SpringNews สัมภาษณ์ รศ.ดร.ชินสัคค สุวรรณอัจฉริย ดุษฏีบัณฑิตสาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติเคียฟ ประเทศยูเครน วิกฤตรัสเซีย - ยูเครน จบลงที่การเจรจา หรือสงครามใหญ่ ?
หลังจากเปิดปฏิบัติการทางการทหารบุกยูเครน รัสเซียก็ถูกตอบโต้ด้วยมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ล่าสุดทั้งสองฝ่ายตกลงเปิดโต๊ะกำหนดวันเจรจากัน แต่คาดว่าจะมีการพูดคุยต่อรองกันอีกหลายขั้นตอน ทำให้ยังไม่แน่ชัดว่า วิกฤตรัสเซีย - ยูเครน จะจบลงเช่นไร ?
SpringNews สัมภาษณ์ รศ.ดร.ชินสัคค สุวรรณอัจฉริย ดุษฎีบัณฑิตสาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติเคียฟ ประเทศยูเครน โดยอาจารย์ได้ให้ข้อมูลและวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ วิกฤตรัสเซีย - ยูเครน ดังต่อไปนี้
มาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย จะส่งผลกระทบกับสหภาพยุโรปเอง
รศ.ดร.ชินสัคค สุวรรณอัจฉริย ได้ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมารัสเซียมีบทบาทเป็น ซัพพลายเออร์ (Supplier) ด้านพลังงานรายใหญ่ของยุโรป ฉะนั้นแล้วมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับรัสเซีย น่าจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศต่างๆ ในยุโรปมากกว่าที่สร้างความบอบช้ำให้กับรัสเซีย
“มาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรป (EU) ไม่น่าจะได้ผลนัก เพราะว่าเมื่อปี 2014 (พ.ศ. 2557) รัสเซียก็โดนมาแล้ว ปรากฏว่าเกิดความเสียหายกับสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก จนต้องมีการทดแทนการนำเข้า สูญเสียไปสองแสนล้านเหรียญสหรัฐ
“สหภาพยุโรป ใช้ถ่านหินกับน้ำมัน 40% แล้วใช้ก๊าซ 20% จากรัสเซีย จึงมีความจำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย ประกอบกับระบบโลจิสติกส์ของการขนส่งด้วยท่อก๊าซ เป็นต้นทุนที่ต่ำที่สุด และทำได้ง่ายกว่าการสั่งซื้อก๊าซจากกาตาร์
“หรืออย่างประเทศเยอรมนี ได้ประโยชน์จากก๊าซรัสเซียเป็นหลัก เพราะทำสัญญาระยะยาวในโครงการ นอร์ดสตรีม 2 (Nord Stream 2) ดังนั้นถ้าคว่ำบาตรรัสเซีย ประเทศแรกที่ได้รับผลกระทบก็คือเยอรมนี จะมีคนตกงานประมาณ 7 แสนคน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กษิต ภิรมย์ เปิดปมแค้น 30 ปี นาโต้ VS รัสเซีย ก่อนระเบิดในสมรภูมิยูเครน
ทำความรู้จัก นาโต้ คือใคร ทำไมเป็นปัจจัยแห่งความขัดแย้ง รัสเซีย – ยูเครน
“ส่วนท่อก๊าซของยูเครนที่ใช้อยู่ตอนนี้ ไม่มีการบำรุงรักษามากว่า 25 ปี เป็นท่อก๊าซสมัยสหภาพโซเวียต ถ้าเพิ่มปริมาณการส่ง ท่อก๊าซก็จะระเบิด ดังนั้นสภาอุตสาหกรรมเยอรมนีจึงไม่ยอม เพราะมีการลงทุนไปแล้วเป็นจำนวนมาก
“จึงต้องถามว่าเยอรมนีมีทางเลือกไหม ? มีก๊าซจากที่อื่นไหม ? ซึ่งมันก็ไม่มีทางเลือก เพราะว่าการขนส่งก๊าซจากกาตาร์มาเยอรมนี ต้องขนส่งทางเรือ ถ้ารัสเซียนำเรือรบไปจ่อที่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ก็ขนส่งไม่ได้
“แล้วยุโรปก็จะเผชิญวิกฤตเรื่องการขาดแคลนอาหาร เพราะว่ามีหลายอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับก๊าซ อาทิ ปุ๋ยเคมี หากสหภาพยุโรปตัดรัสเซียออกไปจากซัพพลายเออร์ ราคาก๊าซก็จะพุ่งเป็น 2 พันเหรียญสหรัฐต่อเมตริกตัน
