SHORT CUT
อุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยอาจพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ เทียบเท่ากับอุณหภูมิทะเลทรายซาฮารา ภายในปี 2613 กลายเป็น "ประเทศที่ร้อนเกินกว่าจะอยู่อาศัยได้" คนรุ่นต่อไป อาจต้องเผชิญกับวิกฤตภัยพิบัติที่หนักหน่วง
นักวิทยาศาสตร์รายงานผลการศึกษาล่าสุดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่น่าตกใจ อนาคตอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยอาจพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ เทียบเท่ากับอุณหภูมิทะเลทรายซาฮารา ภายในปี 2613
การคาดการณ์ครั้งนี้สะท้อนถึงภาพฝันร้ายที่ประเทศไทยอาจกลายเป็น "ประเทศที่ร้อนเกินกว่าจะอยู่อาศัยได้" หากโลกยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอัตราสูงสุดต่อไป สภาพอากาศร้อนจัดเช่นนี้จะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคเกษตรกรรมและการดำรงชีวิตของประชาชนจำนวนมาก
ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้นใกล้เส้นศูนย์สูตร จึงมีอากาศร้อนเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม ปัญหาโลกร้อนไม่ได้เกิดจากสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง แต่เป็นผลรวมของแนวโน้มในระยะยาวของการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิผิวโลกอันเนื่องจากก๊าซเรือนกระจก
กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ฤดูร้อนปี 2567 ประเทศไทยจะมีอากาศร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป และมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยบริเวณประเทศไทยตอนบน 35-38°C โดยคาดการณ์อุณหภูมิสูงที่สุด 43 – 44.5°C ซึ่งใกล้เคียงหรือเทียบเท่ากับสถิติของประเทศไทย
จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า อุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยของไทยเพิ่มขึ้น 1.5°C นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งมากกว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่ 1.3°C นอกจากนี้ แบบจำลองยังคาดการณ์ว่าหากไม่มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อุณหภูมิเฉลี่ยของไทยจะเพิ่มขึ้นอีก 2.5-5.5°C ภายในปี 2643
สิ่งที่น่ากังวลคือแนวโน้มอุณหภูมิสูงเฉลี่ยของประเทศไทย ในปี 2566 อยู่ที่ 28.1°C สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา (2534-2563) และมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2613 อุณหภูมิเฉลี่ยรายปีของไทยจะพุ่งสูงกว่านั้นอย่างมาก เทียบเท่ากับอุณหภูมิในทะเลทรายซาฮารา ซึ่งคลื่นความร้อนสุดโหดในระดับดังกล่าวจะส่งผลให้พื้นที่ชุมชนเมืองใหญ่ในประเทศไทยไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ตลอดทั้งปี
ผลกระทบรุนแรงเช่นนี้ ทำให้ทุกภาคส่วนต้องมีแผนรับมือ และปรับตัวกับวิกฤตการณ์สภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน ทั้งคลื่นความร้อน ภัยแล้ง อุทกภัย และการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล เพื่อบรรเทาปัญหา
มิฉะนั้นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลต่อทุกภาคส่วนในประเทศไทย โดยเฉพาะคนรายได้น้อย ภาคเกษตรกรรม และประชากรกลุ่มเปราะบาง รวมถึงอนาคตของคนไทยรุ่นต่อไป ต้องเผชิญกับวิกฤตภัยพิบัติที่หนักหน่วง
หากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายใน 5 ทศวรรษข้างหน้า โลกจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งไม่ใช่แค่กับประเทศไทย แต่เกือบหนึ่งในสามของประชากรโลก จะต้องดำรงชีวิตท่ามกลางสภาวะอากาศร้อนรุนแรงเสมือนทะเลทรายซาฮารา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง