สถานการณ์มลพิษในปากีสถานยังคงทวีความเลวร้ายเพิ่มขึ้น จนสามารถมองเห็นชั้นฝุ่นที่ปกคลุมทั่วเมืองจากอวกาศผ่านดาวเทียมของนาซาได้อย่างชัดเจน
หมอกควันพิษที่คุกคามสุขภาพของประชากรหลายสิบล้านคนมานานนับสัปดาห์ ยังคงทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนล่าสุด องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือ นาซา (NASA) ได้เผยแพร่ภาพถ่ายจากดาวเทียม ที่แสดงให้เห็นกลุ่มหมอกควันสีเทาขนาดใหญ่ที่ปกคลุมจังหวัดปัญจาบของปากีสถาน และทอดตัวไปทางทิศตะวันออกเหนือกรุงนิวเดลีของอินเดีย
มลพิษดังกล่าวคือสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลปากีสถานต้องสั่งปิดโรงเรียนและสถานที่สาธารณะนานเกือบสองสัปดาห์ รวมถึงสั่งให้ประชาชนหยุดงานอยู่บ้าน ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด สวมหน้ากากอนามัย และไม่เดินทางออกข้างนอกโดยไม่จำเป็น หลังการสูดดมฝุ่นควันได้ส่งผลให้มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคระบบทางเดินหายใจมากกว่า 900 คนภายในวันเดียว
แม้ว่าหลายเมืองใหญ่ในเอเชียจะประสบปัญหาหมอกควันพิษเป็นประจำทุกปี เนื่องมาจากการเผาขยะของการเกษตร โรงไฟฟ้าถ่านหิน และการจราจร แต่เจ้าหน้าที่ของเมืองลาฮอร์ ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองของปากีสถาน ระบุว่า สถานการณ์มลพิษในปีนี้อยู่ในระดับที่รุนแรงที่สุดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ขณะที่อากาศเย็นในช่วงเข้าใกล้ฤดูหนาวยิ่งทำให้ทุกอย่างแย่ลง เนื่องจากอากาศที่หนาวเย็นและแห้งจะกักเก็บมลพิษไว้แทนที่จะพัดพาออกไป โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ดัชนีคุณภาพอากาศของเมืองลาฮอร์ อยู่ที่ระดับสูงกว่า 1,200 สูงกว่าระดับ "อันตราย" ซึ่งถูกกำหนดไว้ที่ 300 ไปหลายเท่าตัว อ้างอิงตามเกณฑ์ของ IQAir องค์กรติดตามคุณภาพอากาศทั่วโลก
นอกจากนี้ ในบางพื้นที่ของแคว้นปัญจาบ ยังพบว่าค่าฝุ่น PM2.5 มลพิษที่เล็กที่สุดและอันตรายที่สุด ก็มีค่าที่สูงเกินกว่าระดับปลอดภัยที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ถึง 110 เท่า ซึ่งหากสูดดมเข้าไป ฝุ่นขนาดเล็กจะสามารถเข้าไปลึกได้ถึงส่วนของเนื้อเยื่อปอด เป็นสาเหตุของโรคต่างๆ เช่น หอบหืด โรคหัวใจ โรคปอด โรคมะเร็ง และโรคทางเดินหายใจ อื่นๆ รวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดการบกพร่องทางสติปัญญาในเด็กอีกด้วย