นายกรัฐมนตรี รานิล วิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรีศรีลังกายอมรับ ประเทศเดินมาถึงจุดที่เศรษฐกิจศรีลังกา พังทลายไม่เหลืออะไรเลย ไร้เงินซื้ออาหารและน้ำมัน เร่งขอความช่วยเหลือจากนานาชาติ
นายกรัฐมนตรี รานิล วิกรมสิงเห Ranil Wickremesinghe แห่งศรีลังกากล่าวกับรัฐสภาเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุว่าเศรษฐกิจศรีลังกา ณ เวลานี้ พังทลายแล้ว จากภาวะหนี้สินจำนวนมาก ทำให้ไม่มีเงินตราต่างประเทศจ่ายค่าอาหารและเชื้อเพลิง รวมทั้งสินค้านำเข้าของจำเป็นอื่นๆ ซ้ำเติมการที่รัฐบาลศรีลังกาผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว
รานิล วิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรีศรีลังกา ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 25 พฤษภาคม 2022 ได้ขอความช่วยเหลือจากอินเดียและจีนที่อยู่ใกล้เคียงและจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ย้ำว่าภารกิจสำคัญที่ศรีลังเผชิญ คือการพลิกฟื้นเศรษฐกิจศรีลังกาที่กำลังมุ่งหน้าไปสู่ จุดต่ำสุด
• วิกฤตศรีลังกาโหดร้ายแค่ไหน?
รัฐบาลศรีลังกา ณ เวลานี้ เป็นหนี้ต่างประเทศถึง 51 พันล้านดอลลาร์ และไม่มีเงินเพียงพอที่จะจ่ายแม้เพียงดอกเบี้ยเงินกู้ได้ ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นกลไกสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจ เสียหายจากจากการระบาดใหญ่ของโควิค-19 ซ้ำเติมปัญหาความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวหลังการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในปี 2019
ส่งผลให้ค่าเงินตกลงถึง 80% การนำเข้ามีราคาแพงขึ้นและอัตราเงินเฟ้อที่ดิ่งจนควบคุมไม่ได้ถึง 57% ทำให้ เศรษฐกิจศรีลังกา กำลังเจะข้าสู่ภาวะล้มละลาย ไม่มีเงินสั่งซื้อสินค้าจำเป็นสำหรับประชาชน ทั้งพลังงานและสินค้าอุปโภคบริโภคอีกต่อไปแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศรีลังกาเศรษฐกิจพังยับ น้ำมันหมดประเทศ ต้องหาเงินสำรอง 75 ล้านเหรียญ
• ศรีลังกามาอยู่ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ได้อย่างไร?
แม้ประเทศต่างๆทั่วโลก จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กันทั้งหมดทั่วโลก แต่ปัญหาเศรษฐกิจศรีลังกากลับซับซ้อนกว่านั้น เมื่อความขัดแย้งทางการเมืองภายในและการคอร์รัปชั่นในแวดวงการเมืองและระบบราชการหยั่งรากลึก จนกัดกร่อนศรีลังกามาอย่างต่อเนื่องหลาย 10 ปี
โดยเฉพาะในปี 2019 เหตุระเบิดฆ่าตัวตายในโบสถ์และโรงแรมในช่วงเทศกาลอีสเตอร์ ได้สังหารชีวิตผู้คนไปมากกว่า 260 คน ทำให้การท่องเที่ยวที่ซึ่งเป็นเงินตราต่างประเทศที่สำคัญถูกทำลายอย่างย่อยยับ เมื่อถูกซ้ำเติมด้วยการระบาดของโควิด-19 จึงทำให้สถานการณ์เกินเยียวยา
นักเศรษฐศาสตร์โลกวิเคราะห์ว่าวิกฤตเศรษฐกิจศรีลังกาเกิดจากปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก เช่น การจัดการที่ผิดพลาดและการทุจริตเป็นเวลาหลายปี ประชาชนชาวศรีลังกาส่วนใหญ่มุ่งเป้าความเดือดดาลไปที่ประธานาธิบดีโคตาบายา ราชปักษา และพี่ชายของเขา อดีตนายกรัฐมนตรีมหินดา ราชปักษา ที่ลาออกหลังจากการประท้วงต่อต้านรัฐบาลนานหลายสัปดาห์ จนกลายเป็นความรุนแรงไปทั่วประเทศ
• คนศรีลังกาเดือดร้อนอย่างไรจากปัญหาเศรษฐกิจศรีลังกา?
ปกติแล้ว ศรีลังกาไม่ได้ขาดแคลนอาหาร เนื่องจากเป็นประเทศที่มีทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมค่อนข้างสมบูรณ์ แต่ราคาพลังงานและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นทำให้เกษตรกรไม่มีแรงจูงใจในการผลิต หรือต้องประสบภาวะขาดทุน จนทำให้อาหารไม่เพียงพอ
แต่รัฐบาลกลับไม่สามารถนำเข้าอาหารจากต่างประเทศมาได้เพราะขาดเงินตราต่างประเทศ ทำให้ชาวศรีลังกาต้องเจอภาวะหิวโหย โครงการอาหารโลกของสหประชาชาติ FAO ระบุว่า เกือบ 9 ใน 10 ครอบครัวงดอาหารเป็นบางมื้อ ในขณะที่ 3 ล้านคนต้องได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมฉุกเฉิน
อย่างไรก็ตามความช่วยเหลือใดๆ จาก IMF หรือธนาคารโลก รวมทั้งประเทศต่างๆ ที่รัฐบาลศรีลังกากำลังร้องขอ จะมาพร้อมกับเงื่อนไขที่เข้มงวด เพื่อให้แน่ใจว่าความช่วยเหลือไม่ได้รับการจัดการอย่างผิดพลาดจากระบบการเมืองและราชการที่ถือได้ว่า ไร้ประสิทธิภาพมากที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งจนกว่าจะถึงวันนั้น ประชาชนชาวศรีลังกา ก็ยังต้องเผชิญกับภาวะการขาดแคลนสิ่งจำเป็นต่อไป