“และเมื่อถูกคว่ำบาตร รัสเซียก็อาจไม่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงทางการค้าของ WTO (องค์การการค้าโลก World Trade Organization) ที่ว่าด้วยกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยสิ่งที่รัสเซียต้องการก็คือชิป (Chip) เพราะชิปสำคัญในอุตสาหกรรม รัสเซียก็จะเข้าถึงทรัพย์สินทางปัญญาได้โดยไม่ต้องซื้อ เช่น การคัดลอกเลียนแบบ สหภาพยุโรปก็เสียหาย เพราะว่าแทนที่จะขายเทคโนโลยีได้ กลายเป็นว่าเทคโนโลยีดังกล่าวนั้นสามารถถูกลอกเลียนได้ ผู้ประกอบการที่ลงทุนเทคโนโลยี ก็จะสูญเสียรายได้
“โดยมูลค่าในทางหุ้นมันสูงถึงสามล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถ้าปูตินใช้นโยบายดังกล่าว ตามที่ทีมงานเสนอ ยุโรปก็จะมีปัญหา เพราะเทคโนโลยีที่ผลิตขึ้นมา รัสเซียก็นำไปพัฒนาเป็นของเขาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แล้วสามารถทดแทนอุตสาหกรรมการนำเข้าที่ต้องใช้ชิปเป็นหลักได้”
วิกฤตรัสเซีย - ยูเครน จะจบลงที่โต๊ะเจรจาได้หรือไม่ ?
ส่วนในเรื่องการเจรจานั้น รศ.ดร.ชินสัคค สุวรรณอัจฉริย กล่าวว่า ที่ผ่านมารัสเซียได้แสดงเจตจำนงชัดเจนว่าไม่ต้องการยึดยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย แต่ยูเครนต้องเป็นประเทศที่เป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ตามข้อตกลงที่เคยทำไว้ก่อนหน้านี้
“ในข้อตกลงสันติภาพมินส์ก (Minsk Protocol) ยูเครนต้องให้ภูมิภาคดอนบัสมีการเลือกตั้ง ปกครองตัวเอง แต่ที่ผ่านมายูเครนไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ยังใช้วิธีกดขี่คุกคามคนที่พูดภาษารัสเซียในภูมิภาคดังกล่าว พอรัสเซียรับรองอธิปไตยของภูมิภาคดอนบัส รัสเซียก็ต้องคุ้มครองความปลอดภัย
“ซึ่งหากยูเครนไม่ยอมเจรจาในเร็วๆ นี้ (ล่าสุดมีการกำหนดการเจรจากันระหว่างรัสเซียกับยูเครน วันที่ 28 ก.พ. 65) หรือประธานาธิบดียูเครนประกาศสู้รบ รัสเซียก็จะบุกไปถึงเมืองเคียฟ แล้วก็จะให้ยูเครนมีตัวแทนใหม่ขึ้นมา เขียนกฎหมายใหม่กำหนดอาณาบริเวณของยูเครน โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ต้องมีความเป็นกลาง
“ยูเครนต้องวางอาวุธ เพราะมีทหารยูเครนที่แปรพักตร์มาอยู่กับรัสเซียเยอะมากตามชายแดน แล้วก็มีการสู้รบกันอยู่ในบางเขต แต่เป็นการสู้รบที่ใช้ประชาชนในเมืองนั้นๆ เป็นตัวประกัน เป็นเกราะป้องกันตัวเองในการสู้รบ ซึ่งผมคิดว่ายูเครนไม่น่าจะต้านอยู่
“โดยรัสเซียประกาศชัดเจนแล้วว่า ไม่ได้ต้องการยึดยูเครน แต่ต้องการที่จะเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ ให้มีความเป็นกลาง รัฐบาลที่ไม่ทำตัวเป็นศัตรูคุกคามความมั่นคงของรัสเซีย นี่คือสิ่งที่รัสเซียประกาศ เพราะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปยึดครองยูเครน ถ้าไปยึดครองก็ต้องมาดูแล ซึ่งรัสเซียไม่ใช้แนวทางนั้นอยู่แล้ว
“ซึ่งสาเหตุที่รัสเซียต้องการให้ยูเครนเปลี่ยนผู้นำประเทศก็เพราะว่า ประธานาธิบดียูเครน (โวโลดีมีร์ เซเลนสกี้) ตอนหาเสียงเขายืนยันว่าจะเจรจายุติความขัดแย้ง แต่พอได้รับเลือกตั้งแล้วกลับทำตรงข้ามกับสิ่งที่ประกาศไว้ ไม่ได้ทำตามคำมั่นสัญญา และนโยบายของเขาก็แข็งกร้าว ไม่ให้ใช้ภาษารัสเซียในทางราชการเลย ประเด็นมันอยู่ตรงนี้ แล้วเขาก็ไม่ทำตามคำมั่นที่เคยให้ไว้ ว่าจะดูแลสวัสดิภาพของคนเชื้อชาติรัสเซียในยูเครน”
วิกฤตรัสเซีย - ยูเครน กับบทบาทของนาโต้ ?
