svasdssvasds

ไทยเคยมีแนวคิดย้ายเมืองหลวงไปไหนบ้าง ?

ไทยเคยมีแนวคิดย้ายเมืองหลวงไปไหนบ้าง ?

ไทยเคยมีแนวคิดย้ายเมืองหลวงไปไหนบ้าง ? SPRiNG รวมตำนานว้าวๆ เกี่ยวกับการย้ายเมืองหลวงให้เพื่อนๆ ได้มาฟังกัน

SHORT CUT

  • แนวคิดการย้ายเมืองหลวงของไทยมีมานานตั้งแต่สมัยคณะราาษฎรและจอมพล ป.
  • เหตุผลในการย้ายคือการหลีกหนีความแออัด แต่กระนั้นก็ยังไม่สามารถย้ายได้เสียที
  • มองกลับกัน ณ ปัจจุบันในหลายๆ ประเทศกลับมีการย้ายเมืองหลวงหนีภัยพิบัติ 

ไทยเคยมีแนวคิดย้ายเมืองหลวงไปไหนบ้าง ? SPRiNG รวมตำนานว้าวๆ เกี่ยวกับการย้ายเมืองหลวงให้เพื่อนๆ ได้มาฟังกัน

จากที่เคยมีคนออกมาพูดว่าภายใน 6 ปี กรุงเทพจะจมน้ำ จนทำให้หลายคนพูดถึงเรื่องการย้ายเมืองหลวง แต่จริงๆ แล้วประเทศไทยเคยมีการพูดถึงการย้ายเมืองหลวงมาแล้ว 7 ครั้ง ตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลย์ สงคราม แต่เพราะอะไร?

 

SPRiNG เปิดตัวอย่างการย้ายเมืองหลวงของไทยตั้งแต่สมัยปัจจุบัน จนถึงยุคร่วมสมัยว่ามีแนวคิดจะไปจังหวัดอะไรบ้าง

เพชรบูรณ์

จังหวัดที่คลาสสิคที่สุด ที่ไม่พูดถึงไม่ได้เรื่องแนวคิดการย้ายเมืองหลวงไป นั่นก็คือจังหวัดเพชรบูรณ์

ในปี พ.ศ. 2486 มีการเตรียมการสร้างฐานทัพไว้ที่เพชรบูรณ์ ด้วยเหตุผลว่า “สําหรับเตรียมรบกับญี่ปุ่น” เหตุผลที่เลือกเพชรบูรณ์ ก็เพราะได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ เนื่องจากเป็นเขตป่าเขา หลังจากนั้นคำสั่งลงวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2486 ให้กรมโยธาเทศบาลไปวางผังเมืองที่เพชรบูรณ์ พร้อมกับการเคลื่อน ย้ายหน่วยทหาร และราษฎรไปเพชรบูรณ์ในเวลาต่อมา

แต่โครงการนี้ก็ต้องพับไปเพราะพระราชกำหนดการจัดตั้งเพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวง ถูกคัดค้านจากสภาผู้แทนราษฎรอย่างหนัก เนื่องจากเป็นการใช้งบประมาณจำนวนมาก และทำให้ราษฎรต้องล้มตาย

ในที่สุดไม่เพียงแต่จะสร้างเมืองหลวงขึ้นมาใหม่ไม่ได้ จอมพล ป. จำต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะแพ้โหวตในสภาถึง 2 ครั้ง คือ พระราชกำหนดระเบียบการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2487 และพระราชกำหนดสร้างพระพุทธบุรีมณฑล ในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2487

สระบุรี

เจ้าพ่อโปรเจกต์ย้ายเมืองหลวงของเราอย่าง จอมพล ป. ไม่ได้มีแนวคิดว่าจะย้ายเมืองหลวงไปแค่เพชรบูรณ์อย่างเดียว

แต่อีกหนึ่งจังหวัดที่นายกรัฐมนตรีผู้มากโปรเจกต์เล็งไว้ก็คือจังหวัดสระบุรี “ผังนครหลวง” จัดทำขึ้นในราวปี พ.ศ.2485 ที่ได้ให้รายละเอียดของโครงการนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ

โดย อ.ชาตรี ประกิตนนทการ ชี้ให้เห็นว่า

จอมพล ป. ได้มีคำสั่งลงมาโดยกำหนดที่ตั้งเมืองหลวงใหม่ด้วยตัวเอง ความว่า

“…เมืองหลวงควรเอาพระพุทธบาทสระบุรีเป็นหลักเมือง แล้วกำหนดเอาแม่น้ำป่าสักกับแม่น้ำลพบุรีเป็นเขตต์ เพราะถ้าจะเอาที่มีน้ำก็ต้องเลือกเอาที่ลุ่ม ถ้าจะเอาที่น้ำไม่ท่วม ก็ต้องเอาที่ดอน และต้องหาน้ำมาจากที่อื่น…”

