svasdssvasds

เปิดใจเกษตรกร "สวนส้มแม่อาย" จ.เชียงใหม่ ในวันที่รับน้ำไม่ไหวอีกแล้ว

เปิดใจเกษตรกร "สวนส้มแม่อาย" จ.เชียงใหม่ ในวันที่รับน้ำไม่ไหวอีกแล้ว

คอลัมน์ Keep The World พาผู้อ่านทุกท่านลัดเลาะเที่ยว สวนส้มไร่ยอดดอย อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ เพื่อพูดคุยกับ นครินทร์ มานะบุญ หลังได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำฝนที่ผิดปกติ จนตัดสินใจยกเลิกจำหน่ายส้มฟรีมองต์ของฤดูกาลนี้ พร้อมหาคำตอบว่า น้ำมากไป ทำไมไม่ใช่เรื่องดี?

สำนวนไทย ‘คอยเหมือนข้าวคอยฝน’ มีความหมายว่า รอคอยด้วยความหวัง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ฝนในสำนวน กับฝนจริง ที่ตกลงมาอย่างไม่หยุดหย่อนในจังหวัดเชียงใหม่ มีความหมายทั้งคล้ายและแตกต่างในเวลาเดียวกัน เพราะขณะนี้เกษตรกรเชียงใหม่ต่างรอคอยให้ ‘ฝนหยุดตกด้วยความหวัง’

“บางคนอาจจะคิดว่าทำการเกษตรดีเนอะ ปีนี้ฝนดี ไม่แล้ง ผลผลิตน่าจะดี แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ มันตรงกันข้ามกันเลย”

นี่คือคำกล่าวของ นครินทร์ มานะบุญ เกษตรกรจากสวนส้มไร่ยอดดอย อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ที่ SPRiNG ยกหูสอบถามสถานการณ์สวนส้มหลังถูกฝนตกหนักติดต่อกันหลายเดือน จนเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 67 ที่ผ่านมา ทางสวนประกาศผ่านเพจ ‘สวนส้มไร่ยอดดอย’ ว่า ฤดูกาลนี้ต้องงดจำหน่ายส้มรอยัลฟรีมองต์ โดยให้เหตุผลดังนี้

นครินทร์ มานะบุญ เกษตรกรจากสวนส้มไร่ยอดดอย อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่

“ฤดูกาลส้มของปีนี้ถือว่าท้าทายพวกเราชาวสวนส้มไร่ยอดดอยเป็นอย่างมาก พวกเราประสบปัญหาเรื่องของปริมาณน้ำฝนที่มากกว่าทุกๆ ปี ต่อสู้กับพายุลูกแล้วลูกเล่า ทั้งเกิดน้ำป่าไหลหลาก และดินสไลด์ ด้วยปริมาณฝนที่เยอะนั้น ทำให้เกิดการดูดน้ำของต้นส้มมากกว่าปกติ ส่งผลต่อคุณภาพของผลส้ม ทำให้รสชาติไม่จัดจ้านเนื่องจากมีปริมาณน้ำมากเกินไปค่ะ”

SPRiNG ขออาสาเป็นไกด์พาผู้อ่านไปสำรวจผลกระทบที่สวนผลไม้แห่งนี้ได้รับ อันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติที่รุนแรงเกินกว่ามนุษย์จะต้านทานได้ เพื่อจะให้ภาพรวมของปัญหาให้มากยิ่งขึ้น และอาจได้คำตอบว่า “น้ำมากไป ทำไมถึงไม่ใช่เรื่องดี”

ลานีญา: ต้นตอฝนตกมากผิดปกติ

“ถ้าโซนแม่อาย เจอปัญหาเดียวกันหมด (ฝนกระหน่ำ) บางสวนเขาปล่อยจอยแล้ว มันทำอะไรไม่ได้แล้ว ผลผลิตไม่ได้ ล้งกดราคา หรือแม้กระทั่งผลไม้ชนิดอื่นก็ตาม” นครินทร์ กล่าวกับ SPRiNG

เป็นเวลากว่า 1 เดือน หลังแม่อาย จ.เชียงใหม่ ถูกน้ำท่วมหนัก ซึ่งทางสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ เผยว่า นี้คือน้ำท่วมที่หนักที่สุดในรอบ 30 ปี ของอำเภอแม่อาย ในตัวเมืองถูกน้ำผสมโคลนไหลท่วมถนนทุกเส้นทาง และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 6 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 17 ต.ค. 67)

“ทุกคนจะคิดว่ามันมีปัญหาเฉพาะพื้นที่ราบ แต่จริง ๆ แล้วพื้นที่สวนเนี่ยก็ได้รับความเสียหายเหมือนกัน เนื่องจากมันเป็นพื้นที่อยู่บนเขา เวลาฝนตกหนัก ๆ ดินก็จะอุ้มไว้ ถ้าเป็นเด็กเราคงจินตนาการว่าดินเปียกชุ่มเราก็เอามาปั้นเล่น แต่ความเป็นจริงคือน้ำมันเยอะจนดินอุ้มน้ำไม่ไหว มันเลยถล่มลงมาแบบที่เห็น”

เปิดใจเกษตรกร \"สวนส้มแม่อาย\" จ.เชียงใหม่ ในวันที่รับน้ำไม่ไหวอีกแล้ว

เปิดใจเกษตรกร \"สวนส้มแม่อาย\" จ.เชียงใหม่ ในวันที่รับน้ำไม่ไหวอีกแล้ว

นครินทร์ กล่าวถึงเหตุการณ์ดินถล่ม ที่พรากชีวิตของผู้ใหญ่บ้านบ้านดอยแหลม ซึ่งบริเวณดังกล่าวคือทางขึ้นดอย ที่อยู่ห่างจากสวนส้มไร่ยอดดอยประมาณ 3 กิโลเมตร และถนนในบางเส้นถูกตัดขาดเนื่องจากดินสไลด์ รถไม่สามารถสัญจรได้

ปริมาณน้ำฝนที่มากเกินไป อาจเป็นผลพวงมาจากปรากฏการณ์ลานีญา ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ลานีญาในช่วงเดือน ก.ค. ถึง ก.ย. 2567 และจะต่อเนื่องไปจนถึงช่วง พ.ย. 2567 ถึง ม.ค. 2568 ซึ่งคาบเกี่ยวอยู่ในช่วงเวลานี้พอดี

“ปีนี้ฝนมาเยอะจริง ๆ ไม่มีฤดูร้อน ไม่มีฤดูหนาว มีแต่ฤดูฝน ตอนนี้ก็ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่ลุ้นอย่างเดียวเลย ก็หวังว่าเข้าหน้าหนาวแล้วฝนมันจะน้อยลง เกษตรกรเจอฝนแบบนี้ไม่มีใครแฮปปี้หรอก คิดไม่ออกเลยว่ามันจะแฮปปี้ยังไง”

อย่างไรก็ดี สวนส้มไร่ยอดดอย อายุเกือบ 30 ปี มีพื้นที่ 80 ไร่ นครินทร์ เปิดเผยว่า เจ้าตัวเข้ามารับช่วงต่อจากพี่ชายที่ล้มป่วยด้วยอาการบาดเจ็บที่หลัง ปัจจุบัน จึงมีหน้าที่ดูแลด้าน Branding นวัตกรรม และบริหารจัดการในภาพรวมทั้งหมด

สวนส้มไร่ยอดดอย ตั้งอยู่ห่างจากชายแดนประเทศเพื่อนบ้านราว 3 กิโลเมตร ด้านหน้าเป็นทางลาด ส่วนด้านหลังเป็นแนวสันเขา และอยู่จุดสูงสุดของแม่อาย ถนนหนทางในการสัญจรค่อนข้างลำบาก โดย นครินทร์ เปิดเผยว่า ใช้เวลาเดินทางจากตัวเมืองเชียงใหม่มาถึงสวนอาจกินเวลาราว 3-4 ชม.

เปิดใจเกษตรกร \"สวนส้มแม่อาย\" จ.เชียงใหม่ ในวันที่รับน้ำไม่ไหวอีกแล้ว

น้ำฝนเยอะเกิน สวนส้มได้รับผลกระทบอย่างไร?