จากประวัติศาสตร์ก่อนการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ที่มีการทำข้อตกลงกันว่า นาโต้ (NATO) ที่มีสหรัฐฯ เป็นบิ๊กบราเธอร์ จะไม่รับประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของโซเวียตเข้าเป็นสมาชิก แต่หลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย แตกออกเป็น 15 ประเทศ นาโต้ก็ได้รับหลายประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต เข้าเป็นสมาชิก
ส่วนยูเครนก็มีท่าทีฝักใฝ่สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศตะวันตก ด้วยความพยายามเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ แล้วนาโต้จะเข้ามามีบทบาทในวิกฤตรัสเซีย - ยูเครน นับจากนี้หรือไม่นั้น รศ.ดร.ชินสัคค สุวรรณอัจฉริย ได้แสดงความคิดเห็นดังนี้
“รัสเซียวิงวอนนาโต้มาหลายปีแล้ว แต่นาโต้ก็เฉยเมยไม่สนใจ อีกทั้งนาโต้ยังทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม ไปสร้างฐานทัพอยู่ชายแดนรัสเซีย ผมคิดว่าหลังจากนี้นาโต้จะไม่กล้าขยายตัว เพราะเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มันเป็นการโจมตีทางการทหารครั้งแรกของรัสเซียในยูเครนในรอบ 30 ปี ที่มีการยิงถล่มกันอย่างหนัก
“แล้วทหารนาโต้ส่วนใหญ่เป็นทหารท่องเที่ยว ไม่ได้เป็นนักรบ คือทหารสหรัฐฯ ส่วนใหญ่จะเป็นทหารสังเกตการณ์ แล้วก็ไม่เคยรบ ไปรบในซีเรียก็ประสบความล้มเหลว ไปอิรักก็ล้มเหลว ในอัฟกานิสถานก็ล้มเหลว คือเหมือนเป็นคนป่วย รัสเซียวิเคราะห์อย่างนั้น
“และอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ของสหรัฐฯ ล้าหลังกว่ารัสเซีย 7 ปี ฉะนั้นในแง่ที่ว่านาโต้จะขยายตัวหลังจากเกิดกรณีการบุกยูเครน แทบจะหมดลง เพราะนาโต้เขาก็กลัวว่า ถ้ายังทำตัวแบบเดิม รัสเซียก็พร้อมไปทิ้งบอมบ์ แม้แต่ฐานที่มั่นสหรัฐฯ ที่อยู่ในยูเครน ก็ถูกรัสเซียทิ้งระเบิด สถานีเรดาห์อะไรต่างๆ ก็โดน ถ้ามายุ่งย่ามในพื้นที่ที่รัสเซียประกาศให้เป็นสีแดง ก็ต้องรับไปเต็มๆ ฉะนั้นผมคิดว่านาโต้จะไม่กล้ารับสมาชิกใหม่หลังจากนี้
“ส่วนปฏิบัติการทางการทหารของสหรัฐฯ และพันธมิตรจะไม่เกิดขึ้นในยูเครน ให้ดูตัวอย่างในซีเรีย ถ้าสหรัฐฯ กับพันธมิตรเข้ามาเนี่ย ก็หมายถึงเขาประกาศตัวเป็นศัตรูกับรัสเซีย ซึ่งรัสเซียเขาประกาศแล้วว่าจะยิงขีปนาวุธไปที่เพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) ที่วอชิงตัน ขีปนาวุธจะไปถึงวอชิงตันภายใน 5 นาที
