SHORT CUT
ฤดูหนาวในมองโกเลียปีนี้รุนแรงกว่าที่เคย น้ำแข็งปกคลุมหญ้าทำสัตว์กินหญ้าไม่ได้ ส่วนใหญ่อดยากและเหนื่อยล้า กระทั่งล่าสุด มีรายงานว่า อากาศหนาวคร่าชีวิตสัตว์ในมองโกเลียไปแล้วทั้งสิ้น 2 ล้านตัว
อากาศติดลบ 50 องศานับว่าไม่ใช่เรื่องแปลกเลยสำหรับมองโกเลีย ฤดูหนาวของมองโกเลียเริ่มต้นตั้งเดือน พ.ย. - มี.ค. นับเป็นเวลา 5 เดือนเต็มดินแดนแห่งนี้ต้องเผชิญกับสภาพอากาศหนาวอันหฤโหด
แม้จะเผชิญกับอากาศหนาวกันจนชิน แต่องค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า ฤดูหนาวในมองโกเลียปีนี้รุนแรงกว่าปกติ ทำให้สัตว์อดยากและเหนื่อยล้า
กระทั่งล่าสุด มีรายงานระบุว่า อากาศหนาวคร่าสัตว์ในมองโกเลียไปแล้วทั้งสิ้น 2 ล้านตัว เหตุการณ์ลักษณะนี้เข้าข่ายปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “Dzud”
ว่ากันง่าย ๆ “Dzud” คืออากาศหนาวขั้นรุนแรงจนเป็นเหตุให้สัตว์อย่าง แกะ แพะ ม้าและวัว ต้องล้มตายเป็นจำนวนมาก ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มองโกเลียเกิด Dzud ไปทั้งหมด 6 ครั้ง และหากนับแค่เฉพาะปี 2565 – 2566 พบว่ามีสัตว์เสียชีวิตทั้งสิ้น 4.4 ล้านตัว
“Dzud” ครั้งที่รุนแรงที่สุดคือช่วงปี 2553 – 2554 ในครั้งนั้นอากาศหนาวคร่าสัตว์ไปทั้งสิ้น 10 ล้านตัว คิดเป็น 1 ใน 4 ของปศุสัตว์ในมองโกเลีย
ช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ สภาพอากาศในมองโกเลียแปรปวนอย่างหนัก แถมคาดเดาไม่ได้ แม้แต่คนเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ก็ยังปรับตัวตามความแปรปรวนนี้ไม่ทัน
“พอเข้าฤดูหนาวหิมะก็ตก แต่จู่ ๆ อากาศก็ร้อนขึ้นจนหิมะละลาย หลังจากนั้นไม่นานอุณหภูมิก็ลดลงอีก จนทำให้หิมะกลายเป็นน้ำแข็ง ทุกวันนี้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงเร็วมาก” คนเลี้ยงสัตว์ในมองโกเลีย กล่าว
เมื่อหิมะถล่ม พื้นหญ้าปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง สรรพสัตว์ก็ไม่สามารถเจาะทะลุชั้นน้ำแข็งลงไปได้ ครั้นจะไปซื้ออาหารและหญ้าแห้งมาเลี้ยงก็ทำไม่ได้อีก เพราะที่หนทางถูกปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งทั่วหล้า
เบื้องต้น รัฐบาลเร่งเข้าช่วยเหลือแล้ว โดยการส่งอาหารและหญ้าแห้งเข้าไป โดยให้เหตุผลว่า กลัวว่าเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับต้น ๆ ของประเทศนั้น“ขาดตลาด”
“ในฐานะคนเลี้ยงสัตว์ พวกเราทุกข์ทรมานมากจากภัยแล้ง น้ำท่วมและอากาศหนาว”
“ถ้าอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าหิมะยังไม่ละลาย ผมคงทำได้แค่เตรียมบอกลาสัตว์ในคอกพวกนั้น”
“คนเลี้ยงสัตว์ทุกคนที่นี่ กำลังอธิษฐานขอให้อากาศอุ่นขึ้นเร็ว ๆ เพื่อให้น้ำแข็งละลาย สัตว์ของพวกเราจะได้มีหญ้ากินเป็นอาหาร”
ที่มา: IOL
ข่าวที่เกี่ยวข้อง