SHORT CUT
แนวปะการัง สร้างระบบนิเวศน์ที่หลากหลาย โดยเป็นที่อยู่อาศัยของ 1 ใน 4 ของปลาทะเลทั้งหมด พวกมันกำลังถูกทำร้ายด้วยความร้อนจากน้ำทะเล การทำประมงที่มากเกิน และปัญหามลพิษ
นักวิจัยพบว่า เหล่าฉลามกำลังละทิ้งบ้านตามแนวปะการัง เพราะโลกที่ร้อนขึ้น ทำให้น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้นจนพวกมันเริ่มทนไม่ไหว โดยสิ่งนี้เป็นการทำร้ายฉลามและแนวปะการังไปพร้อมๆกัน เพราะการที่ฉลามอาศัยอยู่แถวแนวปะการังมีส่วนสำคัญในการช่วยสร้างระบบนิเวศน์ที่หลากหลาย
นักวิจัยได้เฝ้าติดตามฉลามจ้าวมัน หรือฉลามสีเทากว่า 120 ตัวที่อาศัยอยู่ในแนวปะการังห่างไกลของหมู่เกาะชากอส ในมหาสมุทรอินเดีย ระหว่างปี 2013-2020 และพบว่า เมื่อตอนที่ปะการังเริ่มมีความเครียดมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ปัญหาฟอกขาวได้ เหล่าฉลามจะใช้เวลาอยู่กับแนวปะการังน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปี 2015-2016 ที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ จนเป็นสาเหตุทำให้มหาสมุทรร้อนขึ้น และพวกมันก็ยังไม่สามารถกลับมายังที่อยู่อาศัยตามปกติได้นานถึง 16 เดือนหลังเกิดเหตุการณ์ปะการังเครียด
อย่างไรก็ตาม เมื่อฉลามใช้เวลาอยู่กับแนวปะการัง แนวปะการังก็จะมีสุขภาพแข็งแรงและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยต่างๆ แต่ฉลามเป็นสัตว์เลือดเย็น และมีอุณหภูมิร่างกายที่เชื่อมโยงกับอุณหภูมิน้ำ ถ้าหากว่ามันร้อนเกินไป พวกมันก็จำเป็นต้องย้ายที่อยู่
ดร.เดวิด จาโคบี วิทยากรด้านสัตววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแลนคาสเตอร์ และเป็นผู้นำโครงการวิจัยดักงล่าวเปิดเผยว่า เราคิดว่าฉลามจำนวนมากเลือกที่จะเดินทางออกนอกชายฝั่งมากขึ้น ไปยังน้ำที่ลึกขึ้นและเย็นมากขึ้น ซึ่งน่าเป็นกังวล เพราะฉลามส่วนหนึ่งกำลังหายไปจากแนวปะการังเป็นเวลานาน โดยพบว่า ฉลามจ้าวมันได้หายไปจากเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ของแนวปะการังทั่วโลก ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการตกปลาของมนุษย์ และงานวิจัยนี้ก็ยังพบความเป็นไปได้เรื่องน้ำทะเลที่ร้อนขึ้นทำให้พวกมันหายไป
ทั้งนี้ แนวปะการังสร้างระบบนิเวศน์ที่หลากหลาย โดยเป็นที่อยู่อาศัยของ 1 ใน 4 ของปลาทะเลทั้งหมด แต่พวกมันก็ถูกทำร้ายด้วยความร้อนจากน้ำทะเล การทำประมงที่มากเกิน และปัญหามลพิษ นอกจากนี้ แนวปะการังส่วนมากอาจจะหายไปถ้าหากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นอีก 2 องศาเซลเซียส และคาดว่า ปะการังส่วนใหญ่จะเป็นอันตรายหนักจากปรากฏการณ์ฟอกขาวที่เกิดขึ้นทุกปีภายในกลางศตวรรษนี้ แม้ว่าชาติต่างๆจะสามารถปฏิบัติตามการให้คำมั่นสัญญาในข้อตกลงปารีสก็ตาม
ที่มา