SHORT CUT
เกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์ เตรียมจ่ายภาษีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากสัตว์ที่เลี้ยง อย่างวัว แกะและหมู เริ่มตั้งแต่ปี 2030 เป็นต้นไป โดยเดนมาร์กกลายเป็นประเทศแรกของโลก เพราะปศุสัตว์เป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้โลกร้อนขึ้น
รัฐบาลเดนมาร์กตั้งเป้าว่า จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 70 เปอร์เซ็นต์ จากระดับในปี 1990 ภายในปี 2030 และเกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์จะต้องเสียภาษี 300 โครเนอร์ต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 1 ตันในปี 2030 และในปี 2035 อัตราภาษีจะเพิ่มขึ้นเป็น 750 โครเนอร์
สาเหตุที่มีการพุ่งเป้ามาที่การเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากกระบวนการเลี้ยงสัตว์ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจก แต่ผู้คนมักจะให้ความสนใจกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า
สำหรับแหล่งปล่อยก๊าซมีเทนมักจะเกิดจากที่ทิ้งขยะ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงการเลี้ยงปศุสัตว์ โดยรายงานระบุว่า การปล่อยก๊าซมีเทนจากปศุสัตว์คิดเป็นราว 32 เปอร์เซ็นต์ของก๊าซมีเทนที่เกิดจากมนุษย์
สำหรับมีเทนเกือบทั้งหมดที่มาจากการเลี้ยงปศุสัตว์ ซึ่งคิดเป็นราว 90 เปอร์เซ็นต์ จะมาจากกระบวนการย่อยอาหารของสัตว์ ผ่านการหมัก และท้ายที่สุดจะปล่อยออกมาเป็นการเรอทางปากหรือผายลม โดยวัวเป็นสัตว์ที่ปล่อยก๊าซมีเทนมากที่สุด
จริงๆแล้วก่อนหน้านี้ นิวซีแลนด์ก็เคยออกกฎหมายในลักษณะคล้ายๆกัน โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2025 แต่กฎหมายดังกล่าวถูกถอดออกแล้ว หลังจากได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากเกษตรกร และมีการเปลี่ยนรัฐบาล โดยรัฐบาลนิวซีแลนด์ที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งในปี 2023 นั้นก็ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในเดนมาร์กเองก็มีคนออกมาคัดค้านกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน แต่คาดว่า รัฐสภาน่าจะผ่านการพิจารณากฎหมายตัวนี้ภายในปลายปีนี้
ทั้งนี้ ตามปกติแล้ว วัวในประเทศเดนมาร์กจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 6 ตันต่อปี โดยเดนมาร์กถือเป็นประเทศที่ส่งออกผลิตภัณฑ์จากนมวัวและเนื้อหมูรายใหญ่ของโลก
https://www.npr.org/2024/06/27/nx-s1-5021147/denmark-carbon-tax-cows-pigs-farms-worlds-first#:~:text=The%20aim%20is%20to%20reduce,kroner%20(%24108)%20by%202035.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
วันสิ่งแวดล้อมโลก ภาวะโลกร้อนทำให้ประเทศไทยมีโอกาสเป็นทะเลทรายหรือไม่ ?
“โลกร้อน” จะทำเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ อราคิน ชี้! ต้องเริ่มแก้จากตัวเอง