svasdssvasds

เมื่อกรุงเทพจะกลายเป็น 'เมืองจมน้ำ' คนควรย้ายหนีหรือปรับตัวอยู่ต่อไป

เมื่อกรุงเทพจะกลายเป็น 'เมืองจมน้ำ' คนควรย้ายหนีหรือปรับตัวอยู่ต่อไป

อยู่ต่อหรือย้ายเมือง? เมื่อ 'กรุงเทพ' อาจเผชิญวิกฤติจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่งสูงจนกลายเป็น 'เมืองจมน้ำ' ภายใน 30 ปีข้างหน้า ชวนมาฟังความเห็นนักวิชาการว่าตกลงแล้วคนกรุงเทพต้องย้ายที่อยู่หรือไม่?

SHORT CUT

  • หลายประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับการรับมือปัญหาระดับน้ำทะเลเพิ่มสูง ที่อาจทำให้หลายเมืองจมน้ำ
  • กรุงเทพเองก็ได้รับการประเมินว่าจะกลายเป็น 'เมืองจมน้ำ' ภายใน 30 ปีข้างหน้า
  • คำถามคือ ผู้คนในกรุงเทพควรย้ายหนีน้ำ หรือต้องปรับตัวอยู่ให้ได้ แล้วภาครัฐควรรับมือเรื่องนี้อย่างไร

อยู่ต่อหรือย้ายเมือง? เมื่อ 'กรุงเทพ' อาจเผชิญวิกฤติจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่งสูงจนกลายเป็น 'เมืองจมน้ำ' ภายใน 30 ปีข้างหน้า ชวนมาฟังความเห็นนักวิชาการว่าตกลงแล้วคนกรุงเทพต้องย้ายที่อยู่หรือไม่?

เมื่อสัปดาห์ก่อน ทั่วโลกได้จับตาไปที่การย้ายเมืองหลวงของอินโดนีเซีย เพื่อแก้ปัญหาของกรุงจาการ์ตาที่มีการคาดการณ์ว่าจะกลายเป็น 'เมืองจมน้ำ' ในอนาคต ขณะที่รัฐบาลหลายประเทศเองก็ยอมรับว่ายังมีอีกหลายเมืองที่กำลังเผชิญความเสี่ยงกลายเป็นเมืองจมน้ำเช่นกัน และกรุงเทพก็คือหนึ่งในนั้น

รศ.ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง และหัวหน้าหน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในนักวิชาการที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม-น้ำแล้ง ของไทยอย่างใกล้ชิด ให้สัมภาษณ์กับสปริงนิวส์ ยืนยันว่ากรุงเทพมีความเสี่ยงเผชิญปัญหาจากน้ำทะเลหนุนสูงจริง และทางออกของคนในกรุงเทพอาจมีแค่ 2 ทางเลือก คือย้ายออก หรือปรับตัวอยู่กับน้ำให้ได้

เมื่อกรุงเทพจะกลายเป็น \'เมืองจมน้ำ\' คนควรย้ายหนีหรือปรับตัวอยู่ต่อไป

กรุงเทพจมน้ำ .. จมแค่ไหน

จากข้อมูลข่าวสารที่ทำให้หลายคนเริ่มตระหนักกันว่ากรุงเทพกำลังจะจมน้ำภายในปี 2050 ไม่ได้หมายความว่าทั้งเมืองจะกลายเป็นทะเลหรือจมน้ำจนหายไปจากแผนที่โลก แต่เนื่องจากกรุงเทพเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ทำให้มีความเสี่ยงรับผลกระทบจากน้ำทะเลหนุนเป็นบริเวณกว้างกว่าเดิม มีน้ำท่วมขังในพื้นที่เมืองมากขึ้นและยาวนานขึ้น บางพื้นที่อาจเผชิญน้ำท่วมขังเกือบตลอดทั้งปี มีโอกาสสูงมากที่เราจะเจอน้ำท่วมใหญ่แบบเมื่อปี 2011 หรืออาจจะท่วมรุนแรงกว่านั้น

โดยจากการคาดการณ์ ในปี 2050 หรืออีกประมาณ 30 ปี น้ำทะเลจะหนุนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 20 - 30 เซนติเมตร อาจจะฟังดูไม่เยอะ แต่อย่าลืมว่าหลายพื้นที่ของกรุงเทพอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล เรายังมีโครงสร้างพื้นฐานใต้ดินที่น่าเป็นห่วง รวมถึงปัญหาดินทรุดด้วย 

