SHORT CUT
รายงานของสำนักงานสิ่งแวดล้อมยุโรป หรือ EEA ระบุว่า มีเพียงแค่หนึ่งในสามของแหล่งน้ำผิวดิน หรือแหล่งน้ำที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเท่านั้นที่อยู่ในสภาพดี ไม่มีมลพิษ
เนื่องจากปัจจุบัน แม่น้ำ ทะเลสาบ และน้ำชายฝั่ง รวมถึงระบบนิเวศน์ ได้รับผลกระทบรุนแรงจากสารเคมี โดยมีสาเหตุหลักมาจากมลพิษทางอากาศที่เกิดจากโรงถ่านหินและยาฆ่าแมลงจากการทำเกษตร นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของปัญหาเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การนำน้ำมาใช้มากเกินไป และการทำลายถิ่นฐานที่อยู่อาศัย
แม้ว่าจะมีความพยายามที่จะแก้ปัญหาและสร้างความยั่งยืนให้แก่แหล่งน้ำจืด แต่ยุโรปก็ยังเผชิญกับความท้าทายด้านความมั่นคงทางน้ำ และพบว่า ในแต่ละปี 20 เปอร์เซ็นต์ของดินแดนยุโรป และ 30 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในยุโรป ล้วนได้รับผลกระทบจากปัญหาความตึงเครียดน้ำ หรือการใช้น้ำจืดมากจนเกินไป
ผู้อำนวยการบริหารของ EEA เปิดเผยในแถลงการณ์ว่า คุณภาพของน้ำในยุโรปไม่ค่อยดีนัก และแหล่งน้ำในยุโรปเผชิญกับความท้าทายต่างๆอย่างคาดไม่ถึง ซึ่งกำลังคุกคามความมั่นคงทางน้ำของยุโรป
จริงๆแล้วยุโรปพยายามแก้ปัญหาเรื่องแหล่งน้ำจืด ภายใต้โครงการ Water Framework Directive ของสหภาพยุโรป โดยแม่น้ำ ทะเลสาบ น้ำชายฝั่ง น้ำใต้ดิน ควรจะต้องได้สถานะ ‘good chemical status’ ซึ่งหมายความว่า ไม่ได้เป็นมลพิษมากจนเกินไป ภายในปี 2015 แต่นับจนปี 2021 มีเพียงแค่ 29 เปอร์เซ็นต์ของแหล่งน้ำผิวดินเท่านั้นที่ได้รับสถานะดังกล่าว
สารเคมีหลายอย่าง เช่น ปรอท ถูกโทษว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การปรับปรุงคุณภาพน้ำเป็นไปด้วยความล่าช้า เนื่องจากปรอทปะปนอยู่ในแหล่งน้ำมากมาย เพราะถ้าหากไม่มีสารเคมีเหล่านี้ปนเปื้อน 80 เปอร์เซ็นต์ของแหล่งน้ำผิวดินก็จะได้สถานะ ‘good chemical status’
รายงานระบุว่า การเกษตรเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คุณภาพน้ำทั้งผิวดินและใต้ดินไม่ค่อยดีนัก ทั้งนี้ ทั้งสองปัญหาก็เกิดจากการใช้น้ำมากเกินไป และการปล่อยพวกสารอาหารส่วนเกินและยาฆ่าแมลงลงพื้นดิน และหลังจากนั้น พวกมันก็ซึมลงสู่แหล่งน้ำ
ดังนั้น การลดการใช้น้ำ และเปลี่ยนสู่การทำการเกษตรอินทรีย์และยั่งยืน จึงเป็นวิธีช่วยปรับปรุงปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำ แต่อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคด้วย