันนี้ สรุปเนื้อหาของทั้งสองหัวข้อนี้มาให้อ่านกัน
รายงานใหม่จากสหประชาชาติ เปิดเผยว่า ภายในปี 2050 หรืออีกราว ๆ 26 ปี เด็กทั่วโลกนับล้านชีวิตต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนรุนแรงขึ้น 8 เท่า เผชิญกับน้ำท่วมบ่อย และรุนแรงขึ้น 3 เท่า
พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าจะมีเด็กเผชิญกับไฟป่าเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า ไหนจะพายุเขตร้อน ภัยแล้งก็มา ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็จะเผชิญกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมแตกต่างกันไป
อย่างกรณีคลื่นความร้อน เด็ก ๆ ที่อาศัยอยู่บริเวณเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ แปซิฟิก ตะวันออกกลาง และทุกทั่วแห่งในแอฟริกา ต้องเผชิญหนักกว่าพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งหากใครยังจำกันได้ เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ทวีปเอเชียต้องเผชิญกับอากาศร้อนจัด ที่โหดร้าย และรุนแรงจนถึงขั้นถูกเรียกขานว่าเป็น Monster Asian Heatwave หรือ ปีศาจคลื่นความร้อนแห่งเอเชีย
สหประชาชาติ ระบุว่า เทคโนโลยีใหม่ ๆ อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะมาพร้อมกับประโยชน์ และความเสี่ยงต่อการใช้ชีวิตของเด็ก ๆ ซึ่งปัจจุบัน อุปกรณ์เทคโนโลยีต่าง ๆ ก็ล้วนมีเทคโนโลยี AI แนบมาพร้อมใช้
รายงานดังกล่าว ยังเผยอีกว่าในปี 2024 ประชากรเด็กราว 95% ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้สูงมีโอกาสเข้าถึงอินเทอร์เน็ต หมายความว่าเด็ก ๆ มีแนวโน้มจะหันเข้าหาเทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อย ๆ แตกต่างจากประเทศที่มีรายได้น้อย ซึ่งสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เพียง 25%
“เด็กๆ กำลังเผชิญกับวิกฤตมากมาย ตั้งแต่วิกฤตสภาพอากาศแปรปรวนไปจนถึงอันตรายจากอินเทอร์เน็ต และวิกฤตเหล่านี้จะทวีความรุนแรงมากขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า” แคเธอรีน รัสเซลล์ ผู้อำนวยการบริหารของยูนิเซฟ กล่าว
ทั้งนี้ รายงานดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า จะมีเด็กประมาณ 1 พันล้านคนทั่วโลก จะได้รับผลกระทบแบบที่ได้กล่าวไป โดยเสี่ยงตั้งแต่ยังไม่เกิดเสียด้วยซ้ำ มีรายงานที่บอกว่าหญิงมีครรภ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีคลื่นความร้อนรุนแรง อาจเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ความดันโลหิตสูง หรือแท้งบุตร/ธิดา หรือแม้เกิดออกมาลืมตาดูโลก ก็ต้องเผชิญกับมลภาวะ สภาพอากาศเลวร้าย ระบบหายใจ สมอง ปอด หรือระบบภูมิคุ้มกันย่ำแย่ลง
สภาพอากาศที่เลวร้ายอาจทำให้เด็กๆ ไม่สามารถรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพได้ ในขณะที่พายุทอร์นาโด พายุเฮอริเคน น้ำท่วม คลื่นความร้อน และแผ่นดินไหวมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพจิตหลายประการ เช่น โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ และภาวะซึมเศร้า
ที่มา: The guardian