เมื่อกรุงเทพจะกลายเป็น \'เมืองจมน้ำ\' คนควรย้ายหนีหรือปรับตัวอยู่ต่อไป

สาเหตุที่ทำให้กรุงเทพจมน้ำ

ปัจจัยของความเสี่ยงที่จะทำให้กรุงเทพจมน้ำ มาจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศหรือ climate change  โดยสาเหตุที่จะทำให้เกิดน้ำท่วม ได้แก่

  1. ฝนตกหนักบ่อยกว่าเดิมทั้งในฤดูฝนและฤดูหนาว จนระบบการระบายน้ำไม่สามารถรับมือได้ น้ำท่วมขังจะเกิดบ่อยขึ้น และปัญหารถติด 5 ชั่วโมงอาจจะกลายเป็นนิวนอร์มอล
  2. น้ำไหลหลากจากภาคเหนือที่ไหลผ่านกรุงเทพ ซึ่งเชื่อมโยงกับกรณีน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2011
  3. น้ำทะเลหนุน ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำเผชิญกับน้ำท่วมขัง

อีกปัจจัยที่สำคัญคือการพัฒนาเมือง ที่ยิ่งกลายเป็นการขยายความเสี่ยง เพราะหากกรุงเทพไม่ใช่เมืองที่หนาแน่นขนาดนี้ เราจะรับมือง่ายขึ้น แต่เมืองของเราเติบโตค่อนข้างเร็ว ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอย่างระบบการระบายน้ำกลับโตไม่ทันเมือง อีกทั้งกว่า 50% ของพื้นที่ขยายใหม่คือพื้นที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมตอนปี 2011 ซึ่งมีความเสี่ยงรับผลกระทบมากกว่าพื้นที่อื่น

เมื่อกรุงเทพจะกลายเป็น \'เมืองจมน้ำ\' คนควรย้ายหนีหรือปรับตัวอยู่ต่อไป

ไทยต้องมีแผนย้ายเมืองหลวงไหม

การย้ายเมืองหลวงของไทยไม่ใช่แนวคิดแปลกใหม่ ในอดีตก็เคยมีการพูดถึงแนวคิดนี้ แต่สมัยนั้นเป็นเหตุผลเรื่องความมั่นคง คำถามคือหากต้องย้ายหนีน้ำท่วมแล้วจะย้ายไปที่ไหน

หากเทียบกับกรณีของอินโดนีเซีย ต้องเข้าใจว่าความรุนแรงของผลกระทบจากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูง การทรุดตัวของแผ่นดิน และน้ำท่วมที่เขาเผชิญ มันรุนแรงกว่าไทยหลายสิบเท่า ซึ่งรัฐบาลอินโดฯ อาจจะพิจารณาแล้วว่าเมื่อถึงตอนนั้น กรุงจาการ์ตาอาจเผชิญความเสียหายจนฟื้นฟูกลับมาไม่ไหว จะลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานอะไรตอนนี้ก็ไม่คุ้มแล้ว การย้ายเมืองจึงเป็นคำตอบที่ดีกว่า

เมื่อพิจารณาในกรณีของกรุงเทพ การจะย้ายหรือไม่ย้ายคงแทบไม่ต่างกัน เพราะพื้นที่อื่นในประเทศไทยก็มีความเสี่ยงเหมือนกัน โดยเฉพาะถ้าเราไม่ให้ความสำคัญกับการวางแผนผังของเมืองให้สามารถรับมือกับปัญหาน้ำท่วมได้

หากจะย้ายจริงก็คงไม่ย้ายไปทั้งหมด แต่เป็นการย้ายเพื่อกระจายความเสี่ยง เช่น ย้ายแค่ศูนย์กลางการปกครอง แล้วให้กรุงเทพเป็นเมืองธุรกิจหรือเมืองท่องเที่ยวชายฝั่ง เพราะที่ผ่านมามีการลงทุนในกรุงเทพสูงมาก เราคงไม่สามารถทิ้งการลงทุนทั้งหมดนั้นได้แน่นอน

หรือเราอาจไม่จำเป็นต้องย้าย ต่อต้องกระจายการพัฒนา กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคในเมืองหลัก-เมืองรองของจังหวัดต่างๆ เพื่อลดการย้ายถิ่นของผู้คนมายังกรุงเทพ 

