SHORT CUT
หลายประเทศกำลังเผชิญกับภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่ในรอบทศวรรษ ที่แม้จะสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยต่างกัน แต่ก็มีปัจจัยร่วมที่ทั่วโลกต้องยอมรับว่ายังไม่มีความพร้อมที่จะรับมือ นั่นคือ 'ผลกระทบจากวิกฤติโลกร้อน'
ในช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา 'สภาพอากาศเลวร้าย' ได้สร้างหายนะให้กับหลายพื้นที่ทั่วโลก
จีนต้องรับมือกับพายุโซนร้อนถึง 3 ลูก ที่พัดถล่มในเวลาไล่เลี่ยกัน หนึ่งในนั้นคือ 'ซูเปอร์ไต้ฝุ่นยางิ' ที่สร้างความเสียหายตลอดเส้นทางตั้งแต่ ฟิลิปปินส์ จีน เวียดนาม เมียนมา ไทย และสปป.ลาว ที่ล้วนต้องเผชิญกับวิกฤติน้ำท่วมรุนแรงที่สุดในรอบหลายปี ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
ยุโรปตอนกลางและตะวันออก ต้องเผชิญกับพายุบอริสที่ทำให้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ โดยเฉพาะบริเวณพรหมแดนระหว่างสาธารณรัฐเช็กและโปแลนด์ที่รับผลกระทบหนักเป็นพิเศษ มีรายงานผู้เสียชีวิตและผู้ที่ยังสูญหายจำนวนมาก กลายเป็นสัญญาณเตือนที่ทำให้ทั่วโลกตระหนักว่า แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วก็ยังไม่พร้อมรับมือภัยพิบัติในระดับนี้
รัฐนอร์ท แคโรไลนา ของสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับน้ำท่วมหนักเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากพายุหมุนโซนร้อนที่ทำให้เกิดฝนตกหนักระดับที่มีโอกาสเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในรอบ 1,000 ปี ท่ามกลางความกังวลว่าหลังจากนี้นอร์ท แคโรไลนา อาจต้องเตรียมใจรับมือกับน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งจนกลายเป็นเรื่องปกติ
ไนจีเรียต้องเผชิญกับอุทกภัยที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายสิบปี หลังจากที่มีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันทั่วแอฟริกา รวมถึงการระบายน้ำจากเขื่อนของประเทศเพื่อนบ้าน ทางการต้องออกคำเตือนน้ำท่วมใน 11 รัฐ ผู้คนนับล้านได้รับผลกระทบ หลายแสนคนต้องไปอาศัยในค่ายผู้ลี้ภัย และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากเช่นกัน
นี่คือผลกระทบจาก "ภาวะโลกร้อน" ที่เห็นได้ชัดที่สุด
แม้ภัยพิบัติในแต่ละพื้นที่ของโลกอาจเกิดขึ้นจากหลากหลายปัจจัยที่แตกต่างกัน แต่จากการศึกษาวิจัยโดยศูนย์วิจัยสภาพอากาศระหว่างประเทศในประเทศนอร์เวย์ที่เผยแพร่ในสัปดาห์นี้ พบว่าอุทกภัยที่เกิดขึ้น มีแน้วโน้มที่จะเชื่อมโยงกับ 'วิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ' อย่างชัดเจน
ตามข้อมูลของสภาป้องกันทรัพยากรธรรมชาติของสหรัฐฯ ระบุว่า หากโลกมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้ชั้นบรรยากาศสามารถกักเก็บน้ำไว้ได้มากขึ้น และหลังจากนั้นชั้นบรรยากาศยังสามารถระบายน้ำออกไปได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน หมายความว่า เมื่อโลกอุ่นขึ้น ฝนจึงมีแนวโน้มที่จะตกหนักและรุนแรงมากกว่าปกติ
นี่ไม่ใช่หายนะครั้งสุดท้าย
เหตุการณ์น้ำท่วมในสัปดาห์นี้เป็นเพียงตัวอย่างของปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้นในอนาคต เพราะอุณหภูมิของโลกยังมีแนวโน้มที่จะ 'ร้อนมากขึ้นกว่าเดิม' แต่หากประเทศต่างๆ ทั่วโลก สามารถบรรลุเป้าหมายในการ 'ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์' ภายในปี 2050 ก็มีความเป็นไปได้ที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบร้ายแรงที่สุด
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรงที่เกิดยังถือเป็นการเตือนใจว่า ทั่วโลกจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์สภาพอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น และมุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอันดับแรก