มหาสมุทรที่ร้อนขึ้นทำให้ประชากรปูหิมะอลาสก้าหดหาย จนทางการสหรัฐต้องสั่งงดทำประมงจับปูหิมะต่อเนื่องเป็นปีที่สอง
เมื่อปูอลาสก้าหายไปอย่างไร้ร่องรอย
ต่อไปเราอาจไม่มีปูหิมะอลาสก้ากิน หลังจากปูหิมะหลายพันล้านตัวได้หายไปจากมหาสมุทรรอบๆ อลาสก้าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า อุณหภูมิในมหาสมุทรที่อุ่นขึ้นอาจทำให้ปูหิมะที่อาศัยในน้ำเย็นจัดเหล่านี้ต้องอดตาย
ข้อค้นพบดังกล่าวที่เพิ่งตีพิมพ์โดยนักวิทยาศาสตร์จากองค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐ (NOAA) ได้รับการยืนยันเพียงไม่กี่วัน หลังจากที่กรมประมงแห่งอลาสกาประกาศยกเลิก ฤดูจับปูหิมะในปีนี้ ทำให้นี่เป็นปีที่สองติดต่อกันแล้วที่ฤดูจับปูหิมะอลาสก้าถูกยกเลิก
การศึกษาชิ้นนี้ซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (19 ตุลาคม 2566) พบว่า มีความเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างคลื่นความร้อนในทะเลในทะเลแบริ่งทางตะวันออกกับการหายตัวไปอย่างกะทันหันของปูหิมะที่เริ่มปรากฏขึ้นนับตั้งแต่การสำรวจในปี 2564
“เมื่อฉันได้รับข้อมูลในปี 2564 จากการสำรวจเป็นครั้งแรก มันทำให้ฉันว้าวุ่นอย่างมาก” Cody Szuwalskiผู้เขียนหลักของการศึกษาและนักชีววิทยาประมงของ NOAA กล่าว “ทุกคนก็แค่หวังและอธิษฐานว่านั่นเป็นข้อผิดพลาดในการสำรวจ และปีหน้าคุณจะได้เห็นปูหิมะเพิ่มขึ้น แต่ข้อมูลล่าสุดในปี 2566 กลับเผยว่า ปัญหานี้หนักหนาสาหัสจริง และหนทางในการแก้ไขยังคงอีกยาวไกล”
ปี 2565 เป็นปีแรกที่สหรัฐ ปิดการจับปูหิมะในอลาสก้า นักจับปลาเชื่อว่าจำนวนประชากรลดลงเนื่องจากการประมงมากเกินไป แต่แท้จริงแล้วนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า การหายไปอย่างฉับพลันของปูหิมะอลาสก้าเกิดจากการอพยพย้ายถิ่นครั้งใหญ่ หรือการตายหมู่ของปูหิมะ ซึ่งทั้งสองข้อสันนิษฐานล้วนอิงกับปัจจัยหลักเดียวกันคือทะเลที่อุ่นขึ้นจากสภาวะโลกร้อน
อย่างไรก็ตาม Szuwalski กล่าวว่า จากการสำรวจทั่วแถบทางเหนือของทะเลแบริ่ง ไปจนจรดน่านน้ำรัสเซียทางด้านตะวันตก หรือแม้แต่ลึกลงไปในมหาสมุทร ก็พบข้อสรุปว่าไม่พบปูย้ายถิ่นฐาน และการตายครั้งใหญ่น่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ประชากรปูหิมะลดลงอย่างมาก
ปูหิมะอลาสก้าอดตายในทะเลที่ร้อนขึ้น
ผลการศึกษาพบว่าปูหิมะเป็นสัตว์ในน้ำเย็นและพบได้ทั่วไปในบริเวณที่มีอุณหภูมิน้ำต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส แม้ว่าปูหิมะจะสามารถอยู่อาศัยได้ในน้ำที่มีอุณหภูมิสูงถึง 12 องศาเซลเซียส แต่น้ำทะเลที่อุ่นขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการเผาผลาญของปูและเพิ่มความต้องการอาหารของพวกมัน
นักวิจัยพบว่า ปริมาณพลังงานที่ปูเหล่านี้จำเป็นต้องใช้อาจเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า แต่เนื่องจากความร้อนในทะเลที่รบกวนระบบนิเวศและแหล่งอาหารส่วนใหญ่ของทะเลแบริ่ง ปูหิมะจึงพบกับความยากลำบากในการหาอาหารและไม่สามารถหาอาหารได้ทันกับความต้องการแคลอรี่ได้
ในขณะที่ทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น สัตว์สายพันธุ์อื่นๆ ได้ใช้ประโยชน์จากสถานการณ์เลวร้ายนี้ Kerim Aydin ผู้ร่วมเขียนการศึกษาและนักชีววิทยาการวิจัยประมงจากศูนย์วิทยาศาสตร์การประมงอลาสกาของ NOAA กล่าว
“โดยปกติแล้ว มีสิ่งกีดขวางด้านอุณหภูมิในมหาสมุทรเพื่อป้องกันไม่ให้สายพันธุ์ เช่น ปลาค็อดแปซิฟิก เข้าถึงแหล่งอาศัยที่เย็นจัดของปูหิมะได้ แต่ในช่วงที่เกิดคลื่นความร้อน ปลาค็อดแปซิฟิกสามารถไปยังผืนน้ำที่อุ่นกว่าปกติ และออกล่าปูหิมะอลาสก้าเป็นอาหาร”
นักวิทยาศาสตร์รายงาน อุณหภูมิทั่วอาร์กติกอุ่นขึ้นเร็วกว่าส่วนอื่นๆ ของโลกถึง 4 เท่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดการสูญเสียน้ำแข็งในทะเลอย่างรวดเร็วในภูมิภาคอาร์กติก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทะเลแบริ่งของอลาสกา
"สิ่งที่เกิดขึ้นกับปูหิมะในอลาสก้าเป็นข้อพิสูจน์ว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศกำลังเร่งตัวอย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต ผมรู้ว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้น ณ จุดใดจุดหนึ่ง แต่ผมไม่คาดคิดว่ามันจะเกิดขึ้นเร็วขนาดนี้” Szuwalski กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
งานวิจัยพิสูจน์ชัด สภาวะโลกร้อนกำลังฆ่าหมีขั้วโลกให้สูญพันธุ์
ภัยโลกเดือดมาแล้ว! UN ย้ำ โลกต้องเร่งปรับตัวและรับมือภัยพิบัติก่อนสาย
ที่มา: CNN