SHORT CUT
การถือศีลอดของชาวมุสลิม ไม่ใช่การทรมานร่างกายแต่ในทางกลับกันมันให้ในสิ่งที่มีคุณค่าต่อร่างกายอย่างมาก
ในช่วงนี้เป็นช่วงถือศีลอดของพี่น้องชาวมุสลิม ซึ่งปฏิทินอิสลามเป็นช่วงเดือนรอมฎอนหรือเดือนที่ 9 เป็นเดือนที่ชาวมุสลิมต้องถือศีลอดในช่วงเวลากลางวันตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก โดยไม่ดื่มน้ำและอาหารเลย หากผู้นั้นเป็นมุสลิม ไม่ว่าหญิงหรือชาย แต่ตามหลักของศาสนาก็ได้มีการยกเว้นให้บุคคลที่ไม่ต้องถือศิลอดดังนี้ คนเสียจริต ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ที่กำลังเดินทาง คนชรา ผู้เยาว์ หญิงซึ่งกำลังตั้งครรภ์ หญิงผู้กำลังให้นมบุตร ผู้ป่วยเบาหวาน หญิงที่กำลังมีประจำเดือน
ระยะเวลาการถือศีลอด ในเดือนรอมฎอนจะใช้ระยะเวลาในการละเว้นจากสิ่งต้องห้าม โดยเฉลี่ยประมาณ 13 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งโดยปกติคนเราทุกคนมีการอดอาหารอยู่แล้วครั้งละ 10-12 ชั่วโมง คือหลังอาหารเย็น จนถึงการเริ่มกินอาหารเช้าในวันใหม่
อย่างไรก็ตามทางการแพทย์ การตรวจวินิจฉัยโรค การเจาะเลือดผู้ป่วย ก็ต้องอดอาหารเป็นระยะเวลา 10-12 ชั่วโมงเช่นกัน ดังนั้นจะเห็นว่าระยะเวลาของการถือศีลอดไม่ขัดต่อหลักการตามธรรมชาติ หรือทางการแพทย์ แต่จะมีความแตกต่างกันอยู่ที่ช่วงเวลาคือถือศีลอดจะอดช่วงเวลากลางวัน เพราะมีจุดประสงค์ที่มากกว่าการอดอาหารทั่วไปตามหลักศาสนา
ทั้งนี้การอดอาหารนั้นจะช่วยทำให้ร่างกายได้ล้างพิษและทำให้อวัยวะย่อยอาหารได้พักผ่อน หลังจากทำงานหนักมาตลอด 1 ปี ซึ่งประโยชน์ของการถือศีลอดนอกจากจะได้สุขภาพร่างกายที่แข็งแรงแล้วยังจะได้สุขภาพจิตใจที่ดีขึ้นด้วย
การทำ (IF) Intermittent Fasting เป็นวิธีการลดน้ำหนักอีกวิธีหนึ่งโดยการควบคุมแคลอรี และจำกัดเวลาในการทานอาหาร โดยวิธีที่ได้รับความนิยมก็คือจำกัดเวลาทานอาหาร 8 ชั่วโมง และอดอาหาร 16 ชั่วโมง โดยไม่ได้เน้นที่การปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริโภคอาหาร แต่การกำหนดเวลาในการรับประทานอาหารจะทำให้ลดปริมาณการกินอาหารและลดพลังงานจากอาหารที่ได้รับ
เมื่อน้ำหนักลดลง ปริมาณไขมันในร่างกายลดลง จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังแบบไม่ติดต่อต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน ไขมันสูง ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง ช่วยให้ระบบประสาททำงานได้ดียิ่งขึ้น ลดความเสี่ยงการเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ มีผลการวิจัยพบว่า การทำ IF ช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์ มีงานวิจัยหลายชิ้น เช่น งานวิจัยของ Harvard T.H. Chan School of Public Health ที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2017 แสดงให้เห็นว่า การอดอาหารมีแนวโน้มทำให้ชีวิตยืนยาวขึ้น โดย IF จะกระตุ้นการกลืนกินตัวเองของเซลล์ (Autophagy) ซึ่งเป็นกลไกที่ช่วยให้เกิดการซ่อมแซมระดับเซลล์ โดยปกติเซลล์ในร่างกายมีการสร้างใหม่และตายไปตลอดเวลา เมื่อเกิดการกลืนกินตัวเองของเซลล์จะมีการสร้างเซลล์ใหม่ที่แข็งแรงมาแทนเซลล์เก่าที่เสื่อมสภาพไป
ข้อมูลจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ , โรงพยาบาลสิโรรสปัตตานี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง