SHORT CUT
พิธีฮัจย์ ประจำปี 2567 มีผู้แสวงบุญราว 1.83 ล้านราย แต่อย่างไรก็ดี นครมักกะฮ์ได้เปลี่ยนกลายเป็นเตาอบ เพราะวัดอุณหภูมิได้ถึง 51.8 องศา จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดด 14 ราย และอีกหลายรายที่ยังสูญหาย
จบแล้วไปเรียบร้อยสำหรับ “ฮัจย์” หนึ่งในพิธีกรรมทางศาสนาประจำปีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก จัดขึ้นที่นครมักกะฮ์ โดยในปีนี้ สามารถดึงดูดผู้แสวงบุญได้ 1.83 ล้านคน น้อยกว่าปีที่แล้วอยู่ราย 1 แสนคน
แต่ประเด็นสำคัญของพิธีฮัจย์ที่กำลังถูกพูดถึงอยู่ ณ ขณะนี้คือเรื่องสภาพอากาศและการเสียชีวิตของผู้แสวงบุญ
ด้านเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซียกล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ 17 มิ.ย. ว่า มีผู้แสวงบุญชาวอินโดนีเซีย 136 รายเสียชีวิตระหว่างพิธีฮัจญ์ รวมถึงผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดดอย่างน้อย 3 ราย
กระทรวงการต่างประเทศจอร์แดน รายงานว่ามีพลเมืองของตัวเอง 14 รายที่เสียชีวิตจากการเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ในนครมักกะฮ์ และทุกรายพบว่าเสียชีวิตจากโรคลมแดด นอกจากนี้ ยังมีอีกกว่า 17 รายที่สูญหาย ซึ่งทางจอร์แดนสั่งระดมคนค้นหาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับร่างผู้เสียชีวิต ทางการจอร์แดนเปิดเผยว่ากำลังประสานงานกับซาอุฯ ถึงขั้นตอนการส่งร่างผู้เสียชีวิตกลับประเทศ และส่งให้ครอบครัวในลำดับถัดไป
ขณะเดียวกัน ทางการอิหร่านได้ออกมาเปิดเผยว่าพลเมืองของตนเองเสียชีวิตแล้ว 5 ราย แต่ไม่เปิดเผยสาเหตุ นอกจากนี้ กระทรวงต่างประเทศเซเนกัล เปิดเผยเช่นกันว่ามีผู้แสวงบุญเซเนกัลเสียชีวิต 3 ราย
โมฮัมเหม็ด อัล อับดุลอาลี โฆษกกระทรวงสาธารณสุขซาอุดิอาระเบีย เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูร้อน นครมักกะฮ์เปลี่ยนกลายเป็นเตาอบขนาดใหญ่
เมื่อวันจันทร์ผ่านมากรมอุตุนิยมวิทยาซาอุฯ สามารถบันทึกอุณหภูมิในนครมักกะฮ์ได้ 51.8 องศา ขณะเดียวกัน มินา หนึ่งในย่านของนครมักกะฮ์ เผชิญกับอุณหภูมิ 46 องศา
นอกจากนี้ เฉพาะวันอาทิตย์ (16 มิ.ย. 67) วันเดียว มีผู้แสวงบุญเป็นโรคลมแดดและมีอาการเครียดจากความร้อนราว 2,760 ราย
อย่างไรก็ดี ด้วยจำนวนผู้แสวงบุญที่มากเฉียด 2 ล้านราย ถือเป็นเรื่องท้าทายอย่างมากในการสร้างการจัดการที่เป็นระบบ ยกตัวอย่างเช่น ก่อนหน้านี้ นครมักกะฮ์เคยเกิดเหตุการณ์โกลาหลจากเหตุเตนท์ไฟไหม้ แต่หลายปีหลังมานี้ “สภาพอากาศร้อน” คือปัจจัยที่อันตรายที่สุด
ที่มา: South China Morning Post
ข่าวที่เกี่ยวข้อง