นักวิทยาศาสตร์จีน ตีโจทย์เหตุการณ์การเกิดทุ่งอุกกาบาตที่ยาวที่สุดในโลก ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ระยะทางยาวกว่า 430 ก.ม.
คณะนักวิจัยจีน พบเจออุกกาบาตเหล็กขนาดยักษ์ในบริเวณทุ่งอุกกาบาตที่มีระยะทางยาวที่สุดบนโลกในเมืองอาเล่อไท่ (Altay) เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ (Xinjiang Uygur) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ มีน้ำหนัก 28 ตัน , 23 ตัน , 18 ตัน , 5 ตัน และ 0.43 ตัน ตามลำดับ
อุกกาบาตเหล็กที่พบเจอเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของบริเวณที่อุกกาบาตโปรยปรายระยะทางยาวราว 430 ก.ม. ซึ่งยาวที่สุดที่เคยพบนับถึงปัจจุบัน
คณะนักวิจัยจากหอดูดาวจื่อจินซาน (Purple Mountain Observatory) สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences) ร่วมมือกับทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยซุนยัดเซ็น (Sun Yat-sen University) , มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเก๊า (Macau University of Science and Technology) และมหาวิทยาลัยแอริโซนา (University of Arizona) เพื่อหาคำอธิบายการก่อตัวของอุกกาบาตดังกล่าวผ่านวิธีวิทยาแร่หิน ธรณีเคมี และการจำลองเชิงตัวเลข
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :
ผลการจำลองการเคลื่อนไหวของดาวเคราะห์น้อยเชิงตัวเลข บ่งชี้ว่า อุกกาบาตสมัยยังเป็นดาวเคราะห์น้อยคาดว่ามีน้ำหนักตั้งแต่ 280 ตัน จนถึง 3,440 ตัน พุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็วประมาณ 12-15 ก.ม./วินาที โดยมีมุมเข้าตื้นราว 6.5-7.3 องศา
บทความวิจัยที่เผยแพร่ผ่านวารสารไซแอนซ์ แอดวานซ์ (Science Advances) ระบุว่า กระบวนการคล้ายกับการขว้างก้อนหินให้กระดอนบนผิวน้ำนี้ อธิบายการก่อตัววิถีโคจรของดาวเคราะห์น้อยข้างต้น ซึ่งอาจนำไปสู่การกระจายพลังงานระหว่างการโคจรระยะยาวยิ่งยวด