รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ วิเคราะห์เจาะลึกสถานการณ์ในศรีลังกา มีโอกาสจะเกิดการรัฐประหาร เพื่อผ่าทางตันหรือไม่ ?
จากกรณีวิกฤตศรีลังกา ที่ประชาชนลุกฮือขึ้นประท้วง เนื่องจากไม่พอใจรัฐบาลที่บริหารประเทศผิดพลาด จนทำให้เศรษฐกิจล่มสลาย มีการบุกเข้าในบ้านพักของประธานาธิบดี ทำเนียบรัฐบาล ฯลฯ เพื่อกดดันให้ โกตาบายา ราชปักษา (Gotabaya Rajapaksa) ประธานาธิบดีศรีลังกา ลาออกจากตำแหน่ง กระทั่งโกตาบายา ได้ลี้ภัยออกนอกประเทศเมื่อวันที่ 13 ก.ค. และมีรายงานข่าวว่าเขาได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีทางอีเมลแล้ว เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา
ซึ่งการลาออกของเขาถือได้ว่าเป็นการปลดล็อกที่สำคัญ ทำให้ศรีลังกามีทางออกจากสุญญากาศทางการเมืองที่กำลังวิกฤตอยู่ในเวลานี้ แต่เงื่อนไขในการกระทำรัฐประหารก็ยังไม่หมดลงไปสักทีเดียว ดังนั้นสิ่งที่ต้องจับตานับจากนี้คือ การประชุมรัฐสภา และการโหวตเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 20 ก.ค. นี้
โดย รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์วิเคราะห์ทางออกของประเทศศรีลังกา เมื่อช่วงเช้าวันที่ 14 ก.ค. ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ดำเนินรายการโดย ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ กับอมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ และ SPRiNG ได้สัมภาษณ์อาจารย์เพิ่มเติมช่วงเย็นวันที่ 15 ก.ค. ดังต่อไปนี้
บทความที่เกี่ยวข้อง
วิกฤตศรีลังการุนแรงขึ้นอีก ค่าไฟขึ้นสูง 835% และงดจำหน่ายน้ำมัน
เศรษฐกิจศรีลังกาพังทลาย หมดสิ้นแล้วทุกอย่าง นายกรัฐมนตรีรับเกินเยียวยา
รัฐบาลเสียงข้างน้อย ฝ่ายค้านอ่อนแอ
รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ได้เริ่มต้นด้วยการอธิบายรูปแบบของรัฐสภาศรีลังกาว่า มี ส.ส. 225 คน แบ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล 103 คน โดยเป็น ส.ส.พรรค Sri Lanka Podujana Peramuna (SLPP) ของตระกูลราชปักษา 100 คน กับอีก 2 พรรค ได้แก่ พรรค Eelam People's Democratic Party (EPDP) มี ส.ส. 2 คน และ พรรค United National Party (UNP) มี ส.ส. 1 คน โดยมี รานิล วิกรามาสิงหะ นายกฯ ศรีลังกา เป็นหัวหน้าพรรค (ล่าสุดแต่งตั้งตัวเองเป็นรักษาการประธานาธิบดี)
ส่วนพรรคร่วมฝ่ายค้านมี 122 คน แม้จะมีจำนวนมากกว่าพรรคร่วมรัฐบาล แต่ก็รวมตัวกันไม่ติด โดยพรรคฝ่ายค้านที่มีจำนวน ส.ส. มากที่สุดก็คือ Samagi Jana Balawegaya (SJB) มี ส.ส. 54 คน รองลงมาคือ พรรค Tamil National Alliance (TNA) มี ส.ส. 10 คน นอกนั้นเป็นพรรคขนาดเล็ก 12 พรรค ซึ่งแต่พรรคมี ส.ส. ราว 1 - 2 คน และยังมี ส.ส.อิสระ ที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองอีก 45 คน ซึ่งจากความอ่อนแอของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่รวมตัวกันไม่ติด ทำให้การตรวจสอบรัฐบาลเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ
