SHORT CUT
ไม่ติดแอร์อยู่ไม่ได้ โอลิมปิกปารีส ยอมถอยเรื่องรักษ์โลก ติดแอร์ 2,500 ตัวในหมู่บ้านนักกีฬา แต่ทุกประเทศต้องออกค่าใช้จ่ายกันเอง
ตั้งแต่ปี 2023 แอนน์ ฮิดัลโก นายกเทศมนตรีกรุงปารีสกล่าวอย่างมั่นใจไว้ว่า “ผมต้องการให้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 เป็นงานต้นแบบสำหรับการจัดงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม”
ทว่าเมื่อโอลิมปิกเริ่มขึ้นที่กรุงปารีสปีนี้ ความปรารถนานี้กลับไปไม่ถึงฝัน เพราะทีมนักกีฬาหลายประเทศ ทั้งสหรัฐ แคนาดา นอร์เวย์ ออสเตรเลียและไอร์แลนด์ ตัดสินใจว่าอาจจะพกเครื่องปรับอากาศมาเอง เพราะกังวลว่าระบบระบายความร้อนด้วยการใช้ระบบทำความเย็นจากน้ำบาดาล (Geo-exchange system) ในหมู่บ้านนักกีฬาที่ทางเจ้าภาพเตรียมไว้ให้ ยังใหม่เกินกว่าจะเชื่อถือได้ และระบบอาจจะเย็นไม่พอ จนอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของพวกเขา ทีมนักกีฬาหลายประเทศ ทั้งสหรัฐ แคนาดา นอร์เวย์ ออสเตรเลียและไอร์แลนด์ จึงตัดสินใจว่าอาจจะพกเครื่องปรับอากาศมาเอง
การต่อต้านนี้ทำให้ทางปารีสผู้จัดงานลำบากใจ ว่าจะยังคงยึดมั่นในกฎที่ตั้งใจจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้โลกหรือไม่
ทว่าล่าสุดคณะผู้จัดงานโอลิมปิกอนุญาตให้ประเทศต่าง ๆ สั่งซื้อเครื่องปรับอากาศแบบพกพาได้ แต่ต้องจ่ายเงินเอง และติดตั้งในหมู่บ้านนักกีฬาตลอดระยะเวลาการแข่งขัน โดยผู้จัดงานประกาศว่ามีการสั่งซื้อแล้ว 2,500 เครื่อง แต่ให้แต่ละประเทศจ่ายค่าเครื่องปรับอากาศกันเอง
ทั้งนี้ทีมนักกีฬาจากประเทศอังกฤษ เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น แคนาดา ไอร์แลนด์ กรีซ และออสเตรเลีย ต่างประกาศว่าจะจ่ายค่าเครื่องปรับอากาศเอง ซึ่งทีมออสเตรเลียถึงกับบอกว่ายินดีจ่ายเงินมากกว่า 100,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือประมาณ 2,463,000 บาท เพื่อจะทำให้นักกีฬาของพวกเขาอยู่สบายขึ้น
ถึงจะตกลงกันได้ แต่ความล้มเหลวในการงดใช้เครื่องปรับอากาศ ก็สะท้อนว่า เจ้าภาพไม่สามารถสื่อสารให้ทีมต่าง ๆ เข้าใจแนวคิดความยั่งยืนได้ ซึ่ง "ดาเนียล ดูเบรยล์" จาก CLER เครือข่ายส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนและการประหยัดพลังงาน กล่าวว่า "ผู้จัดงานสื่อสารได้ไม่ดีกับทีมต่าง ๆ ถึงประโยชน์ของการออกแบบอาคาร ซึ่งทำให้พวกเขาไม่แน่ใจ จนคิดว่าเป็นต้องใช้เครื่องปรับอากาศ"
“ข้อตกลงปารีส” ถือเป็นความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศที่สำคัญที่สุดเท่าที่เคยมีมา และยังข้อตกลงที่เกิดขึ้นในกรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศส จึงเป็นธรรมดาที่ประเทศนี้ต้องมีภาพลักษณ์เรื่องใส่ใจสิ่งแวดล้อม
ด้วยเหตุนี้ คณะจัดงานจึงเข้มงวดมาก ทุกกิจกรรมจึงจำเป็นต้องลดการปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้มากที่สุด จึงมีการสร้างอาคารใหม่ ที่ลดใช้ปูนซีเมนต์ มีสนามกีฬาที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100 % และหลังจากสิ้นสุดการแข่งขัันจะเปิดให้ประชาชนใช้งาน
ส่วนการเสิร์ฟอาหาร ยังเน้นใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น 80% พร้อมขนส่งแบบคาร์บอนต่ำไปยังครัวกลาง อีกทั้งใช้พืชเป็นองค์ประกอบหลักถึง 60% และลดเสิร์ฟเนื้อสเต๊กลงด้วย
สมาคมอังกฤษเพื่อการกีฬาที่ยั่งยืน หรือ BASIS เผยแพร่ข้อมูลระบุว่า การแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2024 จะเป็นการแข่งขันที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมา พร้อมกล่าวว่าการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 2021 ที่กรุงโตเกียวว่าเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่น่าตกใจของอากาศในโอลิมปิกฤดูร้อน
ขณะที่ กรมอุตุนิยมวิทยาของฝรั่งเศสคาดว่าอุณหภูมิฤดูร้อนในปีจะมีอุณหภูมิสูงกว่าปรกติทั่วประเทศ ยิ่งทำให้นักกีฬาเป็นกังวลว่าอากาศร้อนจะทำให้ร่างกายเกิดความเครียด จนเกิดอาการเจ็บปวดได้ เช่น ตะคริว อ่อนเพลีย ลมแดด และแม้กระทั่งการเสียชีวิต
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ /Euro News
ข่าวที่เกี่ยวข้อง