svasdssvasds

ถอดบทเรียนประเทศล้มละลาย “ศรีลังกา” มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ?

ถอดบทเรียนประเทศล้มละลาย “ศรีลังกา” มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ?

SPRiNG สัมภาษณ์ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ เจาะลึกวิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศศรีลังกา รวมถึงถอดบทเรียนความผิดพลาด เพื่อเป็นกรณีศึกษาอันทรงคุณค่า

จากกรณีวิกฤตศรีลังกา ที่ประสบปัญหาขาดแคลนพลังงาน อาหาร เงินเฟ้อพุ่งกระฉูด ฯลฯ กลายเป็นประเทศที่ล่มสลายทางเศรษฐกิจ จนประชาชนลุกฮือประท้วงอย่างรุนแรง เพื่อขับไล่ผู้นำและพวกพ้องลงจากตำแหน่ง  

SPRiNG สัมภาษณ์ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ที่จะมาวิเคราะห์เจาะลึกวิกฤตดังกล่าว พร้อมถอดบทเรียน ดังต่อไปนี้

SPRiNG : วิกฤตของศรีลังกาในเวลานี้ นับว่าหนักหนาสาหัสยิ่ง หากให้อาจารย์วิเคราะห์ คิดว่ามีปัจจัยจากอะไรบ้างครับ ?  

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ : ปี 2562 หลังการเลือกตั้ง ประธานาธิบดีศรีลังกา ซึ่งเป็นคนในตระกูลราชปักษา มีการแต่งตั้งเครือญาติจำนวนมาก เป็นนายกฯ เป็นรัฐมนตรี อันนี้ก็เป็นปัญหาของระบบอุปถัมภ์ทางการเมือง สาเหตุที่ตระกูลนี้ได้รับคะแนนเสียงเยอะในการเลือกตั้ง เพราะว่าเคยทำให้ประเทศมีเสถียรภาพ หลังปราบปรามกลุ่มกบฏทมิฬ

โดยรัฐบาลต้องการให้ศรีลังกาเป็นประเทศที่เน้นเรื่องปุ๋ยออร์แกนิค เน้นเรื่องสภาพแวดล้อม ต้องการเป็นผู้นำทางด้านนี้ จึงก็มีการออกกฎหมายที่ให้มีการใช้ปุ๋ยออร์แกนิค ซึ่งตรงนี้ทำให้เกิดปัญหาขึ้น เพราะว่าชาวไร่ชาวนาไม่คุ้นเคย แล้วมันก็แพง แต่กลับให้ผลตอบแทนน้อย ทำให้ชาวไร่ชาวนนาเดือดร้อนกันเยอะมาก อันนี้ก็คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดความไม่พอใจ

แต่สิ่งที่ทำให้เดือดร้อนยิ่งขึ้นอีก ก็คือการที่รัฐบาลต้องการเอาใจประชาชน แต่เลือกใช้วิธีการที่ผิด โดยการลดภาษีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม แล้วก็อีกหลายๆ อย่าง โดยหวังว่าจะเป็นตัวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เอาเข้าจริงๆ มันทำให้เกิดปัญหา เพราะเท่ากับว่ารัฐบาลลดรายได้เข้าประเทศลงอย่างมากมายมหาศาล แล้วก็มีปัญหาเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ตามมา ซึ่งไอเอ็มเอฟก็เตือนตั้งแต่แรกแล้ว

ถอดบทเรียนประเทศล้มละลาย “ศรีลังกา” มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ?

ต่อมาพอโรคโควิดระบาด การผลิตต่างๆ ก็มีปัญหา ต้องมีการล็อกดาวน์ ทำให้ประเทศยากจนลง ผลผลิตก็น้อย โดยที่ผ่านมาศรีลังกาพึ่งพาการท่องเที่ยวประมาณ 10 % ของ GDP แต่โควิดทำให้การท่องเที่ยวหายไปเลย

และที่สำคัญก็คือ พอเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็เพิ่มปัญหาให้อีกมหาศาล ทำให้พลังงานแพงขึ้นเยอะมาก ราคาอาหารสูงขึ้น เพราะว่าสงครามดังกล่าวทำให้ข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี ดอกทานตะวัน ข้าวโพด แล้วก็พวกปุ๋ย แพงขึ้นเหลือเกิน