สุญญากาศทางการเมือง
โกตาบายา ราชปักษา ลี้ภัยออกนอกประเทศ เมื่อวันที่ 13 ก.ค. แต่ยังไม่ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี ตามที่ได้ให้สัญญาไว้กับประชาชน (เพิ่งมาลาออกวันที่ 14 ก.ค.) ส่วน รานิล วิกรามาสิงหะ นอกจากไม่ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ แล้ว ยังแต่งตั้งตัวเองเป็น “รักษาการประธานาธิบดี” อีกด้วย
โดย รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ได้ระบุว่า การเป็นนายกฯ และรักษาการประธานาธิบดีของรานิล ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน แต่ด้วยความใฝ่ฝันที่ต้องการเป็นประธานาธิบดี รานิลจึงใช้จังหวะสุญญากาศทางการเมือง แต่งตั้งตัวเองเป็นรักษาการประธานาธิบดี ทั้งๆ ที่ไม่มีอำนาจรับรอง
รัฐบาลแห่งชาติ สิ่งที่ชาวศรีลังกาต้องการในเวลานี้
รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม วิเคราะห์ต่อไปว่า การที่โกตาบายาลี้ภัย แต่ยังไม่ยอมลาออก (ให้สัมภาษณ์ก่อนที่โกตาบายาลาออก) จึงแสดงให้เห็นถึงความพยายามรักษาอำนาจ
แต่สิ่งที่ประชาชนต้องการก็คือ “รัฐบาลแห่งชาติ” ที่มาจากทุกพรรค ที่ได้รับความเชื่อมั่นและต่างชาติให้การยอมรับ เพื่อประคับประคองสถานการณ์ และขอขยายเวลาการชำระหนี้ รวมถึงการขอช่วยเหลือทางการเงิน ก่อนที่เงินจากไอเอ็เอฟจะมาถึง เพราะในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ศรีลังกาต้องมีการเลือกตั้งใหญ่ตามกำหนดการอยู่แล้ว
แต่ปัญหาก็คือ พรรคร่วมฝ่ายค้านของศรีลังกามีกว่า 20 พรรค แล้วมี ส.ส.อิสระไม่สังกัดพรรคการเมืองอีกเป็นจำนวนมาก จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะหาฉันทามัติในการตั้งรัฐบาลแห่งชาติได้
โอกาสเกิดการรัฐประหารในศรีลังกา
รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม กล่าวว่า ประเทศที่ประชาธิปไตยยังอยู่ในช่วงล้มลุกคลุกคลาน มักวางอยู่บน 3 เสาหลัก ได้แก่
1. การเมือง
2. เศรษฐกิจ
3. กองทัพ
ดังนั้นเมื่อเสาเศรษฐกิจล้ม การเมืองก็มีแต่ทางตัน ก็เหลือเสาหลักเสาเดียว นั่นก็กองทัพ จึงมีโอกาสที่ทหารจะออกมารัฐประหาร แต่ก็ต้องดูต่อไปว่า เป็นไปได้หรือไม่ เพราะอย่าลืมว่าโกตาบายา ราชปักษา อดีตประธานาธิบดี ก็เคยเป็นนายทหารระดับผู้พัน อีกทั้งช่วงที่เขาเป็น รมว.กลาโหม ก็ได้สนับสนุนกองทัพให้เข้มแข็ง จนชนะพยัคฆ์ทมิฬอีแลมในสงครามกลางเมือง จึงมีความเป็นไปได้ว่า ความใกล้ชิดระหว่างโกตาบายากับกองทัพ ก็ยังมีอยู่สูง ดังนั้นหากทหารจะยึดอำนาจ ก็มีความเป็นไปได้ 2 ทาง คือ
1. รัฐประหารเพื่อเปิดทางให้ โกตาบายา ราชปักษา กลับมาได้
2. ยึดอำนาจแล้วผู้นำทางทหารขึ้นมาปกครองประเทศเอง
แต่ตอนนี้ทางกองทัพก็ยังไม่มีการเคลื่อนไหว ซึ่งก็ต้องจับตาต่อไปว่า นับจากนี้จะมีการขยับไปในทิศทางใด โดยการเงียบของกองทัพเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ ยิ่งหากต้องการยึดอำนาจ ก็ต้องดำเนินการต่างๆ อย่างเงียบเชียบที่สุด ไม่เช่นนั้นอาจกลายเป็นกบฏไปได้
โกตาบายา ลาออกจากประธานาธิบดี แนวโน้มศรีลังกาจะเป็นเช่นใด ?
ในวันที่ 15 ก.ค. หลังจากมีรายงานข่าวว่า โกตาบายา ราชปักษา ได้ส่งอีเมลลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี หลังจากได้เดินทางถึงประเทศสิงคโปร์ SPRiNG จึงติดต่อขอสัมภาษณ์ รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม เพิ่มเติมว่า เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้แล้ว โอกาสที่จะเกิดการรัฐประหาร ยังมีอยู่อีกหรือไม่ ?
ซึ่ง รศ.ดร.ปิติ ได้แสดงความคิดเห็นว่า การลาออกของโกตาบายาก็ปลดล็อกไปได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ยังเจอล็อกต่อไป เพราะคนที่มีแนวโน้มจะได้รับการสนับสนุนให้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีก็คือ มหินทา ยะปา อเบวาร์ดานา ประธานรัฐสภา ซึ่งจริงๆ แล้วก็มาจากพรรค Sri Lanka Podujana Peramuna (SLPP) ของตระกูลราชปักษา จึงอาจจะมีปัญหาตามมาว่า ประชาชนจะยอมรับได้หรือไม่ ส่วน รานิล วิกรามาสิงหะ นายกฯ และรักษาการประธานาธิบดี ก็แสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่า ยังอยากอยู่ในอำนาจต่อ
แต่คิดว่า ไม่ว่าประธานรัฐสภาจะได้เป็นประธานาธิบดี หรือรานิล วิกรามาสิงหะ จะอยู่ในอำนาจต่อ ก็สามารถพูดคุยต่อรองกันได้ เพราะเหมือนกับว่าทั้งสองอยู่ทีมเดียวกัน ส่วนสิ่งที่ประชาชนต้องการจริงๆ ก็คือ รัฐบาลแห่งชาติ ที่มีทุกพรรคการเมืองเข้ามามีส่วนร่วม
แต่ด้วยการที่ศรีลังกามีพรรคการเมืองจำนวนเยอะมาก จึงเป็นเรื่องลำบากในการทำงานร่วมกัน อีกทั้งจะทำงานอย่างไรโดยไม่ให้ถูกครอบงำจากพรรค Sri Lanka Podujana Peramuna (SLPP) ของตระกูลราชปักษา ที่ยังมีจำนวน ส.ส. มากที่สุดอยู่ในเวลานี้
การรัฐประหารยังมีความเป็นไปได้
รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ได้แสดงความคิดเห็นต่อไปว่า จากกรณีที่โกตาบายาลาออก หากมีการโหวตเลือกประธานาธิบดีในวันที่ 20 ก.ค. นี้ ผู้นำคนใหม่ก็ต้องประคับประคองประเทศจนกระทั่งมีการเลือกตั้งใหญ่ในเดือนพฤศจิกายน
แต่หากประเมินจากสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่ทุกอย่างยังมีปัญหา ไฟฟ้าก็ไม่มี น้ำมันก็ไม่มี ขนาดกระดาษยังขาดแคลน แล้วการเลือกตั้งที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก จึงเป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นการรัฐประหารจึงมีโอกาสเป็นไปได้อยู่ เพราะประเทศที่เป็นประชาธิปไตยในลักษณะนี้ มีโอกาสเกิดรัฐประหารได้ง่าย
ซึ่งถ้าตระกูลราชปักษาที่มีความสัมพันธ์กับกองทัพ ออกจากอำนาจไปแล้วจริงๆ ก็มีความเป็นไปได้ว่า หากการรัฐประหารเกิดขึ้น จะไม่ใช่การรัฐประหารเพื่อนำตระกูลราชปักษากลับคืนสู่อำนาจ แต่จะเป็นการรัฐบประหารที่ดำเนินการและจัดการกันเองของกลุ่มผู้นำทหาร
“อารมณ์ประมาณลุงตู่ เรียกฝ่ายการเมืองมาคุยกันที่สโมสรกองทัพบก แล้วบอกว่า ถ้าคุยกันไม่รู้เลย ก็ต้องขออนุญาตรัฐประหาร อย่างนั้นน่ะครับ” รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : จุดเปลี่ยนการเมืองศรีลังกา | เจาะลึกทั่วไทย | 14 ก.ค. 65