20 กรกฎาคม จับตา สภาเลือกประธานาธิบดีศรีลังกา จะเป็นไปเพื่อการรักษาอำนาจ หรือตอบโจทย์ประชาชน ? ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการแก้วิกฤตทางการเมืองของประเทศศรีลังกา
หลังโกตาบายา ราชปักษา (Gotabaya Rajapaksa) ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีศรีลังกา เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 65 ที่ผ่านมา ก็ปลดล็อกการเมืองศรีลังกาได้ในระดับหนึ่ง โดยในวันนี้ (20 ก.ค.) สภาศรีลังกา จะมีการเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า จะเป็นไปเพื่อรักษาอำนาจ หรือตอบโจทย์ประชาชน ?
โจทย์ของประชาชน
หากพูดถึงสิ่งที่ชาวศรีลังกาต้องการ หลังเศรษฐกิจล่มสลายจากการบริหารประเทศทีผิดพลาดของ โกตาบายา ราชปักษา (Gotabaya Rajapaksa) แห่งพรรค Sri Lanka Podujana Peramuna (SLPP) ก็คืออยากให้มี “รัฐบาลแห่งชาติ” ที่ทุกพรรคร่วมด้วยช่วยกันหาทางออกให้ศรีลังกาจากวิกฤตเศรษฐกิจ
โดยผู้นำหรือประธานาธิบดีจะต้องได้รับการยอมรับจากชาวศรีลังกา และต่างประเทศ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ในระยะแรกของการแก้วิกฤตเศรษฐกิจ ศรีลังกาต้องอาศัยการช่วยเหลือด้านการเงินจากต่างชาติ เพื่อประคับประคองสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติ
บทความเกี่ยวกับศรีลังกา
ตระกูลราชปักษา ยังมีคะแนนเสียงมากที่สุดในสภา
และแน่นอนว่า สิ่งสำคัญที่ประชาชนศรีลังกาไม่ต้องการในเวลานี้ ก็คือคนของเครือข่ายตระกูลราชปักษา เข้ามาเป็นประธานาธิบดี แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า พรรค Sri Lanka Podujana Peramuna (SLPP) ของตระกูลราชปักษา ยังมี ส.ส.เยอะที่สุดและเยอะกว่าพรรคอื่นๆ เป็นอย่างมาก อีกทั้งมีรายงานว่า ทางพรรคให้การสนับสนุน รานิล วิกรามาสิงหะ นายกฯ และรักษาการประธานาธิบดีศรีลังกา เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีด้วย
ซึ่งถึงแม้ รานิล วิกรามาสิงหะ จะเป็นหัวหน้าพรรค United National Party (UNP) ไม่ใช่สมาชิกพรรค Sri Lanka Podujana Peramuna (SLPP) แต่ก็มีเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายของตระกูลราชปักษา และที่สำคัญในการประท้วงก่อนหน้านี้ ชาวศรีลังกาก็เรียกร้องให้รานิลลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ด้วย
แต่นอกจากรานิลจะไม่ยอมลาออก ยังแต่งตั้งตัวเองเป็นรักษาการประธานาธิบดี (ก่อนได้รับการรับรองจากสภา) และยังเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีก และหากรานิลได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี ก็มีแนวโน้มว่า วิกฤตทางการเมืองของศรีลังกาก็ยากที่จะจบลงได้ในเร็วๆ นี้
ทางออกของศรีลังกา ?
ส่วนด้านการรัฐประหาร เพื่อล้มกระดานทางการเมือง นักวิเคราะห์หลายคนก็มองว่า ยังเดาใจผู้นำกองทัพศรีลังกาลำบาก ว่าจะมีการขยับอย่างไร และในกรณีสมมตินะ สมมติว่ามีการรัฐประหาร ก็ต้องมาดูอีกว่า เป็นไปเพื่อรักษาอำนาจให้กับตระกูลราชปักษา ที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับกองทัพเป็นอย่างมาก หรือรัฐประหารเพื่อให้ผู้นำกองทัพขึ้นมาปกครองประเทศ ?
และอีกโจทย์หนึ่งที่สำคัญนั่นก็คือ ศรีลังกาในเวลานี้ต้องการความช่วยเหลือด้านการเงินจากต่างชาติเป็นอย่างมาก หากมีการใช้กำลังทหารยึดอำนาจ ก็อาจทำให้ต่างชาติถอยห่างได้ ด้วยเป็นวิถีทางที่โลกไม่ยอมรับ และตราบใดที่ศรีลังกายังหาทางออกจากวิกฤตการเมืองไม่ได้ การแก้ปัญหาอื่นๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจก็แทบเป็นไปไม่ได้เลย
หลักๆ แล้วในเวลานี้ ก็ต้องโฟกัสที่ว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ที่จะเข้ามาช่วยยุติความขัดแย้ง หรือเป็นเงื่อนไขให้วิกฤตทางเมืองของศรีลังกา ยังร้อนระอุต่อไป ?
อ้างอิง
ถอดบทเรียนประเทศล้มละลาย “ศรีลังกา” มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ?
จับตาศรีลังกา ฝ่าวิกฤตด้วยการเมือง หรือรัฐประหารผ่าทางตัน ?
ภาพจาก Nation Online