svasdssvasds

'ชัชชาติ' เผยน้ำท่วม67 ไม่เหมือนปี2554 ไม่น่าห่วงแต่ไม่ประมาท

'ชัชชาติ' เผยน้ำท่วม67 ไม่เหมือนปี2554  ไม่น่าห่วงแต่ไม่ประมาท

ผู้ว่าฯกทม. เผย สถานการณ์น้ำท่วม67 ไม่เหมือนปี 2554 เหตุปีนี้น้ำในเขื่อนยังไม่เต็ม แต่ไม่ประมาทเตรียมป้องกันน้ำให้ชาวกรุงฯ เต็มที่

SHORT CUT

  • น้ำท่วม67 เหตุการณ์ปีนี้ ไม่เหมือนปี 2554 
  • เนื่องจากเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิต์ยังช่วยชะลอน้ำได้
  • ที่น่ากังวล คือ น้ำฝน และน้ำหนุนจากทะเล 

ผู้ว่าฯกทม. เผย สถานการณ์น้ำท่วม67 ไม่เหมือนปี 2554 เหตุปีนี้น้ำในเขื่อนยังไม่เต็ม แต่ไม่ประมาทเตรียมป้องกันน้ำให้ชาวกรุงฯ เต็มที่

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยว่า ในปีนี้มีฝนตกหนักทางภาคเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดน่าน และมวลน้ำไหลลงมาทางแม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน แต่เหตุการณ์นี้ไม่เหมือนปี 54 เหตุเพราะ น้ำในเขื่อนยังไม่เต็ม เขื่อนภูมิพลประมาณ 50%  และเขื่อนสิริกิติ์ประมาณ 70% ยังสามารถรับน้ำได้อยู่ ซึ่งปี 54 ที่เกิดน้ำท่วมหนัก เพราะเขื่อนล้นทั้งสองเขื่อน ต้องปล่อยน้ำ เพราะฉะนั้น เขื่อนที่เป็นด่านแรกยังช่วยชะลอน้ำได้  ขณะที่อัตราการระบายน้ำที่ต้องเฝ้าระวังก่อนถึงกรุงเทพมหานครคือที่สถานีบางไทร ซึ่งอัตราการระบายน้ำที่สถานีบางไทร ณ วันที่ 26 สิงหาคม 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 989 ลบ.ม./วินาที โดยอัตราการระบายน้ำที่ต้องเฝ้าระวังอยู่ที่ 2,500 ลบ.ม./วินาที

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวด้วยว่า แม้ภาพรวมสถานการณ์ยังไม่น่าเป็นห่วง แต่ประมาทไม่ได้ เพราะผู้ที่จะได้รับผลกระทบก่อนคือบ้านเรือนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำ 16 ชุมชน ที่เป็นบ้านรุกล้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งป้องกันได้ยาก

“การรับมือสถานการณ์น้ำได้ดี เป็นผลจากการที่เราดูแลคูคลองต่อเนื่องตลอดมา รวมถึงระบบบริหารจัดการน้ำ การระบายน้ำ และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนอย่าประมาท แต่เชื่อว่า กทม. เตรียมตัวรับมือได้อย่างเต็มที่เพี่อดูแลพี่น้องประชาชน”

ปัจจัยที่จะส่งผลทำให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ 

กรณีที่ต้องระวังในอนาคตจากน้ำที่มีผลกับกรุงเทพมหานครซึ่งมี 4 ส่วน คือ น้ำเหนือ น้ำหนุนจากทะเล น้ำฝน และน้ำท่า ที่กังวลคือน้ำฝน เพราะสภาพอากาศโลกเปลี่ยน หากตกใน กทม. ปริมาณมากอาจต้องใช้เวลาในการระบาย ซึ่ง กทม. ได้เตรียมรับมือไว้แล้ว ทั้งการลอกคูคลองซึ่งทำทั้งปีไม่ได้เพิ่งทำ โดยคลองหลักลอกไปแล้ว 200 กม. การเปิดทางระบายน้ำคูคลองทำไปแล้ว 1,300 กม. ลอกท่อระบายน้ำไปแล้ว 4,300 กม. ทำให้ช่วงที่ผ่านมาแม้จะมีฝนตกหนัก ถนนหลักก็ใช้เวลาแห้งหมดไม่เกิน 3 ชม.

ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงทุกพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร สามารถติดตามสถานการณ์น้ำและฝน ได้ที่

  • Facebook และ X กรุงเทพมหานคร
  • ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม กรุงเทพมหานคร
  •  เว็บไซต์ www.prbangkok.com และ http://dds.bangkok.go.th/

แจ้งเหตุเดือดร้อนและขอรับความช่วยเหลือจาก กทม. ได้ที่ Traffy Fondue, Facebook ศูนย์ประสานงานน้ำท่วม กทม. สายด่วน โทร. 1555 ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำ โทร. 0 2248 5115