ย้อนรอยวิกฤตคิวบา ที่เกือบกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาเทียบเคียงกับกรณีวิกฤตรัสเซียบุกยูเครน
ในช่วงที่เกิดสถานการณ์วิกฤตรัสเซียบุกยูเครน ก็ได้มีอีกหนึ่งเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง นั่นก็คือวิกฤตคิวบา หรือวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา นั่นเอง ทั้งในแง่ความสัมพันธ์ของตัวละคร ความขัดแย้ง จนเกือบนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์
จะแตกต่างกันก็ตรงที่ว่า ในครั้งนั้นยังไม่ทันเกิดสงครามขึ้นจริงๆ แต่วิกฤตรัสเซียบุกยูเครน ได้เกิดสงครามขึ้นแล้ว โดยสิ่งที่น่าหวั่นวิตกเป็นอย่างมากก็คือ วิกฤตนี้จะขยายตัวกลายเป็นสงครามใหญ่หรือไม่ ?
ส่วนวิกฤตคิวบา มีความเป็นมาและลงเอยอย่างไร SpringNews ขอนำมาเล่าสู่กันดังต่อไปนี้
1. สงครามเย็น โลกแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียต ก็กลายเป็น 2 ประเทศบิ๊กบราเธอร์ที่คานอำนาจและหักเหลี่ยมเฉือนคมกัน ผ่านสงครามตัวแทน จนยุคดังกล่าวได้รับการเรียกขานว่า “สงครามเย็น”
โดยต่างฝ่ายต่างพยายามหาพวกผ่านระบอบการปกครองประชาธิปไตย ที่สหรัฐฯ เป็นผู้นำ ในขณะที่โซเวียต ก็ได้สนับสนุนแต่ละประเทศให้เป็นคอมมิวนิสต์ โดยต่างฝ่ายต่างหลีกเลี่ยงการปะทะกันซึ่งซึ่งหน้า เพราะทั้งสหรัฐฯ และโซเวียต มีอาวุธนิวเคลียร์ครอบครองอยู่ในจำนวนที่สูสีกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กษิต ภิรมย์ เปิดปมแค้น 30 ปี นาโต้ VS รัสเซีย ก่อนระเบิดในสมรภูมิยูเครน
2. คิวบา อดีตพันธมิตรสหรัฐฯ แปรพักตร์ไปอยู่กับโซเวียต
แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความขุ่นเคืองให้กับสหรัฐเป็นอย่างมาก เมื่อฟิเดล กัลโตร ปฏิวัติคิวบาได้สำเร็จในปี 2502 (ค.ศ. 1959) ล้มล้างรัฐบาลที่สหรัฐฯ ให้การสนับสนุน และเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ กลายเป็นพันธมิตรที่สนิทสนมกับโซเวียต ทั้งๆ ที่ประเทศคิวบาอยู่ใกล้ๆ กับสหรัฐฯ เป็นยุทธภูมิศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง แต่เมื่อคิวบากลายเป็นอื่น จึงทำให้สหรัฐฯ ทั้งโกรธและวิตกกังวล
3. สหรัฐฯ พบฐานยิงขีปนาวุธของโซเวียตในคิวบา
แม้สหรัฐฯ จะไม่พอใจคิวบาเป็นอย่างมาก แต่ก็ไม่กล้าผลีผลาม เพราะอย่างที่รู้ๆ กันในเวลานั้น คิวบาซี้ปึ้กกับโซเวียต การโจมตีคิวบาก็เท่ากับหาเรื่องโซเวียต สหรัฐฯ จึงจำต้องกลืนเลือดเก็บความคลั่งแค้นไว้ภายใน จนกระทั่งวันที่ 14 ตุลาคม 2505 (ค.ศ.1962) ก็เกิดเหตุการณ์ที่สหรัฐฯ พร้อมที่เปิดศึก แม้จะเป็นการปะทะกันแบบเปิดหน้าชนกับโซเวียตก็ตาม
โดยที่มาของท่าทีดังกล่าว ก็สืบเนื่องมาจากเครื่องบินสอดแนมของสหรัฐฯ ค้นพบฐานยิงขีปนาวุธที่อาจติดหัวรบนิวเคลียร์ของโซเวียตทางภาคตะวันตกของคิวบา แม้คิวบาจะไม่ได้มีพรมแดนติดกับสหรัฐฯ เพราะมีทะเลกั้น แต่ก็ถือว่าอยู่ใกล้มากๆ ซึ่งฐานยิงขีปนาวุธดังกล่าว อยู่ห่างจากชายหาดฟลอริดาของสหรัฐฯ เพียง 150 กิโลเมตรเท่านั้น
4. ที่มาของการก่อตั้งฐานยิงขีปนาวุธของโซเวียตในคิวบา
แม้รู้ดีว่า หากวันหนึ่งสหรัฐฯ ล่วงรู้ว่ามีการตั้งฐานยิงขีปนาวุธของโซเวียตในคิวบา สหรัฐฯ จะต้องโกรธเคืองในระดับพร้อมเปิดศึกสงครามกันซึ่งซึ่งหน้า แต่โซเวียตก็จำเป็นต้องทำ ยิ่งเมื่อได้คิวบาเป็นพวก ก็มีความได้เปรียบทางยุทธภูมิศาสตร์ อีกทั้งก่อนหน้านั้นสหรัฐฯ ก็ได้หยามโซเวียตอย่างหนัก โดยการตั้งฐานยิงขีปนาวุธในอิตาลีและตุรกี ซึ่งเป็นสองประเทศที่อยู่ใกล้ๆ กับโซเวียต
ดังนั้นการตั้งฐานยิงขีปนาวุธของโซเวียตในคิวบา จึงเป็นการเอาคืนสหรัฐฯ และพร้อมจะเปิดศึก แม้สงครามครั้งนี้มีแนวโน้มเป็นสงครามนิวเคลียร์ล้างโลกก็ตาม
5. สหรัฐประกาศมาตรการตอบโต้อย่างแข็งกร้าว
โดยส่วนตัวแล้ว จอห์น เอฟ. เคนเนดี ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ณ เวลานั้น มีความเป็นนักการเมืองและนักการทูตค่อนข้างสูง แต่พอมาถึงเรื่องวิกฤตเกี่ยวกับสงคราม คาดว่าเขาน่าจะถูกผู้นำทางการทหารสหรัฐฯ กดดันเป็นอย่างมาก ให้แสดงแสนยานุภาพในฐานะประเทศมหาอำนาจ
ในวันที่ 22 ตุลาคม 2505 (ค.ศ. 1962) จอห์น เอฟ. เคนเนดี จึงได้ประกาศมาตรการแข็งกร้าว ปิดล้อมทะเลแคริบเบียน เพื่อไม่ให้เรือขนขีปนาวุธของโซเวียต เข้าไปในคิวบาได้
และต่อมาก็ได้ประกาศเพิ่มมาตราทางการทหารที่เข้มข้นเป็นเดฟคอน 2 (มี 5 ระดับ) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯเพิ่มมาตรการทางการทหารสูงขึ้นถึงระดับนี้ โดยถ้าประกาศเป็นเดฟคอน 1 เมื่อไหร่ ก็หมายถึงปฏิบัติการทางการทหารขั้นสูงสุด ซึ่งก็คือการประกาศสงครามนิวเคลียร์ นั่นเอง
6. สหรัฐ - โซเวียต หวิดปะทะกันหลายครั้ง
และในวันเดียวกันกับที่ จอห์น เอฟ. เคนเนดี ประกาศมาตรการแข็งกร้าวก็เกิดเหตุระทึกขวัญขึ้น เมื่อเรือขนสินค้าลำหนึ่งของโซเวียต พยายามแล่นเข้าไปในคิวบา แล้วก็ถูกกองทัพเรือของสหรัฐฯ สกัด โดยเรือลำดังกล่าวยินยอมหันหลังกลับ ทำให้รอดการปะทะกันไปได้อย่างหวุดหวิด
หรือในวันที่ 27 ตุลาคม เรือดำน้ำติดตอปิโดของโซเวียต ถูกสหรัฐฯ ค้นพบใกล้น่านน้ำคิวบา สหรัฐฯ จึงได้เปิดฉากโจมตี ทำให้ลูกเรือและผู้บัญชาการระดับสูงเกือบทั้งหมดในเรือดำน้ำโซเวียต โหวตให้ยิงตอปิโดตอบโต้
แต่โชคยังดีที่ผู้บัญชาการที่มีอำนาจสูงที่สุดในเรือลำดังกล่าวนั้นไม่เห็นด้วย เพราะเมื่อประเมินแล้วก็เห็นว่า การยิงของสหรัฐฯ เพื่อเป็นการเตือนมากกว่า เขาจึงสั่งให้หันเรือดำน้ำกลับ ทำให้รอดเงื่อนไขที่อาจจะกลายชนวนสงครามมาได้อีกครั้ง
แต่วันต่อมาก็เกิดเหตุการณ์ตึงเครียดขึ้น ที่สามารถเป็นชนวนสงครามเต็มรูปแบบระหว่างสหรัฐ – โซเวียต ในทันที หาก จอห์น เอฟ. เคนเนดี สั่งลุย ดังที่ SpringNews จะเล่าในข้อต่อไป
7. วิกฤต 28 ตุลาคม 2505
ในวันที่ 28 ตุลาคม 2505 (ค.ศ.1962) ก็เกิดเหตุการณ์โลกตะลึง เมื่อเครื่องบินสอดแนมของสหรัฐฯ ถูกยิงตกในคิวบา ทำให้ จอห์น เอฟ. เคนเนดี ถูกกดดันอย่างหนักจากกองทัพ ให้ประกาศสงครามกับโซเวียต และคิวบา
แต่แล้วในวิกฤตที่ต้องอาศัยการตัดสินใจที่แม่นยำ จอห์น เอฟ. เคนเนดี ก็ขอเป็นตัวของตัวเอง ไม่ยอมอยู่ภายใต้การบงการของกองทัพอีกต่อไป ซึ่งหลังจากได้ข้อมูลว่า เครื่องบินสอดแนมของสหรัฐฯ ที่ถูกยิงตก เป็นการตัดสินใจหน้างานของนายทหารโซเวียตในคิวบา ไม่ใช่คำสั่งโดยตรงจากกรุงมอสโคว จอห์น เอฟ. เคนเนดี จึงตัดสินใจจะเปิดการเจรจากับโซเวียต ทำให้ผู้นำระดับสูงหลายคนของกองทัพสหรัฐฯ ไม่พอใจเป็นอย่างมาก
โดยเขาได้เลือกใช้คนที่ตนเองวางใจมากที่สุด นั่นก็คือ โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี น้องชายของเขา ให้ติดต่อไปยังสถานทูตโซเวียต เพื่อแจ้งกับ นิกิต้า ครุสชอฟ ผู้นำของโซเวียตว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อยากเจรจาด้วย
8. เปิดการเจรจา
ส่วนผลของการเจรจาในครั้งนั้น ทั้งสหรัฐฯ และโซเวียต ก็ได้บรรลุข้อตกลงต่างๆ ดังนี้
ข้อเสนอของโซเวียตหลักๆ ก็คือ
ข้อที่ 1 สหรัฐฯ ต้องถอนฐานยิงขีปนาวุธออกจากอิตาลีและตุรกี
ข้อที่ 2 สหรัฐฯ ต้องไม่รุกรานคิวบา
ส่วนเสนอของสหรัฐฯ ได้แก่
ข้อที่ 1 โซเวียตต้องรื้อถอนฐานยิงขีปนาวุธออกจากคิวบา
ข้อที่ 2 สหรัฐฯ จะยอมรื้อถอนฐานยิงขีปนาวุธในตุรกี และอิตาลี แต่โซเวียตต้องเก็บเรื่องนี้เป็นความลับ
ข้อตกลงของทั้งสองผู้นำ ดูเหมือนจะ Win Win แต่ตามที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ จอห์น เอฟ. เคนเนดี มีความเป็นนักการเมืองสูงมาก เขาจึงอ่านเกมขาดทันที ถ้าชาวอเมริกันรู้ว่า สหรัฐฯ ยอมถอนฐานยิงขีปนาวุธออกจากอิตาลีและตุรกี คะแนนนิยมของเขาจะหล่นฮวบ จึงมีเงื่อนไขให้ นิกิต้า ครุสชอฟ เก็บเรื่องนี้เป็นความลับ ซึ่งครุสชอฟก็เห็นว่า ไม่ใช่เรื่องเหนือบ่ากว่าแรงอะไร เลยยอมรับข้อเสนอของสหรัฐฯ
ส่งผลทำให้ภาพที่ออกมาในสายตาชาวโลก สหรัฐฯ เป็นผู้ชนะในหมากเกมนี้ จอห์น เอฟ. เคนเนดี คะแนนนิยมพุ่งกระฉูด ส่วน นิกิต้า ครุสชอฟ กลายเป็นผู้พ่ายแพ้ สร้างความไม่พอใจให้ชาวโซเวียตเป็นอย่างมาก จนกลายเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้นิกิต้า ครุสชอฟ ถูกโค่นอำนาจในอีก 2 ปีต่อมา
9. สิ่งที่ต่างฝ่ายต่างไม่รู้
การตัดสินใจเจรจากันในครั้งนั้น และต่างฝ่ายต่างยอมรับข้อเสนอของกันและกัน ทำให้โลกพ้นวิกฤตสงครามนิวเคลียร์มาได้อย่างหวุดหวิด
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีเรื่องที่ต่างฝ่ายยังไม่รู้ นั่นก็คือ แม้สหรัฐฯ จะยินยอมถอนฐานยิงขีปนาวุธออกจากอิตาลีและตุรกี แต่ช่วงเวลานั้นได้สร้างเรือดำน้ำที่มีอานุภาพสูง สามารถยิงขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ โดยแอบไปดำอยู่ใกล้ๆ น่านน้ำของโซเวียต
ส่วนโซเวียตเอง แม้จะยอมถอนฐานยิงขีปนาวุธออกจากคิวบา แต่ก็แอบมอบระเบิดนิวเคลียร์ให้กับคิวบาไปเป็นจำนวนมาก
อ้างอิง
14 ตุลาคม 2505 เปิดฉาก "วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา"
‘วิกฤตการณ์คิวบา’ เกือบสิ้นโลกเพราะอเมริกา-โซเวียต | WORLD REWIND | workpointTODAY
รู้เรื่อง "วิกฤตขีปนาวุธคิวบา" ในคลิปเดียว | The Story Review | อาจารย์มิกซ์
สงครามนิวเคลียร์เกือบเกิดขึ้น เพราะเรือดำน้ำลำนี้