svasdssvasds

ย้อนเหตุการณ์ "อุทกภัย" น้ำท่วมใหญ่ กทม. จากอดีตถึงปัจจุบัน

ย้อนเหตุการณ์ "อุทกภัย" น้ำท่วมใหญ่ กทม. จากอดีตถึงปัจจุบัน

รวมเหตุการณ์ "น้ำท่วมใหญ่" ของไทย จากอดีตถึงปัจจุบัน สร้างผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน สภาพจิตใจประชาชน รวมไปถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เสียหายอย่างหนัก กระทบเป็นลูกโซ่ไปอีกหลายปี

กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย เป็นเสมือนศูนย์กลางของสถาบันต่างๆ ทั้งการปกครอง การศึกษา การคมนาคม โดยเฉพาะเศรษฐกิจ ทำให้หน่วยงานต่างๆ ให้ความสำคัญในการป้องกันน้ำท่วมมากกว่าพื้นที่อื่น

อย่างไรก็ตาม อย่างที่เราเคยกล่าวไว้ในบทความที่แล้ว หากมองกรุงเทพฯ ในเชิงภูมิศาสตร์จะพบว่า พื้นที่เมืองหลวงก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมมาไม่น้อย ด้วยพื้นที่เชิงภูมิศาสตร์ที่ต้องเผชิญกับมวลน้ำมหาศาลจากทุกทิศทาง

 ประเทศไทยเกิดน้ำท่วมใหญ่มาแล้วกี่ครั้ง

ย้อนเหตุการณ์ น้ำท่วมใหญ่

  • ปี 2485

ในปี 2485 ตั้งแต่ปลายเดือนก.ย. น้ำท่วมบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า สูงถึง 1.50 ม. ท่วมนานถึง 3 เดือน รวมถึงพื้นที่สำคัญๆ อีกหลายแห่งเช่น สถานีรถไฟหัวลำโพง ถ.เยาวราช อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภูเขาทอง ถ.ราชดำเนิน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นต้น

นับเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ เพื่อมากักเก็บน้ำ

  • ปี 2518

พายุดีเปรสชั่นได้พาดผ่านตอนบนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้มีปริมาณน้ำสูงทางภาคกลางตอนบน จนเป็นเหตุให้น้ำไหลทะลักเข้าท่วมกรุงเทพฯ

  • ปี 2521

เหตุการณ์น้ำท่วมอุบลราชธานี เกิดจากพายุ 2 ลูกคือ “เบส” และ “คิท” พาดผ่าน และมีน้ำไหลบ่าจากแม่น้ำป่าสักในปริมาณมาก ทำให้เกิดน้ำไหลบ่าจากทุ่งด้านตะวันออกเข้าท่วมพื้นที่กรุงเทพฯ

 

  • ปี 2526

ถือเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมที่ร้ายแรงครั้งหนึ่งในประเทศไทย เหตุเกิดเนื่องจากพายุดีเปรสชัน 2 ลูก พัดผ่านเข้ามายังในประเทศไทย คือ เฮอร์เบิร์ตและคิม ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักจนเขื่อน และอ่างเก็บน้ำที่รองรับปริมาณน้ำฝนรับไม่ไหว จนเกิดเป็นน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ, อีสาน และตะวันออก รวมเป็นหลังคาบ้านเรือนที่พักอาศัยกว่า 5,000 หลัง จากนั้นเกิดน้ำทะเลหนุน น้ำท่วมเข้า กทม.และปริมณฑล เกิดน้ำท่วมขัง รถยนต์ไม่อาจสัญจรได้

  • ปี 2537

เกิดพายุฝนฤดูร้อนถล่มกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในช่วงเดือนพฤษภาคม โดยเฉลี่ยทั่วเขตกรุงเทพฯ มีปริมาณน้ำฝน 200 มม. มากที่สุดในประวัติการณ์ เรียกกันว่า “ฝนพันปี” ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ตั้งแต่ เขตยานนาวา ย่านสะพานควาย สวนจตุจักร อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ รวมไปถึง ถ.วิภาวดีรังสิตและรัชดาภิเษก ถ.ลาดพร้าว ถ.สุขุมวิท ถ.สาธร โดยเฉพาะ ซ.เซ็นต์หลุยส์ มีน้ำท่วมขังมากที่สุดประมาณ 50 ซม.ส่งผลให้การจราจรเป็นอัมพาต เกิดไฟฟ้าดับหลายจุด

  • ปี 2538

เกิดน้ำท่วมใหญ่อีกครั้ง เนื่องจากมีพายุหลายลูกพัดผ่าน ทำให้เกิดฝนตกในภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในเดือนพฤษภาคม และมีสภาพฝนตกหนักในช่วงเดือนสิงหาคม ถึงตุลาคม เนื่องจากพายุ “โอลิส” ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับสูง 2.27 ม. เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (เท่าน้ำท่วมปี พ.ศ. 2485)

  • ปี 2549

เกิดอุทกภัยใน 47 จังหวัด ทั่วประเทศ ส่งผลให้หลายพื้นที่มีสภาพน้ำท่วมขัง ประกอบกับมีการผันน้ำเข้าเก็บกักเอาไว้ในพื้นที่ว่างเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำ ท่วมโดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรในจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี และปทุมธานี รวมประมาณ 1.38 ล้านไร่ ต่อมาจังหวัดดังกล่าวไม่สามารถรับนํ้าได้ไหว นํ้าจึงไหลเข้าท่วมขังที่กรุงเทพฯ เกือบ 1 เมตร นานกว่าสัปดาห์

 

 

 

  • มหาอุทกภัยปี 2554

ปี 2554 ประเทศไทยเผชิญกับอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยเหตุการณ์เริ่มตั้งแต่ต้นปีและยืดเยื้อจนถึงปลายปี พื้นที่ประสบภัยกระจายตัวอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางที่ต้องเผชิญกับน้ำท่วมหนักเป็นระยะเวลานานหลายเดือน

กรุงเทพมหานครและปริมณฑลประสบกับสถานการณ์น้ำท่วมหนักที่สุดในรอบ 70 ปีนับตั้งแต่เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2485 อุทกภัยครั้งนี้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาลต่อทั้งทางภาคการเกษตร อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สังคม 

ความเสียหายจากมหาอุทกภัยครั้งประวัติศาสตร์

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้รายงานความเสียหายจากมหาอุทกภัยครั้งนี้

  • มีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 74 จังหวัด รวม 844 อำเภอ 5,919 ตำบล 53,380 หมู่บ้าน
  • ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 16,224,302 คน 5,247,125 ครัวเรือน
  • มีผู้เสียชีวิต 1,026 คน บาดเจ็บ 33 คน
  • มีบ้านพังทั้งหลัง 2,632 หลัง บ้านพังบางส่วนอีก 477,595 หลัง
  • นอกจากนี้ยังมีอาคารพาณิชย์ 4,011 แห่ง โรงงาน 1,823 แห่ง วัด/โรงเรียน 4,563 แห่ง
  • ปศุสัตว์ 2,263,408 ตัว
  • พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 11,798,241 ไร่
  • รวมมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้นประมาณ 23,839 ล้านบาท

จากการวิเคราะห์พื้นที่น้ำท่วมโดยใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม พบว่าในปี 2554 ประเทศไทยมีพื้นที่น้ำท่วมประมาณ 31.45 ล้านไร่ กระจายตัวอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ ครอบคลุม 72 จังหวัด 763 อำเภอ 5,296 ตำบล

 

