ช้างแอฟริกาตายหลายร้อยตัว นักวิจัยคาดเป็นเพราะเชื้อโรคชนิดหนึ่ง ที่แข็งแกร่งขึ้นเพราะภัยแล้ง จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือภ่วะโลกเดือด
หลายปีที่ผ่านมา ช้างแอฟริกาตายไปแล้วหลายร้อยตัว รายงานวิจัยล่าสุดในวารสาร Nature Communications ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 25 ต.ค. เผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ เกิดการตายลึกลับของช้างแอฟริกาในบอตสวานา ซึ่งลักษณะคล้าย ๆ กับเหตุการณ์การตายปริศนาของช้างแอฟริกา 35 ตัวในซิมบับเว เมื่อปี 2563
ซึ่งปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก ก่อนหน้านี้ ก็พบซากช้างแอฟริกา 350 ตัวกระจัดกระจายในบอตสวานา โดยซากส่วนใหญ่ถูกพบใกล้กับแหล่งน้ำ ในตอนแรกนักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า ช้างอาจตายเพราะกินสารพิษที่มาจากสาหร่ายขนาดเล็กที่เรียกว่า “ไซยาโนแบคทีเรีย” พบได้ในแหล่งน้ำดื่มของสัตว์
แต่นักวิทย์ก็ยังไม่ปักใจเชื่อ จึงสันนิษฐานเพิ่มเติมอีกว่า อาจมาจากการระบาดครั้งใหญ่ของแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Pasteurella multocida ซึ่งมีความสามารถแพร่เชื้อสู่คนได้ หากพวกมันถูกสัตว์ป่าหรือสัตว์เลี้ยงกัดหรือข่วน เช่น แมวและสุนัข
P. multocida มีอยู่ตามธรรมชาติในสัตว์ป่าที่มีสุขภาพดี แต่สภาพแวดล้อมที่ตึงเครียด เช่น อุณหภูมิและความชื้นสูง อาจกระตุ้นให้แบคทีเรียเจริญเติบโตมากเกินไปจนกลายร่างเป็นเชื้อร้ายแรง โดยครั้งหนึ่งในปี 2015 เชื้อดังกล่าวได้สังหารละมั่งไซกา (Saigatataricatatarica) ประมาณ 200,000 ตัว หรือประมาณ 62% ของประชากรละมั่งในภาคกลางของคาซัคสถาน ด้วยเวลาเพียง 3 สัปดาห์
ในการศึกษาครั้งใหม่นี้ นักวิทยาศาสตร์จาก Victoria Falls Wildlife Trust, Animal and Plant Health Agency UK, University of Surrey และห้องทดลองในแอฟริกาใต้ ได้ทำการผ่าซากช้าง 15 ตัวในประเทศซิมบับเวที่ตายไป เพื่อหาสาเหตุการตายปริศนาของช้างแอฟริกา
พวกเขาได้พบกับแบคทีเรียชนิดหนึ่ง คือ Bisgaard tagon 45 ที่มีความเข้มข้นสูง มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเชื้อ P.multocida ที่พบได้ในสมอง ตับและม้าม โดยเชื้อใหม่นี้สามารถพบได้ในนกแก้วบางสายพันธุ์
อย่างไรก็ตาม การพบเชื้อในช้าง 15 ตัว ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุการณ์ตายที่ยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจน เนื่องจากว่า ยังมีซากช้างอีกหลายตัวที่ไม่ได้รับการตรวจสอบ เนื่องจากการเข้าถึงซากช้างเพื่อตรวจสอบสาเหตุการตายก็เป็นเรื่องที่ยากเช่นเดียวกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความลับแตก! นักวิทย์พบ ปลาดาว มีแต่หัว ไม่มีลำตัว ไม่มีขา ไม่มีแขน
ดร.คริส ฟ็อกกิน (Chris Foggin) ผู้เขียนรายงานการศึกษา และสัตวแพทย์สัตว์ป่าที่ Victoria Falls Wildlife Trust กล่าวว่า “เมื่อช้างตายเราต้องไปให้ทันเวลา ก่อนที่ซากจะย่อยสลายเพราะมันจะหาสาเหตุการตายยาก อีกอย่างซากช้างมีขนาดใหญ่มาก ดังนั้น นักวิจัยต้องมีใบอนุญาตพิเศษในการขนส่งตัวอย่าง และนั่นก็ต้องใช้เวลาอีก”
ตอนแรกนักวิทยาศาสตร์คาดว่าจะสามารถเข้าถึงช้างได้ทัน 25 ตัว ในซิมบับเว แต่เมื่อไปถึง อีก 10 ตัวก็ย่อยสลายมากเกินกว่าจะเก็บตัวอย่างได้แล้ว
จากการวิเคราะห์เพิ่มเติม ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการแพร่กระจายของแบคทีเรีย ส่วนหนึ่ง อาจมาจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและโครงสร้างทางสังคมของช้าง
สังคมการอยู่รวมฝูงอาจทำให้เชื้อสามารถกระจายติดต่อกันได้ง่ายมากขึ้น และส่วนหนึ่งคาดเกิดจากความเครียดของช้างต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสภาพอากาศสุดขั้ว เช่น ความแห้งแล้งหรือภัยแล้ง สร้างสุขภาพที่ย่ำแย่ให้แก่ช้าง และทำให้เกิดการแพร่ระบาดมากขึ้น
สภาพอากาศที่ไม่แน่นอน ส่งผลให้ประชากรของช้างลดจำนวนลง ในขณะที่สถานะของช้างแอฟริกาถูกขึ้นบัญชีสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ของ IUCN ไม่ใช่แค่สภาพอากาศเท่านั้น การลักลอบล่าสัตว์เพื่อเอางา ก็เป็นอุปสรรคชั้นหนึ่งของช้างแอฟริกา แม้ว่าในปัจจุบัน ความเข้มงวดของเจ้าหน้าที่จะทำให้การลักลอบลดลง แต่กลับได้ภัยแล้งเป็นนักล่าตัวต่อไปแทน
ที่มาข้อมูล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง