svasdssvasds

เปิดสาเหตุ น้ำท่วมภาคเหนือ 2567 เกิดจากปัจจัยใด? โลกร้อนมีเอี่ยว

เปิดสาเหตุ น้ำท่วมภาคเหนือ 2567 เกิดจากปัจจัยใด? โลกร้อนมีเอี่ยว

โลกร้อนเป็นเหตุ ต้นตอน้ำท่วมภาคเหนือ 2567 ชวนวิเคราะห์ความเป็นไปได้ ปัจจัยใดบ้างที่ทำให้น้ำท่วมภาคเหนือ 2567 รุนแรง โลกร้อนมีส่วนเกี่ยวข้องจริงหรือไม่?

SHORT CUT

  • โลกร้อนมีส่วนเกี่ยวข้องทำให้ภาคเหนือปีพ.ศ. 2567เผชิญน้ำท่วมรุนแรง
  • นักวิชาการเผยว่า เป็นเพราะภาวะโลกร้อน ทำให้เกิดปรากฎการณ์ Rain Bomb ฝนตกที่เดิมเป็นระยะเวลานาน ๆ
  • นอกจากนี้ ช่วงนี้เป็นช่วงที่สภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนผ่านไปสู่ปรากฎการณ์ลานีญา
  • โลกร้อนไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่มีปัจจัยเสริมที่มาจากน้ำมือมนุษย์ด้วย

โลกร้อนเป็นเหตุ ต้นตอน้ำท่วมภาคเหนือ 2567 ชวนวิเคราะห์ความเป็นไปได้ ปัจจัยใดบ้างที่ทำให้น้ำท่วมภาคเหนือ 2567 รุนแรง โลกร้อนมีส่วนเกี่ยวข้องจริงหรือไม่?

โลกเปลี่ยน แต่ปัญหายังคงเดิม! ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้นทั่วโลก หลายประเทศเผชิญหน้ากับภัยพิบัติมากขึ้น และปีนี้ ประเทศไทยก็ถึงคิวเผชิญหน้าบ้างแล้ว!

UNFCCC (กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ได้พิจารณาว่า จากการวิเคราะห์ปีพ.ศ. 2559-2563 ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 81 จาก 191ประเทศ มีความเสี่ยงสูงต่อการเผชิญหน้ากับความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้ภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้น เช่น ฝนตกหนัก น้ำท่วม ภัยแล้ง ตลอดจน ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นกระทบต่อชายฝั่งของประเทศ

เปิดสาเหตุ น้ำท่วมภาคเหนือ 2567 เกิดจากปัจจัยใด? โลกร้อนมีเอี่ยว

ดังนั้น จากเหตุการณ์ล่าสุดของประเทศไทย น้ำท่วมหนักหลายจังหวัดในภาคเหนือปีพ.ศ. 2567 เกิดจากปัจจัยอะไรบ้าง เกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนหรือไม่ สปริงนิวส์ ในคอลัมน์ Keep The World ขอรวบรวมข้อสันนิษฐานทั้งจากผู้เชี่ยวชาญและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องมาให้ได้อ่านและวิเคราะห์กันต่อไป

ทำไมน้ำท่วมหนักหลายจังหวัดในภาคเหนือของไทย 2567

ฝนตกในปริมาณที่มากกว่าปกติและตกนอกเขื่อน เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของปรากฎการณ์ลานีญา

น้ำท่วมครั้งนี้เกิดจาก ฝนตกลงมาในปริมาณมากกว่าปกติ โดยในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา การกระจายตัวของฝน จะเห็นได้ว่า มีฝนตกสะสมตลอด 5-7 วัน โดยหลัก ๆ จะตกที่โซนล้านนาตะวันออก ตั้งแต่ฝั่งทางด้านใต้น้ำโขง แถวเชียงแสน เชียงคำ น่าน

ฝนที่ตกที่เดิมเป็นระยะเวลานานแบบนี้ เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ซึ่งก็เป็นเพราะช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อเข้าสู่ปรากฎการณ์ลานีญา อีกทั้ง ฝนยังตกนอกเขื่อนอีกต่างหาก ทำให้เก็บกักน้ำไว้ไม่ได้

ลานีญาและโลกร้อนทำให้ Rain Bomb เกิดได้ง่ายขึ้น

อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดช้อมและสุขภาพ และดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้กล่าวถึงภาวะระเบิดฝนไว้ว่า Rain Bomb คือภาวะของฝนที่ตกลงมาซ้ำ ๆ ตกแช่ในพื้นที่หนึ่งนาน ๆ หลายวัน  ซึ่งก็เกิดจากภาวะโลกร้อน เพราะน้ำที่ระเหยขึ้นไป ดันไปเจอกับอากาศผิดปกติ ซึ่งก็คืออากาศเย็นวิ่งออกมาเจอเมฆ ทำให้ฝนตกตรงนั้นทันที ไม่กระจายตัวเหมือนฝนปกติ ซึ่งนักวิชาการคาดว่า ปีนี้ไทยจะเกิดขึ้นบ่อยขึ้น

ระดับน้ำในแม่น้ำโขงสูงขึ้น จีนซ้ำเติมด้วยการปล่อยน้ำลงมาอีก

ระดับน้ำในแม่น้ำโขงสูงขึ้น มีการระบายน้ำมาจากเขื่อนทางตอนใต้ของจีน โดยนายวิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวชายขอบ บอกว่า ช่วงก่อนต้นเดือนสิงหาคม น้ำโขงขึ้นที่ระดับ 9 เมตร ก่อนจะลดลงในระดับ 4-5 เมตร และไม่กี่วันต่อมาก็ขึ้นมาระดับ 10 กว่าเมตร อันเป็นผลมาจากเขื่อนจีนระบายน้ำมา ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของ MRC หรือ คณะกรรมาธิการน้ำโขง รวมถึง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่ต้องตามหาความจริงต่อว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่?

