svasdssvasds

กษิต ภิรมย์ เปิดปมแค้น 30 ปี นาโต้ VS รัสเซีย ก่อนระเบิดในสมรภูมิยูเครน

กษิต ภิรมย์ เปิดปมแค้น 30 ปี นาโต้ VS รัสเซีย ก่อนระเบิดในสมรภูมิยูเครน

กษิต ภิรมย์ อดีต รมว.กระทรวงต่างประเทศ และอดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เปิดปมแค้น 30 ปี นาโต้ VS รัสเซีย ต้นตอวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน

สถานการณ์ในยูเครนยังคงเป็นสิ่งที่ทั่วโลกกังวล หลังจากรัสเซียเปิดปฏิบัติการทางการทหารในภูมิภาคดอนบัส (โดเนตสก์และลูฮันสก์) โดยมีการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานทางการทหารของยูเครน โดย กษิต ภิรมย์ อดีต รมว.กระทรวงต่างประเทศ และอดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย ได้ให้สัมภาษณ์ถึงวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ในรายการคมชัดลึก วราวิทย์ ฉิมมณี ดำเนินรายการ โดยเจาะลึกไปถึงต้นตอของปัญหา ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากองค์การที่ชื่อว่า นาโต้ (NATO) ดังต่อไปนี้

นาโต้ กับข้อตกลงก่อนโซเวียตล่มสลาย

กษิต ภิรมย์ ได้เล่าถึงข้อตกลงระหว่างผู้นำ 2 ประเทศ ก่อนที่สหภาพโซเวียตจะล่มสลาย ไว้ว่า

“ย้อนไปประมาณ 30 ปี เมื่อสหภาพโซเวียต ในยุคมิคาอิล กอร์บาชอฟ เริ่มปรับตัวเปิดกว้าง ยอมปรับโครงสร้าง วางพื้นฐานความเป็นสังคมประชาธิปไตยในสหภาพโซเวียต แล้วก็ปลดปล่อยประเทศในอาณัติทั้งหลาย โดยเฉพาะประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ให้เป็นอิสระเสรี

“แล้วก็มาถึงจุดที่กำแพงเบอร์ลินได้ถูกทุบทำลายในปี 1989 เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการรวมตัวกันระหว่างเยอรมนีตะวันตก (ประเทศประชาธิปไตย) กับเยอรมนีตะวันออก (ประเทศคอมมิวนิสต์) ซึ่งกอร์บาชอฟ กับ จอร์จ บุช (บุชผู้พ่อ) ได้มีการเจรจากันว่า โซเวียตจะไม่ขัดขวางการรวมประเทศเยอรมนีเป็นหนึ่งเดียว และจะไม่ขัดขวางเยอรมนี (ที่รวมชาติแล้ว) ในการเป็นสมาชิกนาโต้

“แต่มีเงื่อนไขว่า องค์การนาโต้จะต้องไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับประเทศยุโรปตะวันออก ยุโรปกลาง และต้องไม่มีประเทศสมาชิกนาโต้อยู่ติดพรมแดนของโซเวียต ซึ่งต่อมาก็คือประเทศรัสเซีย เพราะนั่นคือความมั่นคงและความอยู่รอดของรัสเซีย อันนี้เป็นสิ่งที่รัสเซียยอมไม่ได้

"เพราะตัวตนจริงๆ ขององค์การนาโต้ก็คือ ทหารอเมริกัน ดังนั้นรัสเซียจึงไม่ยอมให้กองทหารอเมริกันมายืนอยู่หน้าประตูบ้านของตัวเองเป็นอันขาด

ธงนาโต้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ซึ่งบุชผู้พ่อได้ให้คำมั่นสัญญาและรักษาไว้ แต่พอบิล คลินตัน เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็เริ่มบิดพลิ้วสัญญา แล้วให้นาโต้รับ 3 ประเทศบอติก คือ เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย เข้าเป็นสมาชิก หลังจากนั้นความบาดหมางระหว่างรัสเซีย สหรัฐฯ และยุโรป ก็เกิดขึ้น เพราะหมดซึ่งความไว้เนื้อเชื่อใจกัน”