ปัญหาที่ตามมาก็คือเงินเฟ้อสูงขึ้นมาก สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เหลืออยู่แค่ 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อถึงกำหนดต้องใช้หนี้ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ก็ไม่เพียงพอ ในกรณีนี้ก็คือ ประเทศล้มละลายเลย เพราะไม่สามารถชำระหนี้ได้

ในขณะเดียวกันก็ไม่มีการลงทุน การท่องเที่ยวก็หายไป ถามว่าแล้วอย่างนี้จะเอาเงินจากไหนมาสั่งซื้อสินค้า เช่น หยูกยาต่างๆ เพราะว่าประเทศไม่มีเงิน แล้วสินค้าหลายอย่างต้องนำเข้า เงินเฟ้อก็พุ่งขึ้นมาเป็นหลายสิบเปอร์เซ็นต์ อัตราการเติบโตก็ติดลบ ความยากจนก็แพร่กระจายไปทั่ว ประชาชนก็เดือดร้อน

ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีศรีลังกาก็พยายามให้มีการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาล (คนในตระกูลราชปักษาส่วนใหญ่มีตำแหน่งสำคัญในรัฐบาล) ก็มีการไล่ออกไปทีละคน กระทั่งไล่นายกฯ ออก แต่คนสุดท้ายก็คือ ประธานาธิบดี ไม่ยอมออก ประชาชนก็ลุกฮือขึ้น ก่อการประท้วงอย่างรุนแรง บุกเข้าไปในทำเนียบ ทำให้ทางประธานาธิบดีเห็นว่าอยู่ไม่ไหวแล้ว ถึงต้องประกาศลาออก (จะลาออกอย่างเป็นทางการวันที่ 13 ก.ค. นี้) เพราะประชาชนเดือดร้อน น้ำมันก็ไม่มี ต้องเข้าแถวต่อคิวยาวเป็นกิโลฯ ไฟฟ้าก็แทบจะไม่มีเลย รวมถึงอาหารต่างๆ ทั้งที่ครั้งหนึ่งประเทศศรีลังกาเคยได้ชื่อว่าร่ำรวยพอสมควร

อีกสิ่งที่เป็นปัญหาก็คือ ก่อนหน้านี้รัฐบาลมีการไปลงทุนผูกพันกับจีน สร้างท่าเรือและสร้างหลายสิ่งหลายอย่าง แต่ไม่มีการประเมินผลประโยชน์ตอบแทน ในที่สุดก็ไม่ได้ใช้ จึงไม่มีรายได้นำไปชำระหนี้ ทำให้ศรีลังกาเป็นหนี้จีนอย่างมหาศาล พอถึงจุดหนึ่งก็ต้องยกท่าเรือให้จีนเช่า 99 ปี ซึ่งเป็นเรื่องที่ฮือฮามาก โดยส่วนหนึ่งจีนใช้นโยบายขยายอิทธิพล อีกส่วนหนึ่งก็คือ สร้างกับดักทางด้านหนี้สินให้กับศรีลังกา เพื่อจะได้ยึดสาธารณูปโภคพื้นฐาน

ศรีลังกาจึงถูกรุมเร้าทุกมิติทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องขาดแคลนอาหาร ความยากจน เศรษฐกิจย่อยยับ เงินเฟ้อมหาศาล แล้วก็เกิดวิกฤตทางสังคม และวิกฤตทางการเมืองตามมา

บทความที่น่าสนใจ

ถอดบทเรียนประเทศล้มละลาย “ศรีลังกา” มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ?

SPRiNG : จากกรณีที่ประชาชนบุกเข้ายึดทำเนียบรัฐบาล และประธานาธิบดีประกาศว่า จะลงจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 13 ก.ค. นี้ อาจารย์คิดว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงภายหลังหรือไม่ และนับจากนี้ แนวโน้มของศรีลังกาจะเป็นเช่นใด ?

