svasdssvasds

ไทยเร่งบูม "เทคโนโลยี CCS" ดักจับ- ป้องกัน CO2 สู่ชั้นบรรยากาศ

ไทยเร่งบูม "เทคโนโลยี CCS" ดักจับ- ป้องกัน CO2 สู่ชั้นบรรยากาศ

ไทยเร่งบูมเทคโนโลยี CCS ดักจับ- ป้องกัน CO2 สู่ชั้นบรรยากาศ ลดปล่อยก๊าซจากฟอสซิล โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบวนการกลั่นน้ำมัน โรงไฟฟ้าถูกแยกออกจากก๊าซชนิดอื่น ผ่านกระบวนการทางเคมีด้วยสารละลายเอมีน

ไทยยังคงเดินหน้าแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด “นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ” ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่าว่า ทิศทางและนโยบายพลังงาน ภาคพลังงานถือเป็นตัวใหญ่ที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนโดยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะด้านไฟฟ้า

ทั้งนี้กระทรวงพลังงาน เห็นว่าโลกมีการตื่นตัว โดยพบว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่จะช่วยได้เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นต้นเหตุของโลกร้อน เช่น การใช้พลังงานสะอาดในรูปแบบต่างๆ ที่ค่าใช้จ่ายและเทคโนโลยีเริ่มถูกลง ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เป็นต้น ที่ช่วงแรกไม่มีใครกล้าลงทุน เช่น การทำโซลาร์ฟาร์ม 1 แห่ง ต้องใช้เงินลงทุนถึง 130 ล้านบาท ซึ่งตอนนี้อยู่ระดับ 15-20 ล้านบาท

 

พร้อมกันนี้ยังเดินหน้าส่งเสริมพลังงานไฮโดรเจน และเทคโนโลยี CCS ที่จะเข้ามาทดแทน ซึ่งปัจจุบันยังแพงโดยแผนพลังงานชาติ ฉบับใหม่จะผสมผสานนำเอาไฮโดรเจนเข้าลงท่อก๊าซในโครงการนำร่องพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในขณะที่เทคโนโลยี CCS ได้สำรวจแหล่งผลิตปิโตรเลียมที่แหล่งอาทิตย์ และแม่เมาะ ราว 40 ล้านตัน แม้ปัจจุบันจะพยายามลดสัดส่วนฟอสซิลในน้ำมัน โดยผสมเอทานอล หรือไบโอดีเซลระดับ 7-10% ซึ่งยังถือว่าน้อยมาก

 

จากการที่กระทรวงพลังงานเร่งส่งเสริมเทคโนโลยี CCS วันนี้ #สปริงนิวส์ จะพาไปส่องดูว่าไทยมีความพร้อม และความเคลื่อนไหวเรื่องนี้เป็นอย่างไร ก่อนอื่นมาทำความรู้จักก่อนว่า CCS (Carbon Capture and Storage) คือ กระบวนการในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งกำเนิดในภาคอุตสาหกรรม และนำมากักเก็บไว้ในชั้นหินใต้ดินอย่างถาวร โดยไม่มีการปล่อยกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งต้องได้รับการบริหารจัดการ การติดตาม และตรวจสอบอย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดความปลอดภัยทุกขั้นตอน

สำหรับความเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เผยว่า ปตท.สผ. มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการปัญหาก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อน จึงได้ตั้งเป้าหมายและแผนการดำเนินงานของบริษัท เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ผ่านแนวคิด EP Net Zero 2050

โดยหนึ่งในแผนงานที่สำคัญดังกล่าว คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียม ด้วยการพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่หลาย ๆ ประเทศวางแผนให้เป็นเทคโนโลยีหลักในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ในปริมาณมากกว่าเทคโนโลยีแบบอื่น

อย่างไรก็ตามปตท.สผ.ได้เริ่มการศึกษาและพัฒนาโครงการ CCS ที่โครงการอาทิตย์ในอ่าวไทย เมื่อปี 2564 ถือเป็นการริเริ่มพัฒนาโครงการ CCS ครั้งแรกในประเทศไทย โดยขณะนี้ได้เสร็จสิ้นการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility study) ซึ่งครอบคลุมด้านการตรวจสอบและประเมินความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนของชั้นหินใต้ดินเบื้องต้น ด้านการออกแบบกระบวนการดักจับและกักเก็บ ด้านแผนการเจาะหลุมสำหรับกักเก็บ เป็นต้น และขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาทางวิศวกรรมเบื้องต้น (Pre-FEED study)  ปตท.สผ. คาดว่าจะเริ่มใช้เทคโนโลยี CCS ในโครงการอาทิตย์ได้ในปี 2569

ด้านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะหน่วยงานด้านพลังงานของประเทศมีความมุ่งมั่นพัฒนาการผลิต และส่งไฟฟ้าด้วยนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมสนับสนุนกิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงได้ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิจัยและพัฒนานวัตกรรมภายใต้โครงการนี้

และใช้ประโยชน์จากคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Utilization:CCU) ที่มีเป้าหมายสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงไฟฟ้า ผลที่ได้จากงานวิจัยครั้งนี้ จะช่วยพัฒนาองค์ความรู้ สู่อุปกรณ์ต้นแบบสำหรับทดลองกับโรงไฟฟ้า กฟผ. เพื่อบรรเทาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ลดผลกระทบจากวิกฤตการณ์ภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน

ต้องจับตาดู! เทคโนโลยี CCS จะสามารถดักจับ- และป้องกันการปล่อย CO2 สู่ชั้นบรรยากาศ และในอนาคตจะมีการใช้เทคโนโลยีนี้มากน้อยเพียงใด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related