นาโต้ ฉวยโอกาสรับสมาชิกเพิ่ม ในช่วงที่รัสเซียอ่อนแอ

หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย นาโต้ก็ผิดข้อตกลงที่เคยให้ไว้ ด้วยการเปิดรับประเทศที่มีพรมแดนติดกับรัสเซียเข้าเป็นสมาชิก แต่ช่วงแรกๆ รัสเซียก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะประเทศชาติกำลังอ่อนแอเป็นอย่างมาก

“หลังจากการล่มสลายของโซเวียต บอริส เยลต์ซิน ขึ้นเป็นประธานาธิบดีรัสเซีย ก็เกิดความอ่อนเปลี้ยทั้งประเทศ รัสเซียกลายเป็นรัฐที่ค่อนข้างล้มเหลว มีการโกงกิน ขโมยทรัพยากรของประเทศอย่างมหาศาล เป็นช่วงเวลาประมาณ 10 ปี

“แล้วในช่วงที่รัสเซียอ่อนแอ องค์การนาโต้ก็ได้ขยายตัว นอกจากรับประเทศในกลุ่มบอติกที่มีพรมแดนติดรัสเซียแล้ว ยังรับ โปแลนด์ ฮังการี เชคโกสโลวาเกีย 3 อดีตประเทศคอมมิวนิสต์ เข้าเป็นสมาชิก ในขณะเดียวกันคู่แฝดของนาโต้ ก็คือสหภาพยุโรป ก็ขยายจำนวนสมาชิก

“ทำให้ฝ่ายรัสเซียรู้สึกว่าถูกคุกคาม แต่เยลต์ซินเป็นประธานาธิบดีที่อ่อนแอ ขาดภาวะผู้นำ เมื่อเยลต์ซินลงจากตำแหน่งแล้วเลือก วลาดิเมียร์ ปูติน มาเป็นผู้นำต่อจากตน ปูตินก็สามารถปฏิรูปประเทศ จัดบ้านเมืองให้เข้ารูปเข้ารอย ป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน ป้องกันการขโมยทรัพยากร แล้วก็เพิ่มรายได้ ทำให้รัสเซียเริ่มตั้งไข่ได้

“มันก็เหมือนกับหมีขาวที่เจ็บป่วย หลังจากสามารถยืนหยัดขึ้นมาได้ ก็จะไม่ยอมให้ฝ่ายสหรัฐฯ กับชาติตะวันตกบีบคั้น เข้ามาประชิดชายแดนอีกต่อไป ซึ่งปูตินบอกกับสหรัฐฯ และยุโรปตะวันตกมาโดยตลอด แต่ไม่มีใครฟัง แล้วต่อมานาโต้ก็ยังไปเชิญจอร์เจียกับยูเครนให้เข้าเป็นสมาชิกอีก

“ทำให้ปูตินจำเป็นต้องแสดงอิทธิฤทธิ์ กรีฑาทัพเข้าไปตบหัวของจอร์เจียจนอยู่หมัด แล้วก็ได้บอกกับยูเครนว่า จะเข้าเป็นสมาชิกของนาโต้ไม่ได้ เพราะว่ายูเครนจะกลายเป็นหอกข้างแคร่ หรือมีดปลายแหลม ที่จ่อทิ่มแทงคอหอยของรัสเซีย”

วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย

รัสเซียตอบโต้ ด้วยการสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ในยูเครน

หลังจากรัสเซียสามารถฟื้นฟูประเทศได้สำเร็จ ในยุคที่มี วลาดิเมียร์ ปูติน เป็นผู้นำ ก็ได้มีท่าทีที่ชัดเจนว่า จะไม่ยอมให้นาโต้ ผิดข้อตกลงที่เคยให้ไว้อีก  

“ก่อนหน้านี้ รัสเซียได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนกับยูเครน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป รวมถึงนาโต้ว่า อะไรคือสิ่งที่รัสเซียยอมไม่ได้ แต่ฝ่ายสหรัฐ ยุโรป ก็ยังพยายามผลักดันให้ยูเครนเข้ามาเป็นสมาชิกทั้งในองค์การนาโต้ และสหภาพยุโรป ปูตินก็ได้แสดงอิทธิฤทธิ์ ด้วยการสนับสนุนคนยูเครนเชื้อสายรัสเซียในภูมิภาคดอนบัส (โดเนตสก์และลูฮันสก์) ให้เริ่มมีปฏิกิริยาต่อต้าน แบ่งแยกดินแดน

“ประเด็นก็คือว่า เมื่อรัสเซียเอาจริง เพราะเขาบอกแล้วว่า ยอมไม่ได้ ก็อยู่ที่ว่ายูเครน สหรัฐฯ นาโต้ สหภาพยุโรป จะต้องไปคิดกันว่า มันทางออกอื่นๆ บ้างไหม หรือจะให้ยูเครนเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว ที่จะทำให้เกิดสงครามยุโรป แล้วโลกปั่นป่วนกันไปทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องราคาน้ำมัน เพราะว่ารัสเซียเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ทั้งทางด้านก๊าซและน้ำมัน”

โวโลดีมีร์ เซเลนสกี้ ประธานาธิบดียูเครน

รัสเซียต้องตอบโต้ยูเครน เพื่อความอยู่รอดของประเทศ

กษิต ภิรมย์ แสดงความคิดเห็นว่า รัสเซียมีความจำเป็นที่ต้องแสดงท่าทีแข็งกร้าวและตอบโต้อย่างรุนแรงในกรณีของยูเครน เพราะหากปล่อยให้ประเทศที่อยู่ติดพรมแดน ได้เข้าเป็นสมาชิกนาโต้อีก ก็ไม่ต่างอะไรกับการปล่อยให้ทหารอเมริกันมายืนอยู่หน้าประตูบ้าน  

“ในแง่ของปูตินและคนรัสเซียมองว่า ทางฝ่ายสหรัฐฯ ยุโรปตะวันตก ทั้งที่เป็นสมาชิกองค์การนาโต้ และสหภาพยูโรป ได้บิดพลิ้วคำมั่นสัญญาเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว รัสเซียจึงยอมไม่ได้ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นปูติน หรือประธานาธิบดีรัสเซียคนต่อๆ ไป ก็จะมีท่าทีเดียวกัน ที่จะปล่อยให้ให้ยูเครนเป็นสมาชิกนาโต้ แล้วมาทิ่มมาแทงที่หัวใจรัสเซียนั้นไม่ได้

“แล้วถ้าฝ่ายยูเครนยังไม่ยอมทบทวนท่าที รวมถึงฝ่ายสหรัฐฯ และยุโรปตะวันตก รัสเซียก็เหมือนถูกต้อนเข้าไปสู่มุมอับ ก็จะต้องแสดงอิทธิฤทธิ์ ดังนั้นถ้าไม่ล้มเลิกความคิดที่จะนำยูเครนเข้าไปอยู่ในอ้อมกอดขององค์การนาโต้ หรือสหภาพยุโรป ก็ต้องพร้อมตั้งรับการตอบโต้อย่างรุนแรงจากรัสเซีย

“เพราะเขาคิดว่านี่เป็นความอยู่รอดของเขา ซึ่งเสถียรภาพความอยู่รอดของรัสเซียก็คือ ต้องไม่มีองค์การนาโต้ที่มีทหารอเมริกันมายืนอยู่ที่หน้าประตูบ้านของรัสเซีย

“ดังนั้น ฝ่ายอเมริกา ฝ่ายยุโรป จะต้องใส่ใจความกังวลนี้ แล้วรัสเซียก็ได้แสดงให้เห็นแล้วในกรณีของจอร์เจีย หรือในกรณีของภูมิภาคตะวันออกของยูเครน

“และตอนนี้รัสเซียก็ทำให้เห็นแล้วว่า ถ้ายังพูดกันไม่รู้เรื่อง มีการบิดพลิ้วสัญญาที่วิงวอนขอร้องกันมาตลอด ว่าอย่าขยายจำนวนสมาชิกในนาโต้ เพราะนาโต้เป็นผลที่สืบทอดมาจากยุคสงครามเย็น เมื่อสงครามเย็นจบไปแล้ว สนธิสัญญาวอร์ซอของโซเวียต จบไปแล้ว แต่นาโต้ก็ยังอยู่ ทั้งที่คอมมิวนิสต์ไม่มีให้สู้รบแล้ว นาโต้จึงเปรียบเสมือนสิ่งโบร่ำโบราณจากอดีต ที่ยังมีการนำมาใช้เพื่อคุกคามรัสเซียในทุกวันนี้  