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ : ถ้าประธานาธิบดีศรีลังกากลับคำ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเขาจะรุนแรงมาก เพราะว่าประชาชนบุกเข้าไปในทำเนียบแล้ว และก่อนหน้านี้ก็มีการลุกฮือขึ้นมาแล้วหลายรอบ ถ้าเขายังดันทุรัง โกหก ผลกระทบก็จะมากยิ่งขึ้น

แต่ถามว่าต่อไปประเทศศรีลังกาจะเป็นอย่างไร ก็ขอเรียนอย่างนี้ครับ ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ เราจะเห็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งก็คือ การไล่ผู้นำออกจากตำแหน่ง แต่ในขณะเดียวกัน คนที่มาใหม่ก็บริหารประเทศลำบาก เพราะคนเก่าสร้างปัญหาไว้เยอะ กว่าคนใหม่จะแก้ได้ก็ต้องใช้เวลาหลายปี ด้วยนโยบายที่เข้มงวด ต้องมีการรัดเข็มขัด แล้วในหลายกรณีผู้นำคนเก่าก็มักจะกลับมามีอำนาจได้อีก

ผู้นำคนเก่าที่กลับมาได้นั้น แม้จะสร้างปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ แต่ว่าขณะเดียวกัน ก็ซื้อใจของประชาชนได้ เพราะใช้นโยบายประชานิยม อย่างเช่นในกรณีของอาร์เจนตินา พอทำประเทศเจ๊ง ก็เกิดแรงกดดันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังมีกลุ่มคนที่รักเขาอยู่ ต่อมาเมื่อผู้นำคนใหม่แก้ปัญหาไม่ได้ ในที่สุดคนก็เรียกร้องให้ผู้นำคนเก่ากลับมา

แต่ในกรณีของศรีลังกานี่ต่างกันครับ แม้ตอนแรกๆ คนรู้สึกพอใจ เพราะเขาใช้มาตรการเข้มข้นในการแก้ปัญหาทางการเมือง ทำให้เกิดความสงบสุข แต่ขณะเดียวกัน ก็ได้สร้างปัญหาให้กับประชาชนอย่างรุนแรงมาก จนประชาชนพยายามไล่ลงจากตำแหน่ง เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะกลับมา ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นัก

แต่ก็อย่าเพิ่งไปการันตี 100 % เพราะในโลกนี้มันมีอะไรที่แปลกๆ อยู่ ดูอย่าง เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์  ที่พ่อของเขา (เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส) ถูกประชาชนลุกฮือขับไล่ แต่หลายปีผ่านไปลูกก็ได้เป็นประธานาธิบดี แม้จะต้องใช้เวลานานก็ตาม 

ในกรณีของศรีลังกา สิ่งที่สำคัญก็คือ ถ้าฝ่ายที่ชนะเลือกตั้งอยู่คนละข้างกับอดีตผู้นำและคณะ พวกเขาก็คงถูกเล่นงาน เพราะมีปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใสด้วย แต่ถ้าผู้นำคนใหม่ยังเป็นกลุ่มที่ผูกพันกับกลุ่มอำนาจเก่า ก็จะทำให้ผลกระทบกับพวกเขาลดลงไป เพราะฉะนั้นยังไม่มีใครตอบได้ว่า จากนี้ไปสถานการณ์ทางการเมืองของศรีลังกาจะเป็นอย่างไร เพราะมันเป็นเรื่องของหมากรุกทางการเมือง

ถอดบทเรียนประเทศล้มละลาย “ศรีลังกา” มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ?

SPRiNG : และกรณีที่เศรษฐกิจของศรีลังกาล่มสลาย จีนในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่ กับไอเอ็มเอฟ จะเข้ามามีบทบาทอย่างไรบ้าง ?

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ : ศรีลังกาในฐานะที่เป็นลูกหนี้ของไอเอ็มเอฟ จะถูกสหรัฐฯ และชาติตะวันตก เข้าไปคุมเข้มทางเศรษฐกิจ แต่อาจจะไม่ได้เข้มข้นมากนัก เพราะปัจจุบันในไอเอ็มเอฟ จีนก็เข้าไปมีบทบาท เข้าไปมีสัดส่วนอยู่

ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ถ้าศรีลังกาเป็นแบบเวเนซุเอลา ที่มีความขัดแย้งกับสหรัฐฯ ในกรณีนี้ก็อาจโดนหนัก แต่ศรีลังกาไม่ได้มีปัญหากับสหรัฐฯ แม้จะมีความใกล้ชิดกับจีนมากก็ตาม เพราะนั้นในกรณีนี้ผมคิดว่า คงจะเป็นไปตามขั้นตอนปกติ เหมือนกับกรณีของไทย ตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง 