นครหลวงใหม่แห่งนี้มีการวางผังอย่างทันสมัยและเป็นระเบียบ โดยการออกแบบแนวถนนเป็นตารางสี่เหลี่ยม พร้อมทั้งการเชื่อมต่อพื้นเข้าหากันด้วยการตัดถนนในแนวเฉียง 45 องศาจนเกิดเป็นเครือข่ายถนนแบบใยแมงมุมครอบคลุมพื้นที่เมืองทั้งหมด

จุดตัดระหว่างถนนแนวตรงกับแนวเฉียงจะถูกออกแบบให้เป็น node ของเมือง ซึ่งมีราว 10 จุด ซึ่งบริเวณจุดตัดดังกล่าวคงจะมีการออกแบบให้เป็นลานหรือสวนขนาดใหญ่ โดยอาจมีอาคารหรืออนุสาวรีย์ทำหน้าที่เป็นจุดหมายตา (Landmark) ของเมือง

โดย อ.ชาตรี เชื่อว่าผังนครหลวงใหม่สระบุรีได้รับอิทธิพลทางความคิดในการวางผังเมืองตามแนวทาง The City Beautiful Movement ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในอเมริกาและส่งอิทธิพลไปทั่วโลกในช่วงระหว่างปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงราวกลางศตวรรษที่ 20 ที่เน้นการสร้างเมืองให้มีลักษณะสวยงาม อลังการ และเป็นระเบียบเรียบร้อยผ่านสิ่งก่อสร้างอันใหญ่โต ซึ่งส่วนใหญ่คือรูปแบบสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิคแต่ในกรณีนี้คงถูกสร้างขึ้นด้วยงานสถาปัตยกรรมอาร์ตเดโคแบบคณะราษฎร

อย่างไรก็ตาม ความฝันอันยิ่งใหญ่นี้ไม่อาจเป็นจริงได้ และโครงการต้องถูกยกเลิกไป

จอมพล ป. เปลี่ยนเป้าหมายการย้ายเมืองหลวงไปที่ “นครบาลเพชรบูรณ์” ในจังหวัดเพชรบูรณ์แทนในปลายปี พ.ศ. 2486 โดยให้เหตุผลว่า เพชรบูรณ์เป็นจังหวัดที่อยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ดีกว่า มีภูเขาล้อมกำบังข้าศึก ในขณะที่สระบุรีเป็นพื้นที่โล่ง

ลพบุรี

อีกหนึ่งโปรเจกต์ย้ายเมืองหลวงของเจ้าพ่อร้อยโปรเจกต์ของ จอมพล ป. คือการย้ายเมืองหลวงไปที่ลพบุรี

อ.ชาตรี ยกหลักฐานหลังจาก จอมพล ป. ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใน พ.ศ. 2481 แนวคิดนี้ก็ยิ่งดูปรากฏชัดมากขึ้น ดังหลักฐานในรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2482 ซึ่งอภิปรายถึงการก่อสร้างโรงเรียนและศาลากลางจังหวัดลพบุรีหลังใหม่ โดยในที่ประชุมกังวลถึงงบประมาณที่อาจมีไม่เพียงพอ จนจอมพล ป. ต้องย้ำถึงความสำคัญของการก่อสร้างนี้เอาไว้ว่า

“…ถ้าเกิดสงครามขึ้นโรงหนัง (โรงหนังทก็จะใช้เป็นสภา โรงเรียนก็จะใช้เป็นที่ว่าการ (ทำเนียบรัฐบาล-ผู้เขียน) จึงอยากจะสร้าง ปีนี้ไม่มีเงิน ปีหน้าพอมีใช้ แต่ต้องการปีนี้…”

อ.ชาตรี ชวนพิจารณาลงในรายละเอียดของการวางผังเมือง เราจะยิ่งพบการออกแบบที่มีเป้าหมายมากไปกว่าการทำให้เป็นเมืองทหาร เพราะปรากฏผังเมืองที่เป็นระเบียบรวมถึงมีวงเวียนขนาดใหญ่ 3 วง

แต่กระนั้นในปี พ.ศ. 2485 จอมพล ป. ก็ได้ตัดสินใจเลือกให้สระบุรี บริเวณพระพุทธบาท เป็นพื้นที่ในการสร้างเมืองหลวงใหม่อย่างเป็นทางการ ซึ่งทำให้ “เมืองใหม่ลพบุรี” ถูกพัฒนาไปในฐานะเมืองศูนย์กลางทางทหารเพียงอย่างเดียวจวบจนกระทั่งในปัจจุบัน

ฉะเชิงเทรา

หลังจากยุค จอมพล ป. เรื่องแนวคิดการย้ายเมืองหลวงก็ยังไม่ได้หมดไปจากสังคมไทย เพราะปรากฏว่าในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ (พ.ศ. 2539 – พ.ศ. 2540) ได้มีแนวคิดว่าจะย้ายเมืองหลวงไปฉะเชิงเทรา

โดยแนวคิดเรื่องการย้ายเมืองหลวงไปยังจังหวัดฉะเชิงเทรานั้นถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเป็นระยะๆ โดยมีทั้งผู้เห็นด้วยและคัดค้าน ซึ่งล้วนแต่มีเหตุผลสนับสนุนที่น่าสนใจทั้งสิ้น

ข้อดีที่อาจเกิดขึ้นหากย้ายเมืองหลวงไปฉะเชิงเทรา ที่หลายฝ่ายมองคือ ลดปัญหาความแออัด เพราะฉะเชิงเทรายังมีความหนาแน่นของประชากรน้อยกว่ากรุงเทพฯ มาก การย้ายเมืองหลวงจะช่วยกระจายประชากรและลดปัญหาความแออัดของเมืองหลวงเดิมได้ ฉะเชิงเทรามีความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วมน้อยกว่ากรุงเทพฯ การย้ายเมืองหลวงจะช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติได้

การย้ายเมืองหลวงจะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจในพื้นที่ฉะเชิงเทราและจังหวัดใกล้เคียง การสร้างเมืองหลวงใหม่จะเปิดโอกาสให้มีการออกแบบเมืองที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ได้ และการย้ายเมืองหลวงอาจส่งผลให้เกิดการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น

แต่โครงการนี้ก็ต้องจบลง เพราะการสร้างเมืองหลวงใหม่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล และอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ การย้ายเมืองหลวงจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจำนวนมาก ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องใช้เวลาในการปรับตัว

การย้ายเมืองหลวงอาจก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม เช่น ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ และความขัดแย้งระหว่างคนในพื้นที่เดิมกับผู้ที่ย้ายเข้ามาใหม่ ประกอบกับการพัฒนาพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อสร้างเมืองหลวงใหม่ อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่

ทำให้ฉะเชิงเทราไม่ได้ไปต่อในการเป็นเมืองหลวงของไทย

นครปฐม

เราจะเห็นการย้ายเมืองหลวงส่วนใหญ่มาจากแนวคิดของผู้นำทหาร คราวนี้มาดูผู้นำประเทศสายพลเรือนที่มีแนวคิดย้ายเมืองหลวงกันบ้าง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือสมัยรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช (พ.ศ. 2551 – พ.ศ. 2551) ด้วยความแออัดของกรุงเทพฯ จึงมีแนวคิดที่จะย้ายไปจังหวัดใกล้เคียงอย่างนครปฐม

แต่กระนั้นโครงการก็เงียบหายไปเช่นเดียวกับฉะเชิงเทรา

นครนายก

อีกหนึ่งจังหวัดที่น่าจับตาคือจังหวัดนครนายก เป็นจังหวัดที่นายกรัฐมนตรีของไทย 2 คนมีแนวคิดจะย้ายเมืองหลวงไปจังหวัดดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น ทักษิณ ชินวัตร รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ด้วยปัจจัยที่ต้องการแก้ไขปัญหาความแออัดและมลพิษ กรุงเทพมหานครเผชิญกับปัญหาความแออัดของประชากร การจราจรติดขัด มลพิษทางอากาศ และน้ำท่วมเป็นประจำ การย้ายเมืองหลวงไปสู่พื้นที่ใหม่ที่มีพื้นที่กว้างขวางกว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้

หลีกเลี่ยงภัยธรรมชาติ เพราะนครนายกมีความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม น้อยกว่ากรุงเทพมหานคร ทำให้สามารถวางแผนการพัฒนาเมืองได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น

ศักยภาพในการพัฒนาของนครนายกมีพื้นที่ว่างสำหรับการขยายตัวของเมืองและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ ได้อีกมาก ทำให้สามารถสร้างเมืองที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพได้

ทำเลที่ตั้งของนครนายกค่อนข้างกลางของประเทศ ทำให้สามารถเดินทางไปยังภูมิภาคอื่นๆ ได้สะดวก

นครนายกมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เช่น ภูเขา น้ำตก ทำให้สามารถพัฒนาเป็นเมืองท่องเที่ยวได้

และโครงการรถไฟความเร็วสูงสามารถวางแผนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมต่อกับสนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้การเดินทางไปมาระหว่างกรุงเทพมหานครและนครนายกสะดวกขึ้น

ทั้งหมดคือเรื่องย้ายเมืองหลวงของไทยที่ SPRiNG รวบรวมมาให้ ทำให้เพื่อนๆ ได้เห็นว่าประเทศไทยคือมีแนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นเรื่อยมา แต่ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างที่ยังไม่สามารถย้ายเมืองหลวงได้ แต่ด้วยภาวะโลกเดือดที่ใกล้เข้ามาแนวคิดการย้ายเมืองหลวงอาจกลับมีอีกครั้ง หรือไม่ก็ต้องหาวิธีรับมือกับภัยพิบัติโดยใช้เทคโนโลยีรวมถึงแนวคิดเรื่องอนุรักษ์เข้าช่วย

อ้างอิง

ชาตรี 1 / ชาตรี 2 / SilpaMag / 101.world /

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related