“ดังนั้น จากมุมมองของรัสเซีย มันไม่มีตรรกะใดๆ ที่ต้องเก็บนาโต้ไว้ เพราะนาโต้เป็นเรื่องของสงครามเย็น เมื่อสงครามเย็นหมดไปแล้ว นาโต้ก็ควรยุติบทบาทไป”

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

สิ่งที่สหรัฐฯ และพันธมิตรควรทำในเวลานี้คืออะไร ?

สุดท้าย กษิต ภิรมย์ ได้ย้ำและสรุปว่า ความขัดแย้งในวันนี้ ระหว่างรัสเซียกับยูเครน เป็นผลสืบเนื่องมาจากการไม่รักษาสัญญาที่สหรัฐฯ เคยให้ไว้ในอดีต และความขัดแย้งนี้จะคงดำรงอยู่ต่อไป ตราบใดที่นาโต้ยังคงถูกใช้เป็นเครื่องมือของทหารของสหรัฐฯ และโลกตะวันตก  

“แทนที่จะให้มีการเผชิญหน้าด้วยการขยายตัวของนาโต้ หรือสหภาพยุโรปนั้น สิ่งที่สำคัญที่สหรัฐฯ และยุโรปควรทำก็คือ การหาเวทีร่วมมือและกฎกติกาใหม่ๆ ระหว่างยุโรปตะวันตก สหรัฐฯ แคนาดา รัสเซีย เอเชียกลาง อดีตประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของโซเวียต อาจรวมไปถึงอาเซอร์ไบจาน อัลบาเนีย จอร์เจีย ที่ควรหาแนวทางร่วมมือกัน ไม่ใช่การเพิ่มกำลังหรือขยายสมาชิกขององค์การนาโต้ ซี่งเป็นองค์การทางการทหาร ที่มีสหรัฐฯ เป็นพี่เบิ้ม อันนี้เราต้องมองในมุมของหัวอกรัสเซียด้วย

“อย่างในอดีต กรณี นีกีตา ครุชชอฟ ผู้นำโซเวียต ได้ส่งจรวดไปตั้งไว้ที่คิวบา (ประเทศคอมมิวนิวต์ พันธมิตรของโซเวียต และอยู่ใกล้สหรัฐฯ)  ซึ่งเป็นสิทธิของคิวบา แต่จอห์น เอฟ. เคนเนดี ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บอกว่า การที่มีจรวดติดขีปนาวุธ ติดตั้งในคิวบา เป็นการคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ ต่อมาก็มีการถอนออกไป ไม่อย่างนั้นก็อาจจะเกิดสงครานิวเคลียร์

“แล้ววันนี้ที่สหรัฐฯ ยุโรปตะวันตก ประณามรัสเซียว่า การปฏิบัติการทางการทหารในยูเครน ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ก็ต้องถามว่า ต้นทางมันคืออะไร ซึ่งต้นทางก็คือข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียต ระหว่างบุชผู้พ่อ กับกอร์บาชอฟ ว่าจะไม่มีการขยายนาโต้ หลังเยอรมนีรวมประเทศและยังเป็นสมาชิกนาโต้อยู่

หลังจากนั้นก็มีข้อตกลงคู่ขนาน ที่ต้องมีการลดอาวุธ ทั้งของโซเวียต และของสหรัฐฯ ที่ตั้งอยูในยุโรป ซึ่งช่วงนั้นก็ได้มีการลดอาวุธกันไปตามข้อตกลง แต่เมื่อสหรัฐฯ และยุโรป ยังไม่ยอมจบ ยังสนับสนุนให้มีการขยายตัวขององค์การนาโต้ และสหภาพยุโรป สิ่งที่ตามมาก็คือสถานการณ์ที่ร้อนระอุในวันนี้

ที่มา : รายการคมชัดลึก วิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน

related