ส่วนจีนที่เป็นประเทศเจ้าหนี้รายใหญ่ของศรีลังกา ก็ต้องคำนึง 2 ด้าน ด้านหนึ่งเป็นพันธมิตรที่สำคัญ อีกด้านก็คือชื่อเสียงของจีน เพราะตอนนี้ทางฝั่งตะวันตกพยายามโจมตีนโยบายของจีนว่า ได้สร้างปัญหาให้ศรีลังกา แล้วทางฝั่งตะวันตกก็มีโครงการพันธมิตรในการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานและการลงทุนทั่วโลก ที่เกิดขึ้นจากการประชุม G 7 เพื่อต่อกรกับจีน

ซึ่งเป็นโครงการที่จะระดมทุนมาสร้างท่าเรือในประเทศต่างๆ พูดง่ายๆ ก็คือเป็นการแข่งขันกับจีน นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของตัวอย่างหมากรุกทางการเมือง ระหว่างจีน สหรัฐอเมริกา และประเทศตะวันตกครับ

ถอดบทเรียนประเทศล้มละลาย “ศรีลังกา” มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ?

SPRiNG : วิกฤตเศรษฐกิจของศรีลังกา จะส่งผลกระทบเป็นโดมิโนในภูมิภาค หรือในประเทศอื่นๆ หรือไม่ ?  

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ : ผมคิดว่า กรณีของศรีลังกาไม่เหมือนกับต้มยำกุ้ง ที่ทำให้เกิดโดมิโน เพราะตอนนั้นต่างประเทศเห็นว่าไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเยอะ มีเงินสำรองไม่พอ เจ้าหนี้รู้สึกไม่ไว้ใจ จึงนำไปสู่โดมิโน ด้วยมีปัจจัยที่สัมพันธ์กัน แต่ในกรณีของศรีลังกาไม่ใช่ครับ เพราะตอนนี้หลายประเทศก็ประสบปัญหาเดียวกัน ทั้งเรื่องพลังงาน อาหาร เงินเฟ้อ

ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นกับศรีลังกา ก็เป็นปัญหาที่หลายประเทศกำลังประสบ ที่ต่างต้องแก้ปัญหาน้ำมัน พลังงานแพง เงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น อัตราการเติบโตบางประเทศก็ชะลอตัว แต่ยังเป็นบวก บางประเทศอาจจะติดลบ บางประเทศก็ประสบปัญหาที่หนัก แต่ยังน้อยกว่าศรีลังกา แต่นี่ไม่ใช่โดมิโน มันเป็นลักษณะของประเทศที่ต้องเผชิญกับภัยคุกคาม ที่ผสมผสานตั้งแต่โควิดระบาด จนถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน

SPRiNG : ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับไทย จากวิกฤตเศรษฐกิจศรีลังกา ?

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ : ประเทศไทย อัตราการเติบโตยังเป็นบวกอยู่ เพียงแต่มีการปรับตัวจาก 4 % อาจเหลือ 3 % ปีที่แล้วเราได้ 1.6 % ปีนี้มองจากภาพรวมของไทย จะขยายตัวได้มากกว่าปีที่แล้ว

ส่งออกของไทยปีที่แล้ว 17 % ปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ท่องเที่ยวปีที่แล้วต่างชาติมาเที่ยวประมาณ 5 แสนคน ปีนี้คาดว่าจะถึง 10 ล้านคน มันแตกต่างกันเยอะมาก แล้วก็เรื่องท่องเที่ยวภายในประเทศ ก็คาดว่าจะกลับมา 70 - 80 % เมื่อเทียบกับภาวะปกติ

ที่สำคัญ เราจะขยายเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพี จาก 60 % เป็น 70 % อย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ขยายถึง 100 % แล้วที่สำคัญ ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยมีกว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หนี้ทั้งระบบทั้งระยะสั้นและระยะยาวยังต่ำทุนสำรองฯ มาก เพราะฉะนั้นสถานการณ์ไทยกับศรีลังกาจึงแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