ถ้าไม่ย้ายแล้วจะอยู่กันอย่างไร

การรับมืออะกับเหตุการณ์ภัยพิบัติมีสองวิธีหลักๆ คือ การหนี กับการปรับตัวให้อยู่กับเหตุการณ์เสี่ยงได้ ต้องยอมรับว่ามันจะมีภาวะเดือดร้อน แต่หากเลือกจะอยู่ก็ต้องทำให้เมืองสามารถฟื้นตัวจากผลกระทบได้เร็วขึ้น เช่น ระบายน้ำให้เร็วขึ้น มีมาตรการชดเชยที่ชัดเจนขึ้น มีการแก้ไขปัญหารถติดหรือการเดินทางที่ดีขึ้น

ปัญหานี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนมากที่รัฐบาลควรเตรียมรับมือ เพราะเราเริ่มเห็นสัญญาณของผลกระทบ climate change แล้ว ซึ่งในความเป็นจริงมันไม่ใช่แค่ปัญหาเมืองจมน้ำอย่างเดียว แต่มันคือปัญหาที่ว่าเวลามีฝนน้ำมันท่วม แต่พอฝนทิ้งช่วงก็แล้งจนขาดแคลนน้ำไปเลย เราเจอภัยพิบัติที่เกิดเป็นวงจร ก็ควรแก้ปัญหาให้ครอบคลุมทุกส่วน ต้องไม่ทำแค่การกั้นหรือระบายน้ำ แต่ต้องจัดการวงจรน้ำทั้งหมด แทนที่เราจะดันน้ำที่ท่วมออกไป จะดีกว่าไหมถ้าเราสามารถกักเก็บน้ำในบางพื้นที่เพื่อนำกลับมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่ผ่านมาเราแก้ไขในเชิงลุ่มน้ำเยอะ มีโครงการขยายแม่น้ำลําคลอง มีแก้มลิงเพื่อรับน้ำ ซึ่งมันช่วยได้เยอะ 
แต่เรายังไม่ได้มีมาตรการที่ชัดเจนว่าเราจะพัฒนาเมืองอย่างไร ไม่ให้ไปขยายความเสี่ยงเหมือนอดีตที่ผ่านมา

เพราะกรุงเทพมีความหลากหลายสูง แต่ละย่านมีลักษณะพื้นที่ต่างกัน สีลม สาทร คลองเตย หรือหนองจอก ต้องการแผนการพัฒนาเมืองที่ต่างกัน  เนื่องจากเราไม่มีการประเมินความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่อย่างจริงจัง เช่น ย่านไหนพัฒนาต่อได้ ย่านไหนไม่ควรสร้างอาคารสูงเนื่องจากมีความเสี่ยงมากกว่าย่านอื่น ซึ่งหากมีผลการประเมินออกมาอย่างชัดเจน ทั้งเอกชนและประชาชนก็พร้อมปรับตัวตามแน่นอน

ดูตัวอย่างการแก้ปัญหาจากต่างประเทศได้ไหม

ถ้าเชื่อมโยงไปสู่ตัวอย่างจากต่างประเทศ ก็ต้องบอกว่ามาตรการภาครัฐมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะการประเมินเพื่อระบุว่าพื้นที่ไหนเสี่ยงมากหรือน้อย เพราะหลายประเทศเขาใช้ระบบการจ่ายเบี้ยประกันภัย ซึ่งจะจ่ายถูกหรือแพงก็ขึ้นอยู่กับการประเมินความเสี่ยงในพื้นที่นั้น ๆ และเมื่อเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ คนในพื้นที่ก็จะได้รับค่าประกันที่จ่ายเบี้ยไว้ เขาก็จะกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว นี่คือตัวอย่างการปรับตัวแบบอยู่ร่วมกับมันได้

ส่วนวิธีแก้ไขอื่น ๆ เช่น เทียบเนเธอร์แลนด์ บริบทจะค่อนข้างต่างจากกรุงเทพ เนื่องจากเขาเป็นประเทศที่อยู่กับน้ำมานาน จนเรียนรู้ว่าการตั้งคันกั้นน้ำไม่ได้ช่วยให้ปลอดภัย 100% เพราะน้ำมันสูงขึ้นทุกปี เขาจึงเปลี่ยนมาให้คอนเซ็ปต์ รูมฟอร์ริเวอร์ (Room for river) คือทำให้พื้นที่ตลิ่งหรือคลองมันกว้างขึ้น ให้น้ำมันไหลลงไปได้ แต่ที่นั่นเขามีที่ดินที่กว้างขวางกว่าเมื่อเทียบกับกรุงเทพที่ค่อนข้างแออัด หากจะทำแบบเขาก็ต้องมีพื้นที่รับน้ำที่มั่นใจว่าจะแก้ปัญหาได้จริง