“ก่อนหน้านี้ไม่มีใครคิดว่าหลังจากรัสเซียประกาศรับรองเอกราชให้กับภูมิภาคดอนบัส อีก 2 วัน รัสเซียจะปฏิบัติการอย่างรุนแรงเฉียบขาด (บุกยูเครน) ทำให้ประเทศตะวันตกตกใจมาก ไม่คิดว่ารัสเซียจะเอาจริง และนี่คือราคาที่นาโต้ต้องจ่าย แล้วพอต้องจ่าย ก็ไม่เข้ามารับผิดชอบยูเครน ยูเครนประกาศขอให้นาโต้มาช่วย นาโต้ก็ไม่ยอมมา”
วิกฤตรัสเซีย - ยูเครน จะลงเอยอย่างไร ?
จากข้อมูลและการวิเคราะห์ของ รศ.ดร.ชินสัคค สุวรรณอัจฉริย ที่บอกเล่ามานี้ ก็มีแนวโน้มว่า โอกาสที่จะเกิดเป็นสงครามใหญ่ น่าจะเป็นไปได้ยาก เพราะสหรัฐฯ และพันธมิตร น่าจะหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการทางการทหาร และถ้ายูเครนต้องการยุติความขัดแย้งในครั้งนี้ ก็อาจจบลงที่การเจรจา โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ของทางรัสเซีย
“ตามที่ผมได้กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ที่ผ่านมายูเครนไม่ทำข้อตกลงสันติภาพมินส์ก (Minsk Protocol) ยังใช้นโยบายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ กดขี่เหยียดหยามเชื้อชาติ แล้วก็มีคนตายรายวันตามชายแดน มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน
“ทางนี้รัสเซียก็เคยเจรจากับฝรั่งเศสกับเยอรมนีในเรื่องดังกล่าวว่า ช่วยไปคุยกับยูเครนให้ปฏิบัติตามข้อตกลง เยอรมนีก็ไปพูด แต่ก็ไม่ได้มีอิทธิพลอะไรต่อยูเครน เพราะยูเครนถือว่า สหรัฐฯ หนุนหลังเขา เขาจะทำหรือไม่ทำก็ได้ แล้วเขาก็ไม่ให้ความร่วมมือกับข้อตกลงดังกล่าว
“แต่เมื่อรัสเซียรับรองเอกราชให้ภูมิภาคดอนบัส ก็หมายความว่า ข้อตกลงสันติภาพมินส์ก (Minsk Protocol) ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว คราวนี้พอไปสู่ขั้นตอนที่ 2 จะมีการลดความเป็นชาตินิยมในยูเครน หมายความว่า ยูเครนต้องมีรัฐบาลที่เป็นกลางเข้ามาบริหารประเทศ ต้องเป็นรัฐบาลของทุกคน ไม่ใช่รัฐบาลที่นิยมคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
“และผมคิดว่าวิกฤตรัสเซีย - ยูเครน น่าจะจบลงไม่เกินหนึ่งเดือน ผลที่ตามมาก็คือ 1. อาจจะแบ่งเป็น 2 ประเทศ ยูเครนตะวันตก กับยูเครนตะวันออก 2. นาโต้คงหยุดอยู่แค่โปแลนด์ และโรมาเนีย และจะไม่เข้ามายุ่งกับประเทศเพื่อนบ้านรัสเซีย และ 3. การค้าขายต่างๆ ก็จะฟื้นตัวขึ้นภายใน 1 - 2 ปี เพราะว่าประเทศตะวันตกนั้นอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีรัสเซีย เพราะรัสเซียเป็นผู้สนับสนุนพลังงานรายใหญ่ ทั้งหมดนี้คือแนวโน้มครับ”