หลังจากที่ได้รับการยืนยันจากเกษตรแล้วว่า ปีนี้ ปริมาณน้ำฝนจังหวัดเชียงใหม่มากผิดวิสัยจริง ๆ SPRiNG ชวนไปดูกันต่อว่า ในสภาวะที่มีน้ำฝนมากเกินไป สวนส้มที่ตั้งตระหง่านอยู่บนยอดดอยจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง ซึ่งนครินทร์ได้นับนิ้ว และสกัดออกมาเป็น 6 ข้อดังนี้

1. ดินถล่ม ต้นส้มโค่น

นครินทร์ อธิบายว่า สวนส้มไร่ยอดดอย ไม่ได้ใช้ยาฆ่าหญ้า แต่ใช้ไครโคเดอร์มา (เชื้อราดี) เข้าไป เพื่อทำให้ดินร่วนซุยแบบพอดี แต่ฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ดินก็ยิ่งร่วนซุบหนักเข้าไปใหญ่ ปัญหาที่ตามมาคือดินถล่ม ดินสไลด์ รากต้นส้มก็เอาไม่อยู่ “ส้มในสวนเสียหายไป70-80 ต้นเห็นจะได้ ขนาดต้นส้มผมอายุ 20 กว่าปีนะ”

เปิดใจเกษตรกร \"สวนส้มแม่อาย\" จ.เชียงใหม่ ในวันที่รับน้ำไม่ไหวอีกแล้ว

2. โรคพืช ผลส้มเน่า

ถือเป็นปัญหาที่กวนใจเกษตรกรมายาวนาน ซึ่งทางสวนส้มไร่ยอดดอยก็ประสบปัญหานี้ จึงมีการวางแผนที่จะพ่น หรือหว่านปุ๋ยเพื่อป้องกันบรรดาโรคพืชต่าง ๆ อาทิ โรคกรีนนิ่ง (Citrus greening disease) โรคแคงเกอร์ หรือเพลี้ยไฟ ซึ่งชอบอากาศชื้นบนดอยมาก “เราวางแผนพ่นกันมาดิบดี แต่ยังไม่ทันได้ทำอะไร ฝนมาอีกแล้ว ถ้าเปรียบเป็นการต่อยมวย เราเอาการ์ดลงเมื่อไหร่ (ถูกชก) หน้าแตกทันที” นครินทร์ กล่าว

เปิดใจเกษตรกร \"สวนส้มแม่อาย\" จ.เชียงใหม่ ในวันที่รับน้ำไม่ไหวอีกแล้ว

3. ลูกเห็บทำผลส้มเสียหาย

หยาดน้ำฟ้าที่ร่วงหล่นลงมาในสวนส้มไร่ยอดดอยมีตั้งแต่ขนาดเท่ายาพารา หัวนิ้วโป้ง เรื่อยไปจนถึงขนาดใหญ่เท่ากำปั้น ผลกระทบที่ตามมาคือลูกเห็บหล่นโดนผลส้มแตก “มันทะลุหลังคาบ้านเลย” เกษตรกรคนเดิม กล่าว

เปิดใจเกษตรกร \"สวนส้มแม่อาย\" จ.เชียงใหม่ ในวันที่รับน้ำไม่ไหวอีกแล้ว

4. ผลส้มแตกเพราะดูดน้ำเยอะเกินไป

จากคำบอกเล่าของนครินทร์ เชียงใหม่มีฝนตกต่อเนื่องกันมาเป็นเวลา 2-3 เดือน ห้วงเวลาตรงนี้รากไม้จะดูดน้ำขึ้นไป โดยไม่มีหยุดพัก ซึ่งถือว่าอันตรายในมุมมองของเกษตรกร “ต้นไม้มันไม่สามารถบอกว่าอย่าไปดูดน้ำเพิ่มนะ มันทำไม่ได้  หน้าที่เดียวของต้นไม้คือดูดน้ำขึ้นไป ถ้าเป็นช่วงที่แล้งจัด แล้วเจอฝนแรก ผลส้มแตก เพราะมันดูดน้ำขึ้นไปเยอะจนผิวมันเต่ง มันขาดน้ำมาเยอะ พอได้กินก็กินเยอะเหมือนคนท้องแตก แต่ถ้าเป็นหน้าฝน ปัญหาที่พบบ่อยที่สุดคือเชื้อรา”

5. ส้มรสชาติไม่ดี

นครินทร์ เปิดเผยว่า รสชาติคือสิ่งที่ทางสวนส้มให้ความสำคัญมากที่สุด และมีการเช็กค่าความหวาน (Brix) อยู่ตลอด แต่เมื่อมีฝนตกมากเกินไป ปัญหาก็ตามมาทันที “อย่าลืมว่าต้นไม้มันดูดน้ำขึ้นจากล่างสุดขึ้นสู่ยอด สิ่งที่อยู่ใต้สุดมันคือผลส้ม น้ำมันก็จะไปอยู่ตามปลายกิ่ง ตามผลส้ม มันก็ทำให้คุณภาพผลส้มจืด”

เปิดใจเกษตรกร \"สวนส้มแม่อาย\" จ.เชียงใหม่ ในวันที่รับน้ำไม่ไหวอีกแล้ว

6. บริหารจัดการยากขึ้น

หากใครจำภูมิศาสตร์ของสวนส้มไร่ยอดดอยที่กล่าวไปข้างต้นได้ สวนตั้งอยู่บนพื้นที่ลาดชัน ดังนั้น ต้องใช้แรงงานเดินหวานปุ๋ย ตัดกิ่ง หรือจัดการปัญหาทั้ง 5 ข้อที่กล่าวมา แต่เมื่อฝนตกการเดินเหินที่ยากอยู่แล้ว ก็ยากขึ้นไปอีก “ เวลาพ่นยา ดูแลใส่ปุ๋ย ขั้นตอนนี้เราใช้แรงงานคน พอฝนมันตกมันก็ทำงานยาก ลื่น ดินยุบ ทำงานกลางสายฝนมันยาก 5-6 เท่าเลยครับ”

เปิดใจเกษตรกร \"สวนส้มแม่อาย\" จ.เชียงใหม่ ในวันที่รับน้ำไม่ไหวอีกแล้ว

ตัดสินใจเลิกจำหน่ายส้มฟรีมองต์ในฤดูกาลนี้

นครินทร์ ให้ข้อมูลว่าโดยปกติแล้วช่วงต้นเดือนตุลาคมทางสวนจะเริ่มขายส้มฟรีมองต์แล้ว จากนั้นจะเปลี่ยนไปขายส้มสายน้ำผึ้งทองคำในช่วงเดือนพฤศจิกายน แต่ด้วยเหตุผลบางอย่างทำให้สวนส้มไร่ยอดดอยตัดสินใจไม่ขายส้มฟรีมองต์ SPRiNG ชวนฟังเหตุผลของการตัดสินใจในครั้งนี้กัน

ในความคิดเห็น หรือรสนิยมความชอบของผู้อ่าน ส้มฟรีมองต์ต้องมีรสชาติแบบไหนถึงเรียกอร่อยถูกปาก เกษตรกรสวนส้มคนเดิมได้บรรยายให้ฟังว่าส้มฟรีมองต์ที่ดีในตำราของสวนส้มไร่ยอดดอย มีอยู่ 3 ข้อด้วยกันที่ต้องติ๊กถูกทั้งหมด

1. สีต้องส้มจัด

นครินทร์เล่าให้ฟังว่า สวนของตนพัฒนาสายพันธุ์ส้มฟรีมองต์ขึ้นมาเอง สีจะส้มจัด โดยให้นึกถึงสีส้มบนยาหม่องตราถ้วยทอง และเนื่องบนดอยมีความกดอากาศค่อนข้างสูง เหตุผลข้อนี้จะทำให้ส้มฟรีมองต์เป็นรูปแป้น แตกต่างจากส้มที่ปลูกบนพื้นราบจะมีผลกลม

2. กลิ่น

หากจะพูดว่านี่คือเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของส้มฟรีมองต์ก็พูดได้ ความกดอากาศสูงบนดอยทำให้ต่อมน้ำมันบนผิวส้ม จะทำให้ส้มมีกลิ่นเฉพาะตัว และขัดนิดขัดหน่อยส้มฟรีมองต์ก็จะมันเงา เพราะมีต่อมน้ำมันอยู่เยอะ

3. ค่าความหวาน (Brix)