ภูเขาหัวโล้นที่เพิ่มมากขึ้น

ผศ.ดร.มงคลกร ศรีวิชัย อาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา เชียงราย และอาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมงาน Keep The World ไว้ว่า

ภูเขาหัวโล้น เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้พื้นที่ภาคเหนือเก็บน้ำที่เกิดจากฝนตกหนักไว้ไม่ค่อยอยู่ โดยเฉพาะหากเกิดปรากฎการณ์ Rain Bomb และภาวะโลกร้อน เช่นนี้ จังหวัดน่านมีภูเขาหัวโล้นเยอะ เพราะเปลี่ยนพื้นที่เพื่อปลูกข้าวโพด หลังจากเก็บเกี่ยวและนำตอซังข้าวออก พื้นที่ตรงนั้นก็จะโล่ง โล้น ไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะดูดซับน้ำที่ไหลลงมาได้ น้ำเลยไหลไปรวมกันที่แม่น้ำน่าน และไหลต่อไปยังแหล่งน้ำใกล้เคียง แรงไม่แรงขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำ (ฝน) **ขึ้นอยู่กับพื้นที่

Cr. FB : Bobby Ralph

การพัฒนาเมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว การท่องเที่ยวก็บูม

เมืองทางภาคเหนือ ต้องยอมรับว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยบูมเรื่องการท่องเที่ยว ทำให้เมืองขยายตัวมากขึ้น มีการเปลี่ยนพื้นที่ป่า พื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่การเกษตร ไปเป็นพื้นที่สำหรับสร้างรีสอร์ท ร้านอาหาร หรือสถานที่เพื่อการท่องเที่ยว มีการขยายขึ้นไปทางเหนือมากขึ้น ซึ่งมันกีดขวางทางรับน้ำ 

นอกจากนี้ สิ่งหนึ่งที่คนกรุงเทพฯไม่ค่อยได้เจอคือ ระบบคูคลองต่าง ๆ ที่แตกต่างกันระหว่างเมืองหลวงและต่างจังหวัด ระบบคูคลองในกรุงเทพฯเดี๋ยวนี้ถูกพัฒนาขึ้นมีการลอกคลองบ่อย ๆ โดยใช้นักโทษมาลอกใต้ท่อ

แต่ที่ชนบทไม่มี พ่อเมืองส่วนใหญ่มักจะขยายถนน เมื่อก่อน ถนนจะมีคลองอยู่สองฝั่ง แต่การพัฒนาสมัยนี้ หากพ่อเมืองอยากจะขยายถนน จะใช้วิธีการวางท่อใต้ถนน ซึ่งหากรถบรรทุกวิ่งบ่อย ๆ หรือทำได้ไม่แข็งแรง ท่อก็จะเริ่มแตก ทำให้ประสิทธิภาพการระบายน้ำของชุมชนลดลง

สร้างฝายเยอะขึ้น ตะกอนสะสมน้ำไหลง่าย

มีฝายเยอะ ก็มีส่วน ฝายขนาดเล็กที่ไว้ใช้สำหรับเกษตรกร ที่ไว้กั้นน้ำตามชุมชนต่าง ๆ พอตะกอนไปกักไว้มาก ผลที่ตามมาคือฝายตื้น กั้นน้ำไม่ได้

พื้นที่ชุ่มน้ำของไทยลดลง ไม่มีแหล่งน้ำช่วยเก็บน้ำ

คำจำกัดความตามอนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ อธิบายว่า พื้นที่ Wetland หรือพื้นที่ชุ่มน้ำ คือ ที่ลุ่ม ที่ราบลุ่ม ที่ลุ่มชื้นแฉะ ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือมนุษย์สร้างขึ้นก็ได้ มีน้ำท่วมขังทั้งแบบถาวรและชั่วคราว สามารถมีทั้งแบบน้ำนิ่งและน้ำไหล เป็นน้ำจืด น้ำกร่อย หรือน้ำเค็มก็ได้ และเมื่อน้ำลดลงต่ำสุด มีความลึกของระดับไม่เกิน 6 เมตร

ลักษณะของพื้นที่ชุ่มน้ำ Cr.Douglas A. Wilcox, Todd A. Thompson, Robert K. Booth, and J.R. Nicholas - USGS Document แต่ปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนพื้นที่ชุ่มน้ำลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยมีปัจจัยมาจากการเปลี่ยนพื้นที่ทางธรรมชาติ เป็นพื้นที่ใช้สอยของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นรีสอร์ท สร้างบ้าน แหล่งเศรษฐกิจ การเกษตร โดยไม่ได้ศึกษาพื้นที่ว่าพื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่แบบใด ชั้นดินมีความแข็งแรงมากน้อยแค่ไหน

อนึ่ง สาเหตุน้ำท่วมอ่วมภาคเหนือปี 2567 นี้อาจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยรวมกัน หรือปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งอาจไม่ใช่สาเหตุจริง ๆ เป็นการวิเคราะห์ความเป็นไปได้จากนักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแค่ปัญหาน้ำท่วมหนักเท่านั้น ที่เราต้องตื่นตัว ในอนาคตวิกฤตภัยพิบัติจะรุนแรงมากขึ้น หากเราไม่ปรับตัวและเตรียมพร้อมในการตั้งรับภัยที่อาจจะเกิดขึ้น ตามคำแนะนำขององค์การสหประชาชาติ (United Nation) ที่รณรงค์ให้ผู้นำทั่วโลกเร่งพัฒนาประชาชนของตนให้พร้อมสามารถรับมือกับภัยธรรมชาติที่จะรุนแรงขึ้นในอนาคต

related