ในยุคที่สภาพอากาศแปรปรวน อุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุดในโลก แต่ละภาคส่วนจะทำอย่างไร springnews ชวนฟังจากปากของ มนตรี นิธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจปูนซีเมนต์ของประเทศไทย
อย่างที่ทราบกันว่า อุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 36.92 เมตริกตันคาร์บอนต่อปี ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกเดือด
แต่...รู้หรือไม่ว่า อุตฯ ซีเมนต์เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้ว เมื่อผู้ผลิตได้คิดค้น “ปูนไฮดรอลิก” นวัตกรรมปูนคาร์บอนต่ำ ที่จะเข้ามาพลิกวงการอุตสาหกรรมการก่อสร้างให้รักษ์โลกมากยิ่งขึ้น
ด้วยเหตุนี้ สปริงนิวส์ ชวนอ่านแนวทางการปรับตัวของภาคเอกชน ปูนไฮดรอลิกจะช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร รวมถึงอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จะลดการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นต้นตอให้เกิดภาวะโลกเดือดอย่างไร จากปากของ มนตรี นิธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจปูนซีเมนต์ของประเทศไทย
โดยปกติแล้ว กว่าจะออกมาเป็นปูนซีเมนต์สร้างบ้านแบบที่เราเห็นกันต้องผ่านกระบวนเผาเพื่อให้ได้ “ปูนเม็ด” ซึ่งต้องใช้ความร้อนสูงจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ในขั้นตอนนี้ ข้อมูลระบุว่าปล่อยคาร์บอนมากถึง 40% ของกระบวนการผลิตทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลพุ่ง เนื่องจากโลกเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และผลพวงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ด้วยเหตุนี้ เอกชนผู้ผลิตปูนอย่างปูนอินทรีนครหลวง จึงต้องหาทางลดต้นทุนในส่วนนี้ และหันมาจับแนวทาง ESG มากขึ้น
“ปูนซีเมนต์นครหลวงใช้พลังงานจากถ่านหินน้อยลงมาก และหันมาใช้เชื้อเพลิงจากขยะมูลฝอย (RDF) แทน เช่น ขยะอุตสาหกรรม ขยะชุมชน รวมถึงชีวมวล (biomass) ซึ่งต้องบอกว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก” มนตรี นิธิกุล กล่าว
“สมัยก่อนเราใช้ RDF อยู่ที่ 10-11% แต่ในปีที่ผ่านมา เราใช้พลังงานจาก RDF ประมาณ 16% และในปีนี้ คาดหวังว่าจะไปให้ถึง 24% ซึ่งผ่านไปครึ่งปีแรกก็ถือว่าเป็นไปตามเป้าแล้ว (22-23%)”
อันที่จริงต้องบอกว่าสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทยได้มีการรณรงค์ให้ภาคอุตสาหกรรม หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนหันมาใช้ “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” แทนการใช้ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เนื่องจากปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ มีองค์ประกอบหลักเป็นปูนเม็ดสูงถึง 93%
แล้วปูนเม็ดไม่ดียังไง เหตุผลคือการได้มาซึ่งปูนเม็ดได้มาจากการเผาที่อุณหภูมิสูง 1,400 – 2,000 องศา แต่สำหรับปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกสามารถทดแทนปูนเม็ดด้วยวัสดุอื่น ๆ เช่น ยิปซั่ม เถ้าลอย รวมไปถึงกากจากอุตสาหกรรม เช่น ตะกรันเหล็ก ประมาณ 10% จึงทำให้ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 0.052 ตันคาร์บอนต่อปูน 1 ตัน
หลายคนอาจมองว่า มันก็ไม่ได้ลดการปล่อยคาร์บอนเยอะมากขนาดนั้น แต่ในการก่อสร้างต้องใช้ปริมาณปูนเยอะ นวัตกรรมปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกจึงช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้มากเลยทีเดียว
“ปัจจุบัน ปูนนครหลวงได้รับฉลากข้อมูลสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ หรือ EPD แล้ว ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นจะมีบอกว่าปล่อยคาร์บอนไปเท่าไร แต่ยังไม่มีแปะฉลากข้างถุง เนื่องจากเราพัฒนาสินค้าอยู่ตลอด ข้อมูลอัปค่อนข้างอัปเดตอยู่ตลอดเวลา” มนตรี นิธิกุล กล่าว
คุณ มนตรี นิธิกุล อธิบายเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ผู้ผลิตตั้งราคาขายในตลาดของปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์และไฮดรอลิกไว้เท่ากัน ซึ่งจริง ๆ แล้วต้นทุนที่เพิ่มขึ้นน่าจะส่งผลต่อราคา แต่ราคาเท่ากันเป็นเพราะต้องการเน้นให้ผู้ใช้รู้เรื่องจุดประสงค์ของการลดการปล่อยคาร์บอน ผู้บริโภคสามารถซื้อปูนรักษ์โลกในราคาเท่าเดิม และไม่กระทบต่อต้นทุนการก่อสร้าง
ข้อมูลจากองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ระบุว่า อุตฯ ซีเมนต์ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม 36.92 เมตริกตันคาร์บอนต่อปี ขณะที่ อุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ทั่วโลกปล่อยก๊าซคาร์บอนอยู่ที่ 8%
สำหรับ ปูนอินทรีนครหลวง คุณ มนตรี นิธิกุล เปิดเผยว่า ต้องหาพลังงานทดแทนมาใช้แทนถ่านหินให้ได้ 40% ภายในปี 2573 และผลิตกรีนโพรดักต์ให้ได้ 70% ในกรณีนี้คือใช้ปูนเม็ดให้น้อยลง เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน
“ภาครัฐต้องสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ผู้ผลิตปูนซีเมนต์เขามีวิธีการอยู่แล้ว แต่ปัญหามันคือการลงทุน มันต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลมากเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน รัฐต้องเสนอแรงจูงใจให้กับเอกชน” มนตรี นิธิกุล กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง