SHORT CUT
กรมอุตุนิยมวิทยาเผย พายุจะเข้าไทยจริง 2 ลูก เดอืนกันยายน-ตุลาคม ส่งผลให้ฝนตกหนักมากขึ้น โลกร้อน-ต้นไม้ลดลง มีส่วนทำให้อากาศโลกแปรปรวนขึ้น ส่งผลให้ภัยพิบัติรุนแรงขึ้น
28 ส.ค. 2567 ว่าที่ร้อนตรี ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวสปริงนิวส์ในคอลัมน์ Keep The World ถึงกรณีพายุที่จะเข้าไทยในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2567 ว่า
จากการคาดการณ์ของกรมอุตุฯ จะมีพายุเข้ามาประเทศไทยโดยตรงประมาณ 1-2 ลูก นอกจากนี้ยังมีพายุที่อ้อมเข้ามาด้วย อาจจะสลายตัวที่เวียดนามตอนบน หรือลาวตอนบน หรืออาจเลี้ยวโค้งไปทางอ่าวตังเกี๋ย ซึ่งอาจมีผลกระทบกับประเทศไทยด้วย เพราะพายุจะทำให้ร่องมรสุมแรงขึ้น
แต่ ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีพายุเข้า เป็นผลมาจากอิทธิพลของร่องมรสุมที่มีกำลังแรงบ้างเบาบ้างตามช่วงระยะเวลาต่าง ๆ มันเลยทำให้ฝนตกซ้ำ ๆ กัน อย่างเช่นตอนนี้ ร่องมรสุมพาดผ่านอยู่ที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ฝนในบริเวณนั้นจะตกซ้ำ ๆ ในบริเวณเก่า ๆ ฝนตกสะสมหลายวัน เลยทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากอย่างที่เราเห็นที่เกิดขึ้นในภาคเหนือขณะนี้
ส่วนฝนที่ตกเฉพาะจุดและมีดินโคลนถล่ม มีน้ำท่วม อย่างที่เราเห็นที่ภูเก็ต วันนี้ก็ยังมีฝนตกชุกขึ้น โดยเป็นผลมาจากอิทธิพลร่องมรสุมลมตะวันตกเฉียงใต้ที่มีกำลังแรงขึ้นบางช่วง และอ่อนลงไป และก็แรงขึ้นอีก ตามลักษณะของอากาศที่ทำให้ฝนตกชุกหนาแน่นทั่วประเทศไทย แต่ว่า แต่ละพื้นที่จะมีปริมาณฝนที่ตกไม่เท่ากัน แต่การกระจายดี
บางจุด บางช่วง บางจังหวะ ฝนอาจจะมีปริมาณมากกว่าปกติ แต่โดยรวมยังไม่ถึงขนาดนั้น บางพื้นที่อาจจะมีมากกว่า 35 มิลลิเมตร บางพื้นที่อาจมีมากกว่า ร้อยมิลลิเมตร เช่นภูเก็นเมื่อคืนมีปริมาณฝนค่อนข้างเยอะ ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคตะวันออกก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะบริเวณรับลมมรสุม
ความจริงภาคเหนือไม่ได้ห่างจากทะเลมากนัก เพราะว่าประเทศเมียนมามีอ่าวเบงกอลซึ่งห่างกับไทยไม่กี่กิโลเมตร ลมมรสุมก็สามารถพัดผ่านทะเลนำเอาความชื้นไปสะสมเข้าระลอกมรสุม ทำให้อากาศมีความปั่นป่วน มีฝนเยอะ
การเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศมันเป็นไปทั้งโลกทั้งใบ ไม่ใช่เกิดเฉพาะแค่ประเทศไทยที่เดียว เพราะฉะนั้นความสมดุลความร้อนของโลกใบนี้มันเปลี่ยนไป เกิดจากการใช้ประโยชน์ในที่ดิน เช่น มีตึกรามบ้านช่องมากขึ้น ถนนหนทางเยอะขึ้น ป่าไม้ที่เคยมีกลับลดลง เพราะฉะนั้นสมดุลความร้อนเปลี่ยนแปลง ลักษณะอากาศแปรปรวนก็ต่างกันไป
ตรงไหนที่มีความร้อนมาก ๆ และมีความชื้นเข้ามาผสมอย่างรุนแรง ก็จะทำให้เกิดลักษณะอากาศแปรปรวนอย่างรุนแรง คือ มีฝนตกชุกหนาแน่น ตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งแต่ละพื้นที่มีโอกาสที่จะแบบนี้ได้ เพราะปัญหาของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate change มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงลักษณะอากาศของโลกใบนี้ในทุกพื้นที่
การคาดหมายลักษณะอากาศของประเทศไทยโดยกรมอุตุนิยมวิทยากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเราพัฒนามานาน เมื่อก่อนถ้าย้อนกลับไปประมาณ 20-5- ปี เราจะพยากรณ์อยู่สักประมาณ 50-60% ที่ตีความถูกต้องภายใน 24 ชั่วโมง
ปัจจุบันเรามีเครื่องไม้เครื่องมือมาช่วยให้การพยากรณ์อากาศแม่นยำมากขึ้น เราติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดลักษณะอากาศทั่วประเทศไทยมากขึ้น มีเรดาร์ตรวจอากาศเข้ามาใช้ มีภาพดาวเทียมเข้ามาใช้ มีแบบจำลองลักษณะภูมิอากาศกว่า 50 แบบในการพัฒนาเพื่อให้ใช้ได้ดีสำหรับประเทศไทย ซึ่งเราก็พัฒนามาจนถึงประมาณ 80-90% ใน 24 ชั่วโมงแล้ว
ถามว่ายากไหม ก็มีความยากในลักษณะที่ว่า เราอยู่ในประเทศเขตร้อน ลักษณะอากาศแปรปรวนไม่เหมือนกัน สภาพอากาศเหมาะสมตรงไหนมักจะเกิดฝนตรงนั้นเลย ไม่เหมือนประเทศเขตอบอุ่นหรือเขตหนาวที่ลักษณะอากาศของเค้าไหลเป็นระบบแล้วก็หมุนไปรอบโลก
เค้าถึงบอกได้ว่า อีก 5 นาทีจะมีฝนตกที่เขา แล้วก็จะตกอยู่ประมาณสองนาทีแล้วจะเลยผ่านไปนี่บอกได้เพราะมีอัตราเร็วที่มันเคลื่อนตัวอยู่ แต่ของเราไม่ใช่อย่างนั้น ฝนตกที่สมุทรสงครามอย่าคิดว่าจะไปตกที่ภาคอีสาน มันสลายไปแล้ว อย่าคิดว่ามันจะมาถึงกรุงเทพฯทุกลูกเสมอไป มันสลายไปแล้ว ส่วนที่มาปกคลุมกรุงเทพฯและปริมณฑลเนี่ยอาจจะเป็นลูกใหม่หรือลูกเดิมที่จางไปแล้ว นี่คือคือความยาก