แคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำท่วมระลอกใหม่ แม้ตอนนี้ น้ำที่ท่วมจะเริ่มลดระดับแล้วก็ตาม โดยทางการ คาดจะมีพายุพัดถล่มอีกครั้งในช่วงสัปดาห์นี้ โดยปรากฏการณ์นี้เกิดจาก ระบบสภาพอากาศรุนแรง ที่เรียกว่า แม่น้ำในชั้นบรรยากาศ (Atmospheric River)
ทั้งนี้ ชาวแคลิฟอร์เนีย ต้องเจอกับพิษสภาพอากาศแปรปรวน ผลจากระบบสภาพอากาศรุนแรง หลังจากต้องเผชิญพายุหนักในช่วงปีใหม่ 2023 โดยทางการท้องถิ่นในเขตเซนทรัลวัลเลย์ (Central Valley) รัฐแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐฯ ต้องเตรียมพร้อมกับมือกับพายุอีกครั้ง โดยพายุที่จะเข้ามารอบใหม่ คาดว่าจะพัดถล่มอีกระลอกในช่วงกลางสัปดาห์นี้
ในช่วงสิ้นปี ชาวแคลิฟอร์เนีย เจอพายุพัดถล่มอย่างหนัก โดยที่ แซคราเมนโต วัลเลย์ (Sacramento Valley) มีปริมาณฝนมากถึง 12.70 เซนติเมตร และในพื้นที่ภูเขามีปริมาณฝนตกลงมามากกว่า 30 เซนติเมตร จนทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างในช่วงวันสิ้นปี และมีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1 คน ประชาชนจำนวนมากต้องอพยพออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำ รวมทั้งนักโทษมากกว่า 1,000 คน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ บ้านเรือนประชาชนมากกว่า 150,000 หลัง ไม่มีไฟฟ้าใช้ โดยทางการกำลังเร่งซ่อมแซมให้ระบบไฟฟ้ากลับมาทำงานได้ตามปกติ แต่ขณะนี้ยังคงมีบ้านเรือนไม่มีไฟฟ้าใช้อยู่ราว 8,700 หลัง
ในช่วงปีใหม่ 2023 แคลิฟอร์เนียตอนเหนือ ต้องถูกถล่มด้วยระบบสภาพอากาศรุนแรง ที่เรียกว่า “แม่น้ำในชั้นบรรยากาศ" (Atmospheric River) หรือกระแสของไอน้ำที่ไหลเวียนและพัดพาเอาความชุ่มชื้นไปทำให้เกิดพายุฝนในส่วนต่าง ๆ ของโลก
คำถามคือ “แม่น้ำในชั้นบรรยากาศ" (Atmospheric River) คืออะไร และมีผลกระทบต่อโลกของเราอย่างไร ?
ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่ชาวเมืองรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯที่ต้องเจอคือ เหตุการณ์ Atmospheric River (AR) หรือ ‘แม่น้ำในชั้นบรรยากาศ’ ไม่ใช่ชื่อเรียกของแม่น้ำสายไหน ที่อยู่บนพื้นโลก แต่เป็นชื่อเรียกของกระแสไอน้ำในชั้นบรรยากาศ ที่มีความกว้างประมาณ 400 - 600 กิโลเมตร เป็นกระแสไอน้ำตามธรรมชาติที่ไหลเวียนเป็นแนวยาว เหมือนแม่น้ำบนท้องฟ้า ที่คอยพัดพานำความชุ่มชื้นไปยังส่วนต่าง ๆ ของโลก ซึ่งอาจอยู่ไกลนับพันกิโลเมตร
แม้ ว่ามนุษย์เรา จะไม่สามารถมองเห็น “แม่น้ำในชั้นบรรยากาศ" (Atmospheric River) ได้ แต่แท้จริงแล้ว ผลกระทบของ “แม่น้ำในชั้นบรรยากาศ" (Atmospheric River) นั้นกว้างไกลกว่าแค่ในสหรัฐฯ แคนาดา หรือฮาวาย หรือที่แคลิฟอร์เนีย เผชิญอยู่ตอนนี้
โดย เมื่อ 3 ปีที่แล้ว นักวิจัยพบว่า “แม่น้ำในชั้นบรรยากาศ" (Atmospheric River) มีส่วนในการทำให้เกิดช่องโหว่ขนาดมหึมา บนผืนน้ำแข็งแถบขั้วโลกใต้ ในปรากฏการณ์ที่เรียกว่า โพลีเนีย (Polynya) ซึ่งมีส่วนในการทำให้โลกร้อนขึ้น เพราะขาดพื้นผิวสีขาวที่ช่วยสะท้อนแสงอาทิตย์กลับไปยังอวกาศ