อย่างที่กล่าวไปว่า ทางสวนมีการตรวจเช็กค่าความหวานอยู่ตลอด ซึ่งค่าความหวานของส้มแต่ละพันธุ์ก็จะแตกต่างกันออกไป โดยส้มฟรีมองต์ต้องมีค่า Brix อยู่ที่ 11-12 (เปรี้ยวนำหวานตาม), ส้มสายน้ำผึ้งต้องมีค่า Brix อยู่ที่ 15-16 (อมเปรี้ยวอมหวาน) และ Honey Ocean ต้องมีค่า Brix แตะ 17 (หวานฉ่ำที่สุด)

ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ส้มฟรีมองต์ในฤดูกาลนี้ ซึ่งเผชิญกับฝนที่มากปกติ จนเกิดผลกระทบดังที่กล่าวไป คุณภาพไม่ถึงมาตรฐานที่ตั้งเอาไว้ ทางสวนจึงตัดสินใจยกเลิกจำหน่ายส้มฟรีมองต์ไป แต่อย่างไรก็ดี ทางสวนได้ส่งส้มฟรีมองต์ไปขายให้ล้งเพื่อนำไปเข้าโรงงานทำน้ำส้ม แม้รสชาติจืด แต่กลิ่นยังดีอยู่

เปิดใจเกษตรกร \"สวนส้มแม่อาย\" จ.เชียงใหม่ ในวันที่รับน้ำไม่ไหวอีกแล้ว

เปิดใจเกษตรกร \"สวนส้มแม่อาย\" จ.เชียงใหม่ ในวันที่รับน้ำไม่ไหวอีกแล้ว

“อย่างที่บอกไปว่ามีฝนตกอยู่ตลอด นับรายชั่วโมงได้เลย ทางที่ขึ้นมาสวนผมไม่เคยดินถล่มเลย แต่รอบนี้มันถล่มหนัก จริง ๆ มันก็มีช่วงเว้นว่างอยู่บ้าง ตกเบาบ้างหนักบ้าง แต่มันตกตลอด ตกเหมือนอยู่เกาะเลย”

“จะฉีดยาก็ไม่ได้ ใส่ปุ๋ยก็ไม่ได้ เหมือนเราไปละลายน้ำทิ้ง ปกติแล้ว เราให้ปุ๋ยทางใบกับพื้น หลังจากนั้นก็ปล่อยไว้ 2 อาทิตย์  ระหว่างนั้นก็ไปตัดแต่งเล็มกิ่ง แล้วรอเวลาเก็บเกี่ยว แต่พอฝนเป็นแบบนี้ หวานปุ๋ยไปมันก็ล้างลงดินหมด” นครินทร์ กล่าว ซึ่งเจ้าตัวเปิดเผยว่ามีใช้แค่สวนส้มไร่ยอดดอยที่ประสบปัญหานี้ สวนผลไม้อื่น ๆ ในแม่อาย หรืออาจจะทั่วเชียงใหม่ต่างทุกข์ตรมต่อภัยธรรมชาติไม่ต่างกัน

สำหรับใครที่อ่านไปแล้วน้ำลายหก และอยากอุดหนุนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ สามารถอุดหนุนส้มอร่อย ๆ จากสวนส้มไร่ยอดดอย จ.เชียงใหม่ ได้ที่ เพจ สวนส้มไร่ยอดดอย

ทั้งนี้ SPRiNG อยากชวนผู้อ่านฉุกคิดสักเล็กน้อยว่า ในยุคโลกรวน ที่เจอทั้งภัยแล้ง เอลนีโญ ลานีญา ซึ่งทำให้ฟ้าฝนตกมากผิดปกติ ได้ส่งผลกระทบไปทั่วทุกหย่อมหญ้า และ front-end อย่าง เกษตรปลูกผักผลไม้ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับฟ้ากับฝน คือผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรก ๆ

“อาชีพเกษตรกรมันยากจริง ๆ มันวัดกันตามฤดูกาล ว่าฤดูกาลนี้ทำดีหรือไม่ดี ฟ้าฝนเป็นใจหรือไม่ ถึงยังไงผมก็ขอเป็นกำลังใจให้เกษตรกรทุกท่านนะครับ”

 

เรื่อง: วงศกร ลอยมา

ภาพ: สมชาย พัวประเสริฐสุข

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related