สาเหตุของการเกิดอุทกภัย

  • สภาวะอากาศและปริมาณฝน

ปี 2554 เป็นปีที่ฝนมาเร็วและปริมาณฝนมากกว่าปกติค่อนข้างมาก โดยมีปริมาณน้ำฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ยเกือบทุกเดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมซึ่งนับว่าเร็วกว่าปกติ ปริมาณฝนรวมทั้งปีสูงถึง 1,826 มิลลิเมตร ซึ่งมากกว่าปกติ 25% และยังมากกว่าปี 2538 2545 และ 2549 ที่ประเทศไทยเกิดอุทกภัยรุนแรงอยู่ค่อนข้างมาก นอกจากนี้การกระจายตัวของกลุ่มฝนตกหนักที่เกิดขึ้นในปี 2554 ยังครอบคลุมเป็นบริเวณกว้างกว่าปีอื่น ๆ โดยเฉพาะภาคเหนือที่มีฝนตกหนักเกิดขึ้นเกือบทั่วทุกพื้นที่ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุทกภัยรุนแรงในครั้งนี้ เนื่องจากน้ำจากภาคเหนือส่วนใหญ่จะไหลลงสู่ภาคกลางซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำและมีโอกาสเกิดน้ำท่วมขังสูงกว่าภาคอื่น ซึ่ง 3 ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ปี 2554 มีฝนตกมาก ประกอบด้วย

  • พายุ 5 ลูก ได้แก่ 1) พายุโซนร้อน “นกเต็น” (NOCK-TEN) ที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณจังหวัดน่านในขณะที่ลดระดับลงเป็นพายุดีเปรสชัน 2) พายุโซนร้อน “ไหหม่า” (HAIMA) 3) พายุโซนร้อน “ไห่ถาง” (HAITANG) ที่สลายตัวลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำก่อนเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย 4) พายุไต้ฝุ่น “เนสาด” (NESAT) และ 5) พายุไต้ฝุ่น “นาลแก” (NALGAE) ที่ถึงแม้จะสลายตัวไปในบริเวณประเทศเวียดนาม แต่อิทธิพลของพายุยังคงส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกเพิ่มขึ้น
  • ร่องมรสุม ที่พาดผ่านประเทศไทยระยะ ๆ ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน โดยเฉพาะบริเวณตอนบนและตอนกลางของประเทศที่การพาดผ่านในแต่ละครั้งของร่องมรสุมมักเกิดขึ้นยาวนาน โดยช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนเกิดร่องมรสุมพาดผ่านเกือบตลอดทั้งเดือน ส่งผลให้มีฝนตกหนักและเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่
  • ปรากฎการณ์ลานีญาที่ส่งผลให้ปริมาณฝนของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งในช่วงเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554 ปรากฎการณ์ลานีญาได้เริ่มก่อตัวตั้งแต่ช่วงกลางปี 2553 และดำเนินต่อเนื่องจนถึงกลางปี 2554 โดยมีกำลังแรงในช่วงปลายปี 2553 หลังจากนั้นได้ลดระดับเป็นลานีญากำลังปานกลางและกำลังอ่อนในช่วงต้นปี 2554 จากนั้นได้เข้าสู่สภาวะเป็นกลางช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม และกลับมาเป็นสภาวะลานีญากำลังอ่อนและกำลังปานกลางอีกครั้งในช่วงเดือนสิงหาคม 2554 โดยคงอยู่ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมีนาคม 2555 ส่งผลทำให้ประเทศไทยมีฝนตกมากกว่าปกติ โดยเฉพาะช่วงปลายปี 2553 จนถึงกลางปี 2554 นอกจากนี้ยังส่งผลให้เดือนมีนาคม 2554 มีฝนตกมากกว่าปกติ ซึ่งถือว่าเป็นสถานการณ์ฝนตกมากที่เกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ เพราะโดยปกติแล้วประเทศไทยมักจะเริ่มมีฝนตกมากประมาณเดือนพฤษภาคม

 

ปริมาณน้ำในเขื่อนและลำน้ำ

ในปี 2554 ประเทศไทยประสบกับปริมาณฝนตกสูงกว่าปกติในหลายพื้นที่ของประเทศ ส่งผลทำให้เขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 33 แห่งรับน้ำในปริมาณมหาศาล โดยตลอดทั้งปีมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนสะสมรวมกันมากถึง 71,769 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งนับเป็นสถิติสูงสุดเท่าที่เคยมีมา โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง โดยในปี 2554 ทั้ง 3 เขื่อน มีปริมาณน้ำไหลเข้าสูงกว่าปี 2538 และ 2549 ซึ่งเป็นปีที่เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในอดีต

เขื่อนส่วนใหญ่ของประเทศมีน้ำไหลเข้ามาก แต่กลับมีอุปสรรคในการระบายน้ำเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะปัญหาการเกิดน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ท้ายเขื่อนเนื่องจากฝนตกหนัก รวมถึงสภาวะน้ำทะเลหนุน ทำให้การระบายน้ำเป็นไปได้อย่างไม่เต็มศักยภาพ ส่งผลให้ 21 จาก 33 เขื่อน เกิดสถานการณ์น้ำล้นเขื่อน (ปริมาณน้ำเกินระดับกักเก็บปกติ) และถึงแม้เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์จะไม่เกิดสถานการณ์น้ำล้นเขื่อน แต่ก็จำเป็นต้องเร่งระบายน้ำผ่านทางน้ำล้น (spillway) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักสำหรับ 2 เขื่อนนี้

 

ปี 2567 น้ำจะท่วม กทม.หรือไม่

สถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ ทำให้หลายคนเริ่มวิตกว่ากรุงเทพมหานครและปริมณฑลอาจเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมใหญ่เช่นเดียวกับปี 2554 หรือไม่

นายชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการและผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ บริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนต์ หรือ TEAM GROUP เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือขณะนี้ ปริมมาตรน้ำจากน้ำท่วมในสัปดาห์ที่ 3 และสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนสิงหาคมนี้ ในส่วนของลุ่มน้ำน่านตอนบน ตั้งแต่ท่าวังผา อำเภอเมืองน่าน ถึงอำเภอนาน้อย จะถูกเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ ทั้งหมด และยังมีที่ว่างในเขื่อนสิริกิติ์อีกมาก

ขณะที่ในลุ่มน้ำยม ปริมาตรน้ำที่ท่วมอยู่ตั้งแต่จังหวัดแพร่ สุโขทัย และ ลงมาถึงพิจิตร จะถูกเก็บไว้ในแก้มลิงต่างๆ ได้ จะทำให้ปริมาณน้ำไหลลงมาถึงเขื่อนชัยนาทเพิ่มขึ้นไม่มาก

ส่วน กทม. และปริมณฑล ในเดือนสิงหาคม และต้นเดือนกันยายน 2567 นี้ ยังไม่มีปัญหาอะไร ปริมาณน้ำมากเฉพาะพื้นในภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคตะวันออก บางพื้นที่เท่านั้น

แต่ยังคงต้องติดตามดูปริมาณน้ำฝนในช่วงปลายเดือนสิงหาคมและต้นเตือนตุลาคมด้วยว่าจะมีปริมาณมากแค่ไหน

“ตอนนี้คาดว่า สภาพการณ์ต่างๆ จะคล้ายคลึงกับปี 2565 ซึ่งในกทม. และปริมณฑล ก็จะมีปัญหาน้ำท่วมเฉพาะ ในส่วนของที่ฝนตกในพื้นที่ แล้วระบายไม่ทัน ทำให้น้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำเช่น บางเขน บางบัว สะพานใหม่ แจ้งวัฒนะ ลาดกระบัง ดินแดงเป็นต้น”นายชวลิตกล่าวพร้อมระบุว่า

ในช่วงเดือนตุลาคม พื้นที่นอกกันกั้นน้ำ ของกทม. และปริมณฑล คาดว่า จะเกิดน้ำท่วมเนื่องจากน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งก็เป็นน้ำท่วมที่ขึ้นลงตามระดับน้ำทะเล วันละ 2 ครั้ง

เหตุการณ์น้ำท่วมจะเกิดขึ้นในช่วงที่มีฝนตกหนัก พายุถล่ม ทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นเข้าท่วมบ้านเรือนจนเสียหาย บวกกับพื้นที่เชิงภูมิศาสตร์ของจังหวัดต่างๆ เป็นพื้นที่ราบลุ่ม เป็นทางผ่านของน้ำ จึงยากที่จะหลีกเลี่ยงอุทกภัยได้ แล้วปี 2567 นี้ จะเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่อีกหรือไม่ คงต้องจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ใช้เหตุการณ์ในอดีตเพื่อเป็นอุทาหรณ์

ที่มา : คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ , thansettakij

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related