COP28 ยังจำเป็นอยู่ใช่ไหม? รายงานใหม่เผย ปี 2023 คาร์บอนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ การประชุม COP28 ที่กำลังเกิดขึ้น อาจไม่บรรลุแก้โลกร้อน เพราะผู้มีอำนาจไม่ยอมยุติเชื้อเพลิงฟอสซิล
เรียกได้ว่า วางหลักฐานลงท่ามกลางวงสนทนาอันสวยหรู! เป้าหมายลดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เหมือนจะไกลเกินเอื้อมมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่ารัฐบาลทั่วโลกจะสัญญาไว้ว่าจะช่วยกันออกนโยบายไม่ให้โลกร้อนมากไปกว่านี้ แต่โลกยังคงร้อนไม่หยุด หมายความว่าที่ผ่านมา การประชุมแก้โลกร้อน ไม่ประสบความสำเร็จใช่หรือไหม?
รายงานจาก Global Carbon Project เผยว่า โลกกำลังเพิ่มการเผาไหม้ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซมากขึ้นในปี 2566 มากกว่าที่เคยเกิดขึ้นในปี 2565 แม้ว่าการเติบโตของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะชะลอตัวลงมากแล้วในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ในแต่ละปียังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
โดยคาดการณ์ว่าปี 2566 มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาทั้งหมด 40.9 กิกะตัน แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และโลกอาจผลาญงบประมาณลดคาร์บอนลงไปเรื่อย ๆ อย่างไร้ประโยชน์
นักวิจัยคาดว่า การปล่อยเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เพิ่มขึ้นในปีนี้มาจาก อินเดียและจีน ซึ่งเป็นผู้ก่อมลพิษใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของโลก รองลงมาคือสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งจากการสืบไปยังต้นตอ การปล่อยก๊าซมาจากการตัดไม้ทำลายป่าและการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเพื่ออุตสาหกรรม ซึ่งปริมาณที่เผาผลาญไม่สมดุลกับการปลูกต้นไม้เพื่อชดเชยคาร์บอนในปัจจุบัน
ช่วงต้นเดือนธันวาคม 2566 ทั่วโลกได้จัดงานประชุมประจำปีสุดยิ่งใหญ่ COP28 (Conference of the Parties) การประชุมแก้โลกร้อน ที่ได้รวบรวมเอาผู้นำ ตัวแทนประเทศ ตัวแทนเอกชน ภาคประชาสังคมของแต่ละประเทศมาร่วมกันแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่กำลังเข้าขั้นวิกฤต
โดยในปีนี้มีรัฐบาลมากกว่า 117 รัฐบาลเข้าร่วมประชุม COP28 ที่จัดขึ้น ณ นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งหลายประเทศเห็นพ้องที่จะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานทดแทนของโลกเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า
ผู้อำนวยการวิจัยของสถาบันวิจัยสภาพภูมิอากาศซิเซโร Glen Peters เผยว่า “รัฐบาลต่าง ๆ มีความสุขที่ตนได้ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด แต่ก็ไม่ได้แอคชั่นอะไรเลยในการลงโทษการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ยังมีอยู่”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
COP28 ถูกกล่าวหา มีไว้ล็อบบี้เพื่อตกลงเรื่องน้ำมัน แจงแล้ว เป็น Fake News!
ชวนติดตาม COP28 การประชุมโลกร้อนที่ตั้งผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่เป็นประธาน?
อย่างที่กล่าวข้างต้น หลายประเทศแฮปปี้ที่จะขยายการใช้พลังงานสะอาด แต่ประเทศเหล่านั้นกลับไม่มีท่าทีต่อการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลงแต่อย่างใด
หากย้อนกลับไปในปี 2015 ข้อตกลงปารีสระบุว่า จะสร้างสมดุลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการ “ยุติ” การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก ซึ่งรัฐบาลต่าง ๆ ที่เป็นประเทศภาคีก็ให้การตกลงเห็นด้วย เพราะการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลมีหลักฐานประจักษ์แท้จริงว่าเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
อีกทั้ง COP28 ก็ยิ่งตอกย้ำ ว่าการยุติเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นไปได้ยาก ด้วยการแต่งตั้ง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นเจ้าภาพการประชุม ผู้มั่งคั่งไปด้วยการค้าขายน้ำมันจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่มีแผนจะขยายการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลออกไปพร้อมๆกับการขยายการใช้พลังงานหมุนเวียน
อย่างไรก็ตาม หลายกลุ่มรณรงค์โลกร้อนมองว่า รัฐต้องตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนขึ้น กระชับให้เร็วขึ้น เช่น บรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2030 และอย่าหวังพึ่งเทคโนโลยีดักจับมากจนเกินไป เพราะยิ่งดักจับ นั่นหมายความว่าจะยังคงมีการปล่อยออกมาเรื่อย ๆ
ที่มาข้อมูล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง