svasdssvasds

'รอมฎอน 2568' ความพร้อม "ถือศีลอด" ทั้งกาย-ใจ ของชาวมุสลิมทั่วโลก

'รอมฎอน 2568' ความพร้อม "ถือศีลอด" ทั้งกาย-ใจ ของชาวมุสลิมทั่วโลก

รอมฎอน 2568 ทำความรู้จัก “เดือนรอมฎอน” ประเพณีถือศีลอดของชาวมุสลิม พร้อมรู้ความสำคัญของเดือนอันประเสริฐ และวิธีการเตรียมตัวของผู้นับถือศาสนาอิสลาม

SHORT CUT

  • การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนถูกกำหนดให้เป็น 1 ในหลักปฏิบัติ 5 ประการของศาสนาอิสลาม เดือนนี้ชาวมุสลิมถือศีลอดในช่วงเวลากลางวันตั้งแต่เช้าจรดค่ำ
  • รอมฎอน เป็นเดือนที่สำคัญที่สุดเดือนหนึ่ง เนื่องจากชาวมุสลิมจะต้องปฏิบัติเพราะเป็นศาสนบัญญัติ นอกจากการงดอาหารทุกชนิด ยังให้อดทนต่อสิ่งรอบตัว หยุดทำความชั่ว
  • การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ถือศีลอดได้สัมผัสและรับรู้ถึงความทุกข์ยากลำบาก ได้เรียนรู้ถึงอุปสรรรคต่างๆ ของการดำเนินชีวิต

รอมฎอน 2568 ทำความรู้จัก “เดือนรอมฎอน” ประเพณีถือศีลอดของชาวมุสลิม พร้อมรู้ความสำคัญของเดือนอันประเสริฐ และวิธีการเตรียมตัวของผู้นับถือศาสนาอิสลาม

เดือนรอมฎอน 2568 หรือเดือนที่ 9 ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1446  ทางสำนักจุฬาราชมนตรีกำหนดให้มุสลิมทั่วประเทศร่วมกันดูดวงจันทร์ ในช่วงดวงอาทิตย์ตกของวันที่ 28 ก.พ. 2568 หากผลการสังเกตดวงจันทร์ในวันเวลาดังกล่าว มีผู้พบเห็นดวงจันทร์เสี้ยวแรก ชาวไทยมุสลิมก็จะกำหนดให้วันเสาร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2568 เป็นวันเริ่มต้นเดือน หรือวันที่ 1 เดือนรอมฎอน ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1446

แต่ถ้าหากในวันนั้นไม่มีผู้ใดเห็นจันทร์เสี้ยวขึ้นหนึ่งค่ำก็ให้นับวันที่ 1 เดือนรอมฎอนในวันถัดไป นั่นคือวันอาทิตย์ที่ 2 มีนาคม 2568 ส่วนวันสิ้นสุด รอมฎอนให้นับวันขึ้น 1 ค่ำของเดือนถัดไปเป็นหลัก หนึ่งเดือนตามปฏิทินอาหรับจึงมี 29 หรือ 30 วัน

สำนักจุฬาราชมนตรีกำหนดให้มุสลิมทั่วประเทศร่วมกันดูดวงจันทร์

การถือศีลอด 1 ในหลักปฏิบัติ 5 ประการของศาสนาอิสลาม

การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนถูกกำหนดให้เป็น 1 ในหลักปฏิบัติ 5 ประการของศาสนาอิสลาม เดือนนี้ชาวมุสลิมถือศีลอดในช่วงเวลากลางวันตั้งแต่เช้าจรดค่ำโดยไม่ดื่มน้ำและอาหารล่วงหล่นผ่านลำคอลงไปเลย หากผู้นั้นเป็นมุสลิม ไม่ว่าหญิงหรือชาย ยกเว้นคนเสียจริต ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ที่กำลังเดินทาง คนชรา ผู้เยาว์ หญิงซึ่งกำลังตั้งครรภ์ หญิงผู้กำลังให้นมบุตร ผู้ป่วยเบาหวาน หญิงที่กำลังมีประจำเดือน

ทุกคืนในเดือนศักดิ์สิทธิ์นี้มีการละหมาดเพิ่ม ซึ่งเรียกว่า ละหมาดตะรอเวียะห์ เป็นการละหมาดเพิ่มเติมทุกคืน ตรงกันข้ามกับความเชื่อที่ละหมาดวันละ 5 ครั้ง ไม่มีการบังคับการอ่านพระคัมภีร์อัลกุรอาน แต่ชาวมุสลิมได้รับการเชิญชวนให้อ่านอัลกุรอานทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วยสามสิบญุซ (ส่วน) ตลอด 30 วันของเดือนรอมฎอน

การอ่านพระคัมภีร์อัลกุรอานในเดือนรอมฎอน

 

ความสำคัญของ “เดือนรอมฎอน 2568” 

การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ถือศีลอดได้สัมผัสและรับรู้ถึงความทุกข์ยากลำบาก ได้เรียนรู้ถึงอุปสรรรคต่างๆ ของการดำเนินชีวิต เพื่อให้ผู้ถือศีลอด รู้จักอดทนอดกลั้นต่อความทุกข์ยากต่างๆ ช่วยฝึกฝนจิตใจของชาวมุสลิมทุกคนให้เป็นผู้มีสติ หนักแน่น มีจิตใจอดทนอดกลั้น ทั้งต่อความหิวโหย ต่อความโกรธ ความปรารถนาแห่งอารมณ์ และสิ่งยั่วยวน

ผลที่ได้จากความเพียร อาจนำไปสู่การพัฒนาตนเองไปในทางที่ดี มีความใฝ่สูงด้านจิตใจอยู่ตลอดเวลา จิตสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน และพร้อมที่จะเผชิญและฝ่าฝันอุปสรรคต่างๆ นานา มุ่งสู่ความสำเร็จ

ละหมาดตะรอเวียะห์ในเดือนรอมฎอน

การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิมจึงมีประโยชน์อย่างต่อการดำเนินชีวิต ต่อหน้าที่การงาน และกิจวัตรประจำวันของชาวมุสลิม นอกเหนือไปจากความยำเกรง และศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะได้ใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้า

\'รอมฎอน 2568\' ความพร้อม "ถือศีลอด" ทั้งกาย-ใจ ของชาวมุสลิมทั่วโลก

ข้อควรปฏิบัติในการถือศีลอด

  1. รับประทานอาหารซุโฮร์ให้ใกล้หมดเวลา และรีบละศีลอดเมื่อเข้าเวลา
  2. ไม่พูดนินทา ไม่คิดร้าย ทำใจให้สงบ อ่านอัลกุรอ่าน
  3. เคี้ยวอาหารช้าๆ ควรทานอาหารไม่อิ่มแน่นมาก
  4.  ดื่มน้ำสะอาดมากๆ หลังรับประทานอาหาร
  5. รับประทานอาหารเหมือนปกติ ไม่ควรเพิ่มอาหารมาก
  6. เลือกอาหารที่ดี มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
  7. ไปละหมาดตะรอเวียะฮ์ (การละหมาดในเดือนรอมฏอน) ทุกๆ วัน
  8. แบ่งปันอาหารให้ผู้ที่ถือศีลอด
  9. ตั้งใจเลิกสิ่งเสพติดต่างๆ เช่น บุหรี่, ชา, กาแฟ ฯลฯ
  10. ตรวจร่างกายก่อนเข้าเดือนรอมฎอน และหลังจากสิ้นเดือนรอมฎอน

ข้อห้ามขณะถือศีลอด

  1. ห้ามรับประทานหรือดื่ม รวมทั้งการสูบบุหรี่
  2. ห้ามร่วมประเวณี หรือทำให้อสุจิออกมา
  3. ห้ามทำให้อาเจียน โดยเจตนา
  4. ห้ามเอาสิ่งใดเข้าไปจนลึกเกินบริเวณภายนอกในอวัยวะที่เป็นรู เช่น ปาก จมูก

ข้อควรปฏิบัติสำหรับคนต่างศาสนา   

  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำต่อหน้าในช่วงกลางวัน โดยเฉพาะในสถานที่ที่มีชาวมุสลิมอยู่จำนวนมาก เช่น ที่ทำงาน หรือโรงเรียน 
  • ควรระมัดระวังเรื่องการพูดคุยเกี่ยวกับอาหาร หรือเครื่องดื่ม ที่อาจกระทบจิตใจผู้ที่ถือศีลอด

ชาวมุสลิมเริ่มถือศีลอด ตั้งแต่อายุเท่าไหร่

สำหรับคนทั่วไปรู้ดีว่ามุสลิมในวัยเข้าเกณฑ์ตามศาสนบัญญัติคือชายที่เริ่มมีอสุจิ หรือหญิงเริ่มมีประจำเดือนหรือประมาณอายุ 13-15 ปีจะถือศีลอดกันตลอดเดือนรอมฎอน วิธีการคือตื่นขึ้นมากินอาหารก่อนแสงเงินแสงทองจับท้องฟ้าเรียกว่าอาหารซุโฮร์ จากนั้นอดอาหารและน้ำตลอดทั้งวัน เริ่มกินอาหารได้อีกครั้งเมื่อดวงอาทิตย์ตกเรียกว่าอาหารอิฟตาร์ ตลอดทั้งวันจึงกินอาหาร 2 มื้อ โดยแต่ละมื้อยังกินน้อยกว่าปกติ พลังงานที่ได้รับต่อวันจึงลดลง

วันแรกและวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอนถูกกำหนดโดยปฏิทินอิสลามตามจันทรคติให้เป็นวันที่สำคัญที่สุดของเดือน เพราะเชื่อกันว่า รางวัลทางจิตวิญญาณ ของการถือศีลอดจะเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอนนี้เท่านั้น ดังนั้น มุสลิมจึงละเว้นไม่เพียงแค่อาหารและเครื่องดื่มเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเว้นขาดจากการเสพผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกชนิด ความสัมพันธ์ทางเพศ และพฤติกรรมที่เป็นบาปอื่นๆ ด้วย

การอดอาหารจะเป็นในเดือนรอมฎอนหรือนอกเดือนรอมฎอน มุสลิมจะถือกันอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่มีแสงอาทิตย์ หากเป็นประเทศไทยการถือศีลอดไม่กินไม่ดื่มจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องตลอด 12-14 ชั่วโมง บางประเทศอาจมีช่วงเวลาของแสงอาทิตย์ยาวกว่านี้เป็นต้นว่า 18 ชั่วโมง แต่บางพื้นที่ของโลกอาจมีช่วงเวลาของแสงอาทิตย์สั้นลงประมาณ 8 ชั่วโมง ดังนั้นการอดอาหารที่แนะนำกันจึงให้อดต่อเนื่องกันไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมงจึงจะให้ผลดีต่อสุขภาพ การกินอาหารน้อยลงแต่แบ่งเป็นอาหารมื้อเล็กๆกินทั้งวันเพื่อลดอาการหิวนั้นไม่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพเลย

การไปละหมาดที่มัสยิดในเดือนรอมฎอน

เดือนรอมฎอน ขยับเร็วขึ้น 10-11 วันทุกปี แต่ละประเทศถือศีลอดระยะเวลาไม่เท่ากัน

เดือนรอมฎอนนอกจากการกำหนดเดือนในปฏิทินอิสลามที่ต้องสังเกตการณ์ดวงจันทร์เสี้ยวแรกแล้ว ยังมีความเกี่ยวข้องกับ "ดาราศาสตร์" อย่างเรื่องการหมุนรอบตัวเองของโลก และการที่แกนโลกเอียง ดังนี้

  • เดือนรอมฎอนขยับเร็วขึ้นมาทุกปีเมื่อเทียบกับปฏิทินสากล 

ในแต่ละปี เดือนรอมฎอนจะขยับเร็วขึ้นมา 10 หรือ 11 วัน เมื่อเทียบปฏิทินสากล (ปฏิทินเกรกอเรียน) ปฏิทินสากลนั้นใน 1 ปี มีจำนวณวัน 365 หรือ 366 วัน แตกต่างกับปฏิทินอิสลามแบบจันทรคติ (เดือนกอมารียะห์) ที่มีทั้งหมด 12 เดือน แต่หนึ่งเดือนกอมารียะห์นั้นจะมีจำนวณวัน 29 หรือ 30 วัน ขึ้นอยู่กับการสังเกตการณ์จันทร์เสี้ยวแรก

ดังนั้น 1 ปีของปฏิทินอิสลาม มีจํานวนวันประมาณ 354 หรือ 355 วัน น้อยกว่าปฏิทินสากลอยู่ประมาณ 10 หรือ 11 วัน ส่งผลให้แต่ละปี เดือนรอมฎอนจะขยับเร็วขึ้นมา และฤดูกาลที่ถือศีลอดจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เนื่องจากปฏิทินจันทรคติ เป็นปฏิทินไม่ตรงตามฤดูกาล สำหรับปีนี้ วันที่ 1 เดือนรอมฎอน ฮ.ศ. 1445 ตรงกับวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2566 (ตามประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรี) เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา วันที่ 1 เดือนรอมฎอน ฮ.ศ. 1444 ตรงกับวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2566  ขยับเร็วขึ้นมากว่าปีที่แล้ว 11 วัน

  • ระยะเวลาถือศีลอดในหนึ่งวันของมุสลิมแต่ละพื้นที่บนโลกไม่เท่ากัน

ระยะเวลาการถือศีลอดของมุสลิมแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน เพราะแกนหมุนรอบตัวเองของโลกที่เอียงทำมุม 23.5 องศากับเส้นตั้งฉากระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ส่งผลให้พื้นที่ต่างๆ บนโลก ได้รับแสงอาทิตย์ไม่เท่ากัน จึงทำให้เกิดฤดูกาลบนโลกและระยะเวลากลางวันและกลางคืนที่ต่างกัน เช่น ช่วงฤดูร้อนของประเทศทางซีกโลกเหนือ กลางวันจะยาวนานกว่ากลางคืน ในขณะที่ซีกโลกใต้จะเป็นฤดูหนาวที่มีกลางคืนยาวนานกว่ากลางวัน นั่นหมายความว่า ในช่วงเดือนรอมฎอนของแต่ละปี มุสลิมแต่ละพื้นที่ทั่วโลกจะถือศีลอดใน “ฤดูกาล” ที่แตกต่างกัน  ส่งผลให้มีระยะเวลากลางวัน - กลางคืนแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ  

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related