ห้ามพลาด ! ปรากฏการณ์ซูเปอร์ฟูลมูน พระจันทร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2565 คืนอาสาฬหบูชา โดยจะเห็นพระจันทร์มีขนาดใหญ่กว่าคืนทั่วๆ ไปประมาณ 7% และสว่างกว่าประมาณ 16%
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) ได้เผยแพร่ข้อมูลปรากฏการณ์ซูเปอร์ฟูลมูน ผ่านเพจเฟซบุ๊กขององค์กรว่า วันที่ 13 กรกฎาคม 2565 ซึ่งตรงกับวันอาสาฬหบูชา ดวงจันทร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุด ห่างจากโลก 357,256 กิโลเมตร เวลาประมาณ 16:09 น. และจะปรากฏเต็มดวงในคืนดังกล่าวในช่วงหลังเที่ยงคืน เวลา 01:39 น. ของวันที่ 14 กรกฎาคม 2565 เกิดเป็นปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” หรือ ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon)
หากเปรียบเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงช่วงเวลาปกติ จะมีขนาดใหญ่กว่าประมาณ 7% และสว่างกว่าประมาณ 16% โดยในวันดังกล่าว ดวงจันทร์จะโผล่พ้นขอบฟ้าเวลาประมาณ 18.37 น. สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
บทความที่สนใจ
เผยภาพแรกสุดชัด กระจุกกาแล็กซี้ SMACS 0723 จากกล้องเจมส์ เว็บบ์
องค์การนาซา ปล่อยคลิปเสียง "หลุมดำ" ที่ไม่เคยมีใครได้ยินมากว่า 19 ปี
ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นรูปวงรี 1 รอบ ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ดังนั้น ในแต่ละเดือนจะมีตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดเรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะทางเฉลี่ย 357,000 กิโลเมตร และตำแหน่งที่ไกลโลกที่สุดเรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะทางเฉลี่ยประมาณ 406,000 กิโลเมตร
ซึ่งในวันดังกล่าวสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) ชวนชมซูเปอร์ฟูลมูนในคืนวันอาสาฬหบูชา เวลา 18:00 - 22:00 น. ฟรี ! ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยมีจุดสังเกตการณ์หลักของสถาบันดังนี้
1. อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่
2. หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา
3. หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา
4. หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา
นอกจากนี้ ยังร่วมกับโรงเรียนในเครือข่ายกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ 560 แห่งทั่วประเทศ ตั้งกล้องโทรทรรศน์ และจัดกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์ในครั้งนี้ด้วย ผู้สนใจสามารถตรวจสอบจุดสังเกตการณ์ได้ที่ https://bit.ly/MemberList-NARIT-DobsonianTelescope2022