และผมเชื่อว่า เรื่องวิกฤตราคาน้ำมันคงอยู่อีกสักพักหนึ่ง แต่ในที่สุดไม่ว่าสงครามยูเครนจะจบหรือไม่ ราคาน้ำมันจะไม่แพงขึ้นไปอีก เพราะเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่ช้าลง มีการประหยัดพลังงานกันทั่วโลก เพียงแต่สิ่งที่น่ากังวลก็คือ ถ้าหากทางปูตินเล่นหนัก ไม่ยอมส่งน้ำมันให้กับยุโรป แต่ถ้าทำเช่นนั้น รัสเซียก็จะย่ำแย่ไปด้วย

ผมว่าตอนนี้ราคาน้ำมันอยู่ในช่วงที่เรียกว่าพีค คือมาถึงจุดสูงสุดแล้ว น่าจะอยู่อย่างนี้ไปสักพักหนึ่ง หลังจากนั้นผมเชื่อว่าราคาน้ำมันจะลดลง แต่ต้องรอดูสถานการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเรื่องแก๊ส ยิ่งใกล้หน้าหนาว ทางรัสเซียก็พยายามจะบีบตรงนี้ เพราะถ้าราคาแก๊สขึ้น มันก็กระทบกับราคาน้ำมันให้ขึ้นตามไปด้วย พูดง่ายๆ ตอนนี้เรื่องของพลังงาน ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ครับ

ถอดบทเรียนประเทศล้มละลาย “ศรีลังกา” มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ?

SPRiNG : หากให้ถอดบทเรียน วิกฤตศรีลังกาเป็นกรณีศึกษาให้กับประเทศไทย ได้อย่างไรบ้างครับ ?

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ : เหตุการณ์ที่ศรีลังกา ก็สะท้อนให้เห็นว่า การบริหารประเทศต้องคำนึงถึงเสถียรภาพ ไม่ใช่มัวแต่ลงทุน มองแต่ข้อดีอย่างเดียว อันนี้เป็นความผิดพลาดมหาศาลเลยของศรีลังกา เพราะมองโลกในแง่ดีเกินไป

และก็เรื่องระบบอุปถัมภ์ ซึ่งในประเทศกำลังพัฒนา พ่อเป็นผู้นำ ก็อยากให้ลูกเป็น อยากให้เมียเป็น อันนี้คือปัญหาที่ไม่ได้เกิดขึ้นที่ศรีลังกาเท่านั้น แต่หลายประเทศจะมีลักษณะแบบนี้

ประการสุดท้ายก็คือ เรากำลังเข้าสู่ยุคดิจิทัล เขาเรียกว่าโลกแบน ความหมายคือ มันมักจะมีสิ่งที่เกิดขึ้นแบบปุ๊บปั๊บคาดไม่ถึง แต่จริงๆ แล้วทุกอย่างมันคาดถึง แม้กระทั่งโควิดก็เคยมีคนเตือนว่าโลกกำลังจะถูกภัยคุกคามเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ดังนั้นในการบริหารจัดการ ต้องไม่ใช่มองอยู่ที่ปัจจุบัน แต่ต้องฟอร์เวิร์ด มองอนาคต และตั้งคำถามว่า หากอนาคตเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ ถ้าจะอยู่รอด เราต้องทำอย่างไร อย่างน้อยที่สุด ก็เป็นการป้องปรามไม่ให้ดำเนินนโยบายที่หมิ่นเหม่ต่อความท้าทาย หมิ่นเหม่ต่อความไม่แน่นอน หมิ่นเหม่ต่อเสถียรภาพ

ถ้าเราคำนึงถึง 3 ข้อที่กล่าวมานี้ ก็จะทำให้เหตุการณ์ต่างๆ ถ้ารุนแรง ก็จะลดน้อยลงไป ทำให้ประเทศประคองตัวเองไปได้ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสิงคโปร์ มีการบริหารที่ดีและมีการป้องปราม อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เห็นได้ชัด หรือในยุโรปหลายประเทศ เช่น เยอรมนี มีเสถียรภาพทางการเงินที่สูงมาก จะเห็นได้ว่าประเทศต่างๆ เหล่านี้สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาต่างๆ ได้ และสุดท้ายนี้ ต้องนึกถึงความไม่แน่นอน ที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ ดังนั้นต้องมีความพร้อมในการบริหารความไม่แน่นอนอีกด้วยครับ 

ภาพจาก Nation Online

related