svasdssvasds

รูโหว่ของชั้นโอโซนกำลังฟื้นตัว หลังทั่วโลกลดใช้สารทำลายโอโซนตามข้อตกลง

รูโหว่ของชั้นโอโซนกำลังฟื้นตัว หลังทั่วโลกลดใช้สารทำลายโอโซนตามข้อตกลง

ชั้นโอโซนโลก ซึ่งเคยได้รับความเสียหายจากสารเคมีเมื่อราว 50 ปีก่อน กำลังฟื้นตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง หลังทั่วโลกให้ความร่วมมือลดการใช้สารทำลายชั้นโอโซน

SHORT CUT

  • องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกมีรายงานว่า ชั้นโอโซนของโลกซึ่งได้รับความเสียหายจนเป็นรูโหว่เมื่อราว 50 ปีก่อน ยังคงฟื้นตัวได้ดี
  • สหประชาชาติ ยกย่องว่าความคืบหน้าดังกล่าวเป็นผลมาจาก พิธีสารมอนทรีออล ซึ่งเป็นข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศให้ลดการใช้สารทำลายโอโซน
  • นักวิทยาศาสตร์จะยังคงติดตามการฟื้นตัวของโอโซนอย่างใกล้ชิด ในกรณีที่อาจมีปัจจัยส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต

ชั้นโอโซนโลก ซึ่งเคยได้รับความเสียหายจากสารเคมีเมื่อราว 50 ปีก่อน กำลังฟื้นตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง หลังทั่วโลกให้ความร่วมมือลดการใช้สารทำลายชั้นโอโซน

รายงานโอโซนและรังสียูวี ฉบับล่าสุดขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ซึ่งเผยแพร่ตรงกับวันโอโซนโลก (16 ก.ย. 67) ระบุว่า ชั้นโอโซนของโลกซึ่งได้รับความเสียหายจนเป็นรูโหว่ในช่วงทศวรรษปี 1970 และ 1980 เนื่องจากการใช้สารที่ทำลายโอโซนนั้น ยังคงฟื้นตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรูโหว่ชั้นโอโซนเหนือทวีปแอนตาร์กติกา

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ เปิดเผยว่า การควบคุมปริมาณการใช้สารที่มีผลทำลายชั้นโอโซน ไม่เพียงเป็นการช่วยปกป้องชั้นโอโซนสำหรับคนรุ่นนี้และรุ่นต่อๆ ไปเท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยอย่างมากต่อความพยายามระดับโลกในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งยังช่วยปกป้องสุขภาพของมนุษย์และปกป้องระบบนิเวศ ด้วยการจำกัดรังสีอัลตราไวโอเลตหรือรังสียูวีไม่ให้มาถึงโลก

รูโหว่ของชั้นโอโซนกำลังฟื้นตัว หลังทั่วโลกลดใช้สารทำลายโอโซนตามข้อตกลง

การควบคุมปริมาณสารดังกล่าวนั้นเริ่มมาจากการแก้ไขคิกาลี ต่อ พิธีสารมอนทรีออล ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อลดการใช้และการผลิต "ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน" (HFCs) สารที่ใช้ในการปรับอากาศและเป็นสารหล่อเย็น ซึ่งเป็นอันตรายต่อชั้นโอโซน และทำให้เกิดภาวะโลกร้อนได้มากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์หลายพันเท่า

ขณะที่รายงานระบุว่า ค่าโอโซนในปี 2566 มีการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับการลดลงของสารอย่างคลอรีนและโบรมีน ตัวการที่ทำลายโอโซนในชั้นสตราโตสเฟียร์ แม้จะเกิดการปะทุของภูเขาไฟในปี 2022 ที่สร้างความกังวลว่าจะซ้ำเติมความเสียหายของชั้นโอโซนก็ตาม

รูโหว่ของชั้นโอโซนกำลังฟื้นตัว หลังทั่วโลกลดใช้สารทำลายโอโซนตามข้อตกลง

คาดว่าชั้นโอโซนกำลังอยู่ในสภาวะ "ฟื้นตัวระยะยาว" จนชั้นโอโซนส่วนใหญ่ของโลกอาจจะกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับเมื่อปี 1980 ภายในราวๆ ปี 2040 ส่วนชั้นโอโซนบริเวณพื้นที่อาร์กติกและแอนตาร์กติกา อาจใช้เวลานานกว่า จนถึงช่วงราวๆ ปี 2045 - 2066

แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงของรูโหว่ชั้นโอโซนกำลังเป็นไปในทิศทางที่ดี แต่การเปลี่ยนแปลงของชั้นบรรยากาศก็สามารถส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของชั้นโอโซนได้เช่นกัน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยังคงติดตามสถานการณ์ของชั้นโอโซนอย่างละเอียดต่อไป เพื่อทำความเข้าใจและเตรียมรับมือความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต