SHORT CUT
20 สิงหาคม 2567 ครบรอบ 1 ปี กรมลดโลกร้อน โชว์ผลงาน “ภารกิจพิชิตโลกเดือด”พร้อมขยายความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ยกระดับการแก้ไขปัญหาโลกเดือด หนุนไทยสู่ Net Zero ให้เร็วขึ้น
ประเทศไทยกำลังเดินเครื่องอย่างเต็มสูบในการเดินหน้ารับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และรับมือโลกร้อน โลกเดือด ให้ทันกับทั่วโลกที่เขาเดินหน้าไปอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ นำทัพโดย กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ล่าสุด 20 สิงหาคม 2567 เป็นวันครบรอบ 1 ปี ที่ได้ก่อตั้งมา พร้อมมีการแสดงผลงาน “ภารกิจพิชิตโลกเดือด” พร้อมย้ำมุ่งเดินหน้าทำงานเข้มข้นเต็มกำลัง ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ร่วมแสดงความยินดีวันคล้ายวันสถาปนา
ทั้งนี้กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดกิจกรรมแสดงนิทรรศการ "1 ปี กรมลดโลกร้อน ภารกิจพิชิตโลกเดือด" และการประกาศมาตรการการลดและเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single - use plastic) ในอาคารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ครบรอบ 1 ปี ในการนี้ หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ร่วมแสดงความยินดี
พร้อมกันนี้ยังมีการร่วมบริจาคสมทบทุนกองทุนสวัสดิการกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนกิจกรรมสาธารณประโยชน์ โดยมี ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับ ณ อาคารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า นับตั้งแต่มีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่อ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2566 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2566 ซึ่งปีนี้ครบรอบ 1 ปี กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หรือเรียกง่ายๆ ว่า “กรมลดโลกร้อน” ได้มุ่งมั่นดำเนินงานให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมาย
โดยด้านการลดก๊าซเรือนกระจก ที่ได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 ตั้งเป้าหมายดำเนินการเอง 33.3% และขอรับการสนับสนุนจากต่างประเทศ 6.7% รวมเป็น 40% เทียบกับกรณีปกติ ภายในปี พ.ศ. 2573 พร้อมติดตามผลการลดก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย NDC ของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 จำนวน 25 มาตรการ ซึ่งลดก๊าซเรือนกระจกได้ 60.33 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
“ขณะที่ด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้จัดส่งแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (National Adaptation Plan: NAP) ไปยังสำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) พร้อมทั้งได้ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ “การบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสาขาสาธารณสุข ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งการเสริมสร้างขีดความสามารถในการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ การรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.... และการพัฒนาศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ขณะเดียวกันยังคงดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายจากภาคส่วนต่างๆ อย่างเข้มแข็ง อาทิ เครือข่ายเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนและเครือข่ายเมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษา เครือข่ายมาตรฐานสิ่งแวดล้อม G Green ศูนย์เรียนรู้ปลอดขยะ ร้านสะดวกซื้อและร้านกาแฟที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น”
ดร.พิรุณ กล่าวดร.พิรุณ กล่าวอีกว่า สำหรับก้าวต่อไป กรมลดโลกร้อน ยังมุ่งมั่นทุ่มเทกับการแก้ปัญหาโลกเดือดที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและกับทุกคน ซึ่งกรมฯ จะต้องติดตามผลการลดก๊าซเรือนกระจกให้เป็นไปตามเป้าหมาย NDC ของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2565 พร้อมยกระดับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก NDC 2035 ให้เข้มข้นขึ้น และเร่งจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งขยายความร่วมมือ บูรณาการดำเนินงานด้านการปรับตัวให้ครบทุกสาขา ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงกลไกทางการเงินเพื่อการปรับตัวฯ ปรับปรุงระบบฐานข้อมูลความเสี่ยงเชิงพื้นที่และพัฒนาดัชนีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ เร่งผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.... เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และที่สำคัญยังคงพัฒนาศักยภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความพร้อมในการพัฒนาเมือง
และเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสม.) ให้เป็นกลไกสำคัญในการสร้างการรับรู้และแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับพื้นที่ ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องดำเนินภารกิจอย่างเข้มข้น เพื่อนำไปสู่ผลสำเร็จตามวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน ” และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตามที่ประเทศไทยได้ประกาศไว้กับประชาคมโลก
ทั้งนี้ การจัดงานวันนี้เป็นการจัดงานแบบปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ “Carbon Neutral 1 year DCCE anniversary Event” รวมถึงใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้ 100% เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดงาน และได้มีการชดเชยคาร์บอนเครดิต เพื่อให้การจัดงานครั